โลกอาจไม่บรรลุ #SDG2 ภายในปี 2573 หากพืชผลที่ผลิตไม่ถูกใช้เป็นอาหารเพื่อเลี้ยงปากท้องประชาชน

การผลิตอาหารเพื่อทำเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuels) การเปลี่ยนพืชผลให้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ หรือการนำพืชผลไปแปรรูปก่อนจะนำไปใช้สอยทางอุตสาหกรรม เป็นตัวอย่างสะท้อนการแข่งขันผลิตอาหารที่มีเป้าหมายเพื่อการใช้ประโยชน์ในด้านอื่น มากกว่าการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงปากท้องหรือขจัดความหิวโหยของผู้คนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

การศึกษา “Crop harvests for direct food use insufficient to meet the UN’s food security goal” เผยแพร่ใน nature.com ประเมินสถานการณ์ดังกล่าวว่า จากห้วงปี 2507 –  2511 ที่โลกสามารถผลิตพืชผลเพื่อเลี้ยงปากท้องของคนโดยตรง 51% แต่ภายในปี 2573 นี้ ตัวเลขที่ว่าอาจลดลงเหลือเพียง 29% เท่านั้นที่จะเป็นอาหารของประชาชนภายในประเทศผู้ผลิตนั้นเอง และเป็นไปได้ว่า โลกอาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย “ขจัดความหิวโหย” และ “ความมั่นคงทางอาหาร” ตาม #SDG2 ได้ภายในปี 2573

การศึกษาดังกล่าวตั้งโจทย์จากการที่ปัจจุบันยังขาดข้อมูลรายละเอียดด้านรูปแบบและแนวโน้มของการใช้ประโยชน์จากพืชผลที่ถูกเก็บเกี่ยว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เองที่มีผลต่อการพัฒนานโยบายให้ยึดโยงกับท้องถิ่น กล่าวคือ เป็นข้อมูลที่จะนำไปสู่การสร้างสมดุลระหว่างความต้องการด้านความมั่นคงทางอาหารในระดับโลกกับการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมลง

โดยได้เลือกศึกษาพืชผลชนิดหลัก 10 ชนิด ได้แก่ ข้าวบาร์เลย์ มันสําปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน เรพซีด (คาโนลา) ข้าว ข้าวฟ่าง ถั่วเหลือง อ้อยและข้าวสาลี ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วมีสัดส่วนมากกว่า 80% ของปริมาณแคลอรีที่ได้จากการเก็บเกี่ยวพืชผลทั้งหมด และระหว่างทศวรรษที่ 2510 และ 2553 ยังพบว่า พืชผลข้างต้นมีปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 200% ด้วย

ขณะเดียวกัน การศึกษานี้ยังได้นำเสนอแผนที่แสดงภาพพื้นที่ที่มีการเก็บเกี่ยวพืชผลทั่วโลก โดยจำแนกเป็นการผลิตเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ใน 7 ประเภท ไม่ว่าจะเป็นพืชผลเพื่อเป็นอาหารของประชากรโลก อาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ พืชผลเพื่อนำไปผ่านการแปรรูป พืชผลสำหรับการส่งออก พืชผลสำหรับใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม การใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ รวมถึงพืชผลที่สูญเสียไป ในห้วง 50 ปี (2507 – 2556) โดยพบว่าพื้นที่เพาะปลูกสำหรับการผลิตเพื่อเป็นอาหารของประชากรโลกนั้น มีจำนวนน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ตาม 6 ประเภทที่เหลือ สถานการณ์นี้จุดประกายคำถามสำคัญที่มีต่อการขจัดภาวะทุพโภชนาการให้ได้ภายในปี 2573 โดยเฉพาะหากในบางบริบทพื้นที่ประสบกับความท้าทายอื่นนอกเหนือจากภาวะทุพโภชนาการด้วย อย่างเช่นการเติบโตของประชากรที่มีเพิ่มขึ้น

โดยที่การเพิ่มขึ้นของปริมาณพืชผลดังกล่าวยังเป็นภาพสะท้อนการเติบโตของชนชั้นกลางในสังคมโลกที่มีรายได้สูงขึ้น และต้องการบริโภคอาหารแปรรูปเพื่อความสะดวกสบาย ต้องการอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืช (plant-based) เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ เป็นต้น

ภาพแสดงเทรนด์การใช้ประโยชน์จากการผลิตพืชผล สีที่ค่อย ๆ เปลี่ยนจากสีน้ำเงินและสีเขียวไปเป็นสีแดงและสีม่วง สะท้อนว่ามีการใช้พืชผลไปในกระบวนการแปรรูปอาหาร ส่งออก และการใช้สอยทางอุตสาหกรรมมากขึ้น
ภาพจาก: A shrinking fraction of the world’s major crops goes to feed the hungry, with more used for nonfood purposes (The Conversation)

ตัวอย่างของปัญหาการผลิตพืชผลเพื่อใช้เป็นอาหาร มีอย่างเช่นที่การศึกษานี้วิเคราะห์สถานการณ์รูปแบบและแนวโน้มใน 48 ประเทศแล้วพบว่า ประเทศส่วนใหญ่ในแถบแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา (sub-Sahara Africa) และประเทศเอเชียบางประเภท อาทิ อัฟกานิสถาน ปากีสถาน รวมถึงประเทศในแถบแคริบเบียน อาทิ เฮติ ไม่สามารถผลิตอาหารในประเทศได้เพียงพอเพื่อเลี้ยงปากท้องของประชากรของตน

อย่างไรก็ดี การศึกษาได้ย้ำว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” ไม่ได้มีเพียงมิติของการผลิตอาหารมากขึ้นให้มีเพียงพอสำหรับทุกคนเท่านั้น แต่ยังจะต้องคำนึงถึงหลักประกันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้ ได้ใช้ประโยชน์จากอาหาร และมีเสถียรภาพด้านอาหาร กล่าวคือ ไม่มีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหารนั่นเอง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
– (2.2) ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ ภายในปี 2573 รวมถึงการบรรลุเป้าประสงค์ที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะแคระแกร็นและผอมแห้งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเน้นความต้องการโภชนาการของหญิงวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ภายในปี 2568

แหล่งที่มา:
A shrinking fraction of the world’s major crops goes to feed the hungry, with more used for nonfood purposes (The Conversation)
Crop harvests for direct food use insufficient to meet the UN’s food security goal (Nature)

Last Updated on พฤษภาคม 18, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น