โครงการนำร่อง พ่นเอนไซม์ย่อยตอซังข้าวหลังเก็บเกี่ยว ช่วยเป็นปุ๋ยให้ดินและลดปัญหาฝุ่นพิษในอินเดีย

เกษตรกรในรัฐหรยาณาและรัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย เข้าร่วมโครงการนำร่องการใช้เอนไซม์ช่วยย่อยตอซังข้าวหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นทางเลือกแทนการเผาซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศอย่างรุนแรงในประเทศ

ทุกปีหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวในพื้นที่ราบทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย พื้นที่นาข้าวกว่า 14.5 ล้านไร่จะถูกเผาเพื่อกำจัดตอซัง ซึ่งเป็นวิธีที่รวดเร็วและถูกที่สุดในการเตรียมพื้นที่สำหรับทำการปลูกรอบถัดไป แต่นำมาซึ่งปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรง คุณภาพดินลดลง และการสูญเสียสัตว์และพืชในดินที่เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูก ทั้งนี้ ข้อมูลจากนักอุตุนิยมวิทยาของรัฐบาลอินเดียยังระบุว่า การเผาในช่วงฤดูเพาะปลูกเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศในเมืองเดลีสัดส่วนสูงถึง 45%

โครงการ Crop Residue Management (CRM)โดย nurture.farm เพื่อ #EndTheBurn

โครงการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร (Crop Residue Management: CRM) โดยใช้เอ็นไซม์ย่อยนี้ ดำเนินการโดย ‘nurture.farm‘ ดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับเกษตรกรรมยั่งยืนที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นได้ไม่นาน โดยเป็นโครงการแก้ปัญหาการเผาตอซังข้าว (#EndTheBurn) ที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ในช่วงนำร่องที่ผ่านมามีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากกว่า 25,000 ราย และได้ทำการกระจายเครื่องพ่นเอ็นไซม์ไปยังพื้นที่เกษตรแล้วกว่า 1 ล้านไร่ใน 23 อำเภอทั่วประเทศ

เอ็นไซม์ที่ใช้ในโครงการนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยสถาบันวิจัยการเกษตรประจำประเทศอินเดีย ซึ่งสามารถย่อยสลายตอซังให้กลายเป็นปุ๋ยได้ภายในเวลาน้อยกว่าหนึ่งเดือน ทำให้ดินมีคุณภาพดีเหมาะแก่การเพาะปลูกยิ่งขึ้น ซึ่งตัวสารเอ็นไซม์และอุปกรณ์เครื่องพ่นที่จำเป็นนี้จะถูกส่งไปยังพื้นที่ตรวจพบว่ามีการเผา โดยค้นหาจากภาพถ่ายดาวเทียมของ European Space Agency ซึ่ง nurture.farm พบว่ามีการเผาตอซังในพื้นที่เกษตรในประเทศมากกว่า 70,000 ครั้งในฤดูเก็บเกี่ยวปีนี้

ผลลัพธ์จากโครงการนำร่องในปีที่ผ่านมาช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาตอซังไปได้มากกว่า 1 ล้านตัน ซึ่งทาง nurture.farm มีแผนการขยายโครงการในปีหน้าให้ครอบคลุมพื้นที่ให้ได้ประมาณ 5 ล้านไร่ หรือคิดเป็นประมาณ 40% ของพื้นที่นาที่ถูกเผาทุกปี

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอินเดียกำหนดให้มีการเสียค่าปรับหากเกษตรกรทำการเผาตอซังในพื้นที่เพาะปลูก แต่เนื่องจากไม่มีการนำเสนอทางเลือกอื่นในการกำจัดเศษเหลือจากการทำการเกษตรเหล่านี้ในเวลาที่รวดเร็วพอ การคาดโทษทางกฎหมายจึงไม่มีประสิทธิภาพในการยุติการเผาได้ และทำให้เกิดการประท้วงของชาวน จนรัฐบาลต้องยกเลิกการลงโทษนี้ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
- (2.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดาเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาคุณภาพของดินและที่ดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนยั่งยืน
- (11.6) ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรรวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศและการจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ

ที่มา : Burning issue: how enzymes could end India’s problem with stubble (The Guardian)

Last Updated on ธันวาคม 13, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น