ชาวประมงพื้นบ้านล่องเรือจากปัตตานีถึง กทม. ติด #ทวงน้ำพริกปลาทู เรียกร้องทุกภาคส่วนหยุดจับ-ซื้อ-ขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน

เป็นเวลากว่า 11 วันที่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านนำโดยสมาคมรักษ์ทะเลไทยและสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยจาก 23 จังหวัด รวมตัวจัดกิจกรรมล่องเรือจากปัตตานีถึงกรุงเทพฯ เรียกร้องให้องค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการประมง เร่งบังคับใช้กฎหมายประมงมาตรา 57 “ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง” พร้อมกันนี้ได้เคลื่อนไหว ชวนภาคประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์น้ำวัยอ่อนมากขึ้น

“นี่เป็นความตื่นตัวของชาวประมงพื้นบ้านจากหลายพื้นที่ที่กำลังเผชิญปัญหาการจับสัตว์น้ำได้น้อยลง ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่ออาชีพ ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล เนื่องจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการจับสัตว์ทะเลแบบตัดวงจรชีวิต คือจับตัวที่ยังไม่ทันโตและไม่ทันได้วางไข่ในปริมาณปีละหลายแสนตัน” 

ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ระบุถึงสาเหตุสำคัญของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ และได้เผยต่อด้วยว่า “เรามายื่นหนังสือหลายครั้งแล้ว ไม่ต่ำกว่า 7 ปี ผ่านรัฐมนตรีมาก็หลายคน แต่ยังไม่เคยมีกฎหมายลูกเพื่อควบคุมการจับสัตว์น้ำตัวอ่อนออกมา”

สำหรับองค์กรภาครัฐที่กลุ่มชาวประมงได้เดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องในครั้งนี้มีด้วยกัน 3 องค์กรหลัก คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการประมงแห่งชาติ และรัฐสภา ปรากฏว่าทั้ง 3 องค์กรมีปฏิกิริยาต่อข้อเรียกร้องไปในทิศทางเดียวกัน คือตอบรับว่าจะดำเนินการปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาทำตามข้อเรียกร้องให้เร็วที่สุด โดย ธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้นิ่งดูดายต่อประเด็นข้างต้นและอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายลูกเกี่ยวกับสัตว์น้ำวัยอ่อน เนื่องจากจะกระทบกับหลายส่วน จึงต้องใช้เวลาศึกษา 

ขณะที่ประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสั่งการให้กรมประมงเร่งพิจารณาข้อเรียกร้อง จะไม่ปล่อยให้ทิ้งช้าหรือเกิดช่องว่าง พร้อมทั้งติดต่อกับอธิบดีกรมประมงนัดหมายให้กลุ่มชาวประมงได้เข้าพบและแสดงความเห็นในวันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน 2565 นี้

ส่วนท่าทีจากฝั่งรัฐสภา  ราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา ผู้เเทนรัฐสภาเข้ารับฟังความเห็นจากกลุ่มชาวประมงในวันนี้  (8 มิถุนายน 2565) ได้ระบุว่า “ขอบคุณสำหรับข้อมูลและคำแนะนำจากพื้นที่ การประกาศกฎหมายเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร เราจะดำเนินการให้ดีที่สุดตามกระบวนการของรัฐสภา”

โดยสรุป ความเคลื่อนไหวของชาวประมงพื้นบ้านครั้งนี้ มีการยื่นข้อเสนอและประเด็นที่สำคัญ ได้แก่

  1. เรียกร้องให้คณะกรรมการประมงแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.ก. การประมง ปี 2558 เพื่อยุติการตัดวงจรชีวิตสัตว์ทะเล และให้กำหนดโควตาที่เป็นธรรมสำหรับการจับสัตว์น้ำ
  2. ยื่นคำขาดต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ออกระเบียบกำหนดขนาดสัตว์น้ำที่ห้ามนำขึ้นเรือภายใน 30 วัน หากไม่สำเร็จจะดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาล 
  3. เชิญชวนคนไทยร่วมลงชื่อในแคมเปญ “ก่อนปลาทูจะหมดไทย ขอเร่งบังคับใช้กฎหมายเลิกจับสัตว์น้ำวัยอ่อน” ผ่านทาง Change.org/SeafoodIsOurFood 
  4. ยื่นข้อเรียกร้องและรายชื่อจากแคมเปญ “ก่อนปลาทูจะหมดไทย ขอเร่งบังคับใช้กฎหมายเลิกจับสัตว์น้ำวัยอ่อน” ต่อรัฐสภา เพื่อขอให้เร่งตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายการประมงอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวข้างต้นยิ่งสะท้อนความสำคัญของวันมหาสมุทรโลก (8 มิถุนายน) และยังเป็นความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนไทยในเดือนที่ UN ยกให้เป็นเดือนแห่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Goal of the Month) เป้าหมายที่ 14 ทรัพยากรทางทะเล อีกด้วย

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
Global Tuna Alliance ย้ำความร่วมมือและวิสัยทัศน์ที่รับผิดชอบร่วมกันจะทำให้ทะเลไม่บอบช้ำและมีทูน่าพอสำหรับโลก
– Parties to the Nauru Agreement (PNA) – ข้อตกลงของแปดประเทศเกาะในแปซิฟิกเพื่อการประมงทูน่าที่ยั่งยืน
– SDG Recommends | เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเรากับทะเลและมหาสมุทรมากขึ้นผ่าน Ocean Literacy
อินโดนีเซียประเมินประชากรสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ในเขตประมงทั่วประเทศ เพื่อวางแผนการประมงและอนุรักษ์สัตว์น้ำได้ยั่งยืนขึ้น
– จังหวัดปาปัวตะวันตกคงความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลได้ดีขึ้น เพราะการกำหนดพื้นที่คุ้มครองและบทบาทนำของชุมชนรอบชายฝั่ง 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.4) ภายในปี 2563 ให้กำกับในเรื่องการเก็บเกี่ยวและยุติการทำประมงเกินขีดจำกัด การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และแนวปฏิบัติด้านการประมงที่เป็นไปในทางทำลายอย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจะฟื้นฟูมวลสัตว์น้ำ (fish stock) ในเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดในระดับที่สามารถไปถึงระดับผลผลิตการประมงสูงสุดที่ยั่งยืน (maximum sustainable yield) ตามคุณลักษณะทางชีววิทยาของสัตว์น้ำเหล่านั้น
– (14.6) ภายในปี 2563 ห้ามการอุดหนุนการประมงบางประเภทซึ่งก่อทำให้เกิดศักยภาพการทำประมงที่มากเกินไป ขจัดการอุดหนุนที่มีส่วนทำให้เกิดการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และระงับการริเริ่มการอุดหนุนในลักษณะดังกล่าว ตระหนักว่าการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดควรเป็นส่วนสำคัญในการเจรจาการอุดหนุนการประมงขององค์การการค้าโลก
– (14.b) จัดให้ชาวประมงพื้นบ้านรายเล็กเข้าถึงทรัพยากรทางทะเลและตลาด

แหล่งที่มา:
ยื่นรัฐสภา “อุตฯอาหารทะเลไทยวันนี้ ทำลายล้างเกินไปแล้ว รัฐบาลต้องควบคุม”(GreenNews)
ตัวแทนสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยราว 40 คนเดินเท้าจากสวนสันติชัยปราการไปกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (FB Page สมาคมรักษ์ทะเลไทย)
– สัมภาษณ์ ปิยะ เทศเเย้ม (7 มิถุนายน 2565) โดย อติรุจ ดือเระ

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on มิถุนายน 8, 2022

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น