UNICEF ย้ำ “คลื่นความร้อน” จะเป็นภัยคุกคามที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพ แก่เด็กกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก ภายในปี 2593

“คลื่นความร้อน” (heat wave) เป็นอันตรายที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับประชากรในหลายประเทศ ข้อมูลใหม่จากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund : UNICEF) ระบุว่าคลื่นความร้อนนั้น จะส่งผลกระทบต่อเด็กจำนวนมากกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก ภายในปี 2593 

ปัจจุบัน เด็กและเยาวชนอย่างน้อย 5 ร้อยล้านคนกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนที่สูงขึ้นมากกว่าปกติหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติตั้งข้อสังเกตว่าเด็กและเยาวชน อาจกลายเป็นประชากรกลุ่มแรกที่ต้องเผชิญภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ยังประมาณการว่าช่วงกลางศตวรรษนี้ เด็กและเยาวชนกว่าสองพันล้านคนจะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน “บ่อยขึ้น ยาวนานขึ้น และรุนแรงขึ้น” สอดคล้องกับข้อมูลจากรายงาน The Coldest Year of the Rest of Their Lives: Protecting Children from the Escalating Impacts of Heatwaves ของยูนิเซฟที่ระบุว่า เด็กต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ เมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์สภาพอากาศแบบสุดขั้ว  (extreme weather) เพราะเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่เด็กมีความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้น้อยกว่า ดังนั้น ยิ่งเด็กได้รับคลื่นความร้อนมากเท่าใด โอกาสที่จะก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพก็มากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular diseases) 

มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2593 เด็กเกือบทุกคนบนโลก ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 2 พันล้านคน จะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่บ่อยขึ้น และไม่ว่าโลกจะอยู่ในสถานการณ์ที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับต่ำ (low greenhouse gas emission scenario) หรือไม่ อุณหภูมิก็จะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.7 องศาเซลเซียส หรือ ถ้าสถานการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับสูงมาก (high greenhouse gas emission scenario) อุณหภูมิก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 2.4 องศาเซลเซียส

ยูนิเซฟ ยังเน้นย้ำต่อไปว่า การปกป้องเด็กจากผลกระทบของคลื่นความร้อนที่สูงขึ้น ควรเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกในทุกประเทศ โดยเรียกร้องให้ทุกประเทศให้ความสำคัญกับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมความร้อน และร่วมกันปกป้องชีวิตของประชากรโลกอย่างเร่งด่วน ซึ่งจากข้อมูลยังเผยต่อว่า เด็กในซีกโลกเหนือ ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรงยิ่งขึ้น โดยภายในปี 2593 เด็กเกือบครึ่งหนึ่งในแอฟริกาและเอเชีย จะต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 35 องศาเซลเซียส (95 องศาฟาเรนไฮต์)

วาเนสซา นาคาเต้ นักกิจกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทูตสันถวไมตรียูนิเซฟ กล่าวว่า “ยิ่งเด็กต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนบ่อยครั้ง ยาวนานขึ้น และรุนแรงมากขึ้นเพียงใด ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความปลอดภัย โภชนาการ การศึกษา การเข้าถึงน้ำ และการดำรงชีวิตในอนาคตมากขึ้นเท่านั้น”

กล่าวได้ว่า “วิกฤติสภาพภูมิอากาศ” ก็คือ “วิกฤติสิทธิเด็ก” สองเรื่องนี้มิอาจแยกออกจากกันได้ เพราะจากความเลวร้ายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เด็กกลับกลายเป็นผู้รับผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เช่นนั้นแล้ว รัฐบาลทุกประเทศต้องร่วมกันใช้ความพยายามมากยิ่งขึ้นในการปกป้องอนาคตของเด็กและเยาวชนทุกคน เพื่อหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ให้ทำลายชีวิตและอนาคตของเด็กทุกคนบนโลกมากไปกว่านี้

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ทำความรู้จัก “Extreme Weather” สภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่เปลี่ยนท้องฟ้ากรุงเทพฯ ดำมืด ปัญหาท้าทายที่โลกต้องเร่งจัดการ
รายงาน IPCC ฉบับใหม่เผยข้อมูลผลกระทบและความเสี่ยงจาก Climate Change ต่อปัญหาสุขภาพปัจจุบัน
รายงาน IPCC ล่าสุด เตือนว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จะทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วรุนแรงที่ “ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์”
‘Earth Warriors’ หลักสูตรทางเลือกสอนเด็กเล็กในประเทศที่ร่ำรวย ให้รู้รักความยั่งยืน ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศ
SDG Updates | หลักสูตรการศึกษาถึงเวลาต้องเปลี่ยน – เมื่อการต่อสู้กับ Climate Change เริ่มต้นที่ห้องเรียน 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ

แหล่งที่มา: 
Heatwaves to impact almost every child on earth by 2050: UNICEF report | | 1UN News 
The coldest year of the rest of their lives | UNICEF 
วิกฤติ สภาพภูมิอากาศ คือวิกฤติสิทธิเด็ก | UNICEF 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น