SDG Updates | Climate Change และผลกระทบต่อผู้หญิงในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

ผู้หญิง ถือเป็นประชากรกลุ่มเปราะบางเพราะไม่ว่าเมื่อเกิดวิกฤตใดก็มักเป็นกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบมากกว่าและมีความสามารถในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่น้อยกว่า ในแง่ของสุขภาวะนั้น ด้วยลักษณะทางสรีระวิทยาที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน การดูแลร่างกายอาจมีเงื่อนไขยุ่งยากกว่า ในกลุ่มผู้หญิงทั่วไป การเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจเมื่อมีรอบเดือน (menstruation) ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และโดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ จึงทำให้ผู้หญิงกลายเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านปัญหาสุขภาวะโดยตรงจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นในปัจจุบัน ทั้งการขาดแคลนน้ำสะอาด ขาดการเข้าถึงด้านสุขอนามัย ยิ่งยากขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 ที่จำเป็นต้องมีการจำกัดพื้นที่เพื่อป้องการแพร่ระบาด ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีปัญหาทางสุขภาพในมิติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นอีก อาทิ ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในเขตพื้นที่ทุรกันดารของทวีปอัฟริกา ที่ต้องทำหน้าที่จัดหาน้ำเพื่อดื่มกินและใช้ในชีวิตประจำวันให้ครัวเรือน การต้องใช้เวลาเดินเท้าไกลและยาวนานขึ้นเพื่อหาแหล่งน้ำและขนน้ำ ไม่เพียงแต่เกิดผลกระทบปัญหาทางกายเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง (violence) อีกด้วย

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ถือเป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติมากที่สุดในโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นนั้นเกินกว่าผลกระทบที่เคยคาดการณ์ไว้ จากรายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี ค.ศ. 2030-2050 มีการคาดคะเนว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นนั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาซึ่งผลกระทบที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยจะเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตราว 250,000 ราย ต่อปี และยังเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้แก่ ความเครียดจากความร้อน (heat stress) และการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme of weather events) ในขณะเดียวกัน โลกเองก็กำลังเผชิญกับการรับมือต่อวิกฤตการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งกระทบในหลายมิติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากทั้งวิกฤตภูมิอากาศและวิกฤตด้านสาธารณสุขได้ส่งผลรุนแรงอย่างทวีคูณต่อทั้งสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วโลก

นอกจากนี้ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นยังเป็นปัจจัยกระตุ้นของพาหะนำโรคต่าง ๆ ได้อย่างดี อาทิ มาลาเรีย และไข้เลือดออก ซึ่งปัจจุบันโรคที่กล่าวมานั้นถือเป็นโรคที่คร่าชีวิตประชากรจำนวนมากและมีสถิติการแพร่กระจายไปทั่วโลกสูง และอุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้เอง ยังนำไปสู่การเพิ่มขึ้นความเสี่ยงด้านสุขภาพซึ่งไม่เพียงแต่โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคระบบทางเดินหายใจ ยังรวมถึงผลกระทบต่อสุขภาวะทางอ้อม เช่น ภาวะทุพโภชนาการ ภาวะขาดสารอาหาร และท้องร่วง ที่เกิดจากวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมถอยลง อาทิ อาหารไม่ปลอดภัย ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ และความแห้งแล้ง ยังนำไปสู่ภัยพิบัติที่ทำลายห่วงโซ่อุปทานยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกด้วย

ข้อมูลผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แสดงให้เห็นว่าประชากรแต่ละกลุ่มมีการเปิดรับและใกล้ชิดกับเชื้อโควิด-19 ที่แตกต่างไปขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ อาทิ สถานที่อยู่อาศัย รายได้ และเพศ โรคระบาดครั้งนี้ไม่ใช่แค่กระทบวิกฤตสุขภาพ แต่ยังก่อวิกฤตด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย โดยเพศหญิงมักจะได้รับผลกระทบมากกว่าและรุนแรงกว่าเพศชายในแง่ของการจ้างงาน เพราะแรงงานหญิงส่วนใหญ่อยู่ในภาคเศรษฐกิจที่เสียหายหนัก อาทิ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรม ร้านอาหาร และการค้าส่งและค้าปลีก อีกทั้งส่วนใหญ่ยังเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น แม่บ้าน รับจ้างรายวัน พนักงานเก็บขยะ คนขายของตามท้องถนน ทำให้ต้องแบกรับภาระด้านสุขภาพยด้านการดำรงชีวิตอื่น ๆ ด้วยตนเอง อาทิ ค่ารักษาพยาบาล และ การประกันสุขภาพ เมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้นจึงมีความเสี่ยงต่อการว่างงานและสูญเสียรายได้ที่สูงกว่า ยังไม่รวมถึงว่าความต้องการของตลาดแรงงานที่มีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปเพราะการล็อกดาวน์ ทำให้บางอาชีพที่ทำงานทางไกลไม่ได้ เช่น งานบริการ ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย

นอกจากนี้…

“สิทธิผู้หญิงในชนบทถูกจำกัดจากบรรทัดฐานทางสังคม และต้องเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน รวมไปถึงการขาดแคลนด้านโภชนาการ ในบางครัวเรือนที่ไม่มีเชื้อเพลิงสะอาดเพื่อหุงต้ม ผู้หญิงจำเป็นต้องทนทุกข์จากมลพิษทางอากาศซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดโรคทางเดินหายใจระยะยาวตามมา นอกจากจะกระทบต่อการดำรงชีพของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงแล้ว ยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้โลกเองกำลังรับมือกับผลกระทบและความท้าทายจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนเองจึงควรตระหนักถึงการแก้โจทย์ปัญหา เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาสุขภาพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม”


คำแนะนำเพื่อสร้างการความยืดหยุ่นฟื้นตัวไวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate resilience) ในโลกหลังการฟื้นฟูจากสถานการณ์โควิด-19 โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ร่วมกับองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women)

การดำเนินงานภาครัฐ

  1. ทบทวนแนวคิดเรื่องความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ควรนำมาเป็นวาระที่สำคัญสูงสุดของรัฐบาลและประสานเชื่อมโยงกับนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชาติที่ต้องบูรณาการ (intregation) เรื่องเพศเข้าไปด้วย และกระบวนการมีส่วนร่วมที่กำหนดร่วมกันในระดับประเทศ
  2. สนับสนุนระบบการป้องกันและการเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีการเชื่อมโยง บนความเข้าใจถึงความเสี่ยง (risk – Informed) และคำนึงถึงมิติเพศภาวะ (gender-responsive) : ข้อมูลความเสี่ยง การป้องกัน และเตรียมความพร้อมมีความสำคัญต่อความเข้าใจถึงภัยคุกคามและความเสี่ยงที่ซับซ้อนที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งควรหาสาเหตุและจัดการกับปัจจัยขับเคลื่อนความเสี่ยง ความเสี่ยงแทรก และความเครียดต่าง ๆ ผ่านเลนส์เรื่องเพศสภาวะ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินงานร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ เพื่อแบ่งปันข้อมูลและทรัพยากรตลอดจนรับรองคำมั่นสัญญาเชิงรุกเพื่อลดความเสี่ยงในระยะยาว
  3. สนับสนุนระบบพหุภาคีและมุมมองระดับโลก : ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นสิ่งจำเป็น และมุมมองระดับโลกสามารถช่วยสร้างโมเมนตัมสำหรับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศได้อย่างครอบคลุมและเป็นธรรม และคำนึงถึงช่องว่างระหว่างเพศของการมีตัวแทนผู้หญิงในทุกระดับของการตัดสินใจเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
  4. ประชาชนเป็นผู้ที่มีลำดับความสำคัญสูงที่สุดในการฟื้นฟู : ประชาชน คือ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งในแง่ความเปราะบาง ความไม่เท่าเทียม และความไม่มั่นคง รัฐบาลควรเร่งดำเนินการมาตรการตอบสนองต่อผลกระทบของโรคระบาด โดยตั้งเป้าไปที่การปกป้องผู้หญิงในภาคส่วนที่ความอ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศ (climate sensitive) และให้การสนับสนุนการดำเนินงานของผู้หญิงในภาคเกษตรให้นำแนวทางปฏิบัติที่เท่าทันสภาพภูมิอากาศ (climate-smart practices) มาประยุกต์ใช้
  5. เชื่อมั่นในผู้เชี่ยวชาญและสร้างกลยุทธ์ทางเทคนิคอยู่เสมอ : รับฟังนักวิทยาศาสตร์และที่ปรึกษาฯ ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจบนหลักฐาน (evidence-based) ในทางที่ถูกต้อง และรัฐบาลควรหาวิธีกระตุ้นความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดนวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหา
  6. สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมและเชิงวัฒนธรรม : การเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านพฤติกรรม วัฒนธรรม และความคิดใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ผ่านทั้งการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและการปฏิบัติ การสื่อสาร และการศึกษา เพื่อให้แก้ไขบรรทัดฐานทางสังคมที่เลือกปฏิบัติได้

การดำเนินงานภาคเอกชน ประชาสังคม และอื่น ๆ

  1. สถาบันการเงิน : การว่างงานและรายได้ที่เกิดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดกับผู้หญิงที่ทำงานที่ได้รวิายได้รายวัน และในภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบหนัก ควรแก้ไขด้วยการขยายเวลาพักชำระหนี้ การให้เงินกู้ เงินช่วยเหลืออุตสาหกรรมการเงิน การลดต้นทุนดอกเบี้ย และการสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อให้ดำเนินการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรจนจบฤดูกาลได้
  2. ภาคประชาสังคม : ควรทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนระดับรากหญ้า เพื่อทำความเข้าใจถึงความท้าทายเฉพาะของพื้นที่ และให้การสนับสนุนในการบรรเทาผลกระทบของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งมีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนแก่ชุมชนแออัดในเมืองและพื้นที่ห่างไกลที่มักมีผู้หญิงอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่
  3. ภาคเอกชน : ธุรกิจที่มีอยู่ควรเน้นกลยุทธ์ฟื้นวิกฤตเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดที่ไม่มองข้ามเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ธุรกิจชุมชนควรให้ความสำคัญด้านการพัฒนาแผนธุรกิจด้วยนวัตกรรมที่ต้องครอบคลุม (inclusive) และคำนึงถึงมิติภูมิอากาศ (climate-sensitive) ซึ่งองค์กรทั่วโลกสามารถเข้าร่วมเป็นพันธมิตรการดำเนินการร่วมกับบน COVID Action Platform ของ World Economic Forum ซึ่งเป็นพื้นที่ความร่วมมือระดับโลกระหว่างรัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศ และธุรกิจชุมชน รวมทั้งควรส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและเสริมพลังด้านเศรษฐกิจให้ผู้หญิงในการทำงาน
  4. องค์กรพหุภาคีและทวิภาคี : มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ในช่วงวิกฤตสถานการณ์ เช่น โควิด-19 การสนับสนุนพหุภาคีเป็นสิ่งสำคัญในการประกันว่ารัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ มีความรู้และความสามารถในการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ครอบคลุม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันยังคงเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นฟูหลังโควิด-19 เพื่อไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

บทส่งท้าย

ภาพฉายด้านบนช่วยสะท้อนมุมมองการเชื่อมโยงที่ครอบคลุมมิติด้านสุขภาพ สตรีเพศ วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของโลกในปัจจุบัน ทำให้เห็นภาพของผลกระทบในทุกมิติว่ามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ด้วยเหตุนี้ ทุกภาคส่วนควรใช้โอกาสนี้เพื่อเรียนรู้การรับมือและปรับตัวต่อสถานการณ์โลกหลังโควิด-19 ที่จะแตกต่างไปจากเดิมมากในทุกแง่มุม ทั้งเศรษฐกิจ ชีวิตทางสังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงและความพยายามฟื้นฟุที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่อาจมีผลไม่มากก็น้อยที่ทำให้เรามีโอกาสที่จะหลีกเลี่ยงภัยพิบัติด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาว และสร้างโลกของเราขึ้นใหม่อย่างครอบคลุม ยุติธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ขอฝากข้อคิดไว้ว่า… “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลต่อสุขภาพของประชาชนที่ควรคำนึงถึงผลกระทบและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น การป้องกันและการรับมือเชิงรุกต่อการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน”


ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
- (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล และมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณะ
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
- (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ

นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงถึง
#SDG1 ขจัดความยากจน
- (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมระดับประเทศที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงฐาน การคุ้มครองทางสังคม โดยให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรยากจน และกลุ่มเปราะบางให้มากพอ 
- (1.5) สร้างภูมิต้านทานให้กับผู้ที่ยากจนและอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง รวมทั้งลดความเสี่ยงและความล่อแหลมต่อภาวะสภาพอากาศผันผวนรุนแรง การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ

อ้างอิง :

United Nations Environment Programme, Women for Climate-Resilient Societies, Gender and Climate Change in the Context of COVID-19, (United Nations, New York, 2022). [(accessed on 14 March 2022)]. Available online:

Last Updated on มีนาคม 18, 2022

Author

  • Warisara Jaruwanno

    ผู้ช่วยนักวิจัยประจำสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) - ผู้สร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ และขับเคลื่อนข้อเท็จจริง ผ่านการส่งต่อข้อมูลความยั่งยืนด้านสุขภาพ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น