FAO มอบรางวัล Agricola Medal แก่ผู้นำเอธิโอเปีย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์ความเหมาะสม เหตุชาวเอธิโอเปียอีกหลายล้านคนยังคงอดอยาก

วันที่ 28 มกราคม 2567 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN Food and Agriculture Organization: FAO) มอบเหรียญรางวัล Agricola Medal แก่ Abiy Ahmed นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของเอธิโอเปีย โดยเหรียญรางวัลดังกล่าวนับเป็นรางวัลสูงสุดของ FAO ที่มอบแก่ผู้ที่มีความเป็นผู้นำและมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการผลิตอาหารที่ยั่งยืน ความมั่นคงด้านอาหารของโลก และความร่วมมือระหว่างประเทศ 

Abiy Ahmed โพสต์ข้อความผ่าน X ภายหลังได้รับรางวัลดังกล่าวว่า “การมุ่งเน้นไปที่พืชผลเชิงอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงและให้ผลลัพธ์ที่น่าหวัง และเรามุ่งมั่นที่จะเส้นทางอธิปไตยทางอาหารของเรา” ขณะที่ Taye Atskesellasie ที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศของ Abiy Ahmed และอดีตผู้แทนถาวรของเอธิโอเปียประจำองค์การสหประชาชาติ ชื่นชม FAO ที่ยอมรับความเป็นผู้นำของ Abiy ในการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรกรรมว่า “แน่นอนว่าเมื่อชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น ประเทศก็ดีขึ้นเช่นกัน”

อย่างไรก็ดี การมอบรางวัลดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากวิจารณ์ตามมาอย่างหนักต่อ FAO เนื่องจากเป็นความย้อนแย้งในการยกย่องผู้นำของประเทศที่กำลังเผชิญความขาดแคลนอย่างเลวร้าย และประชาชนหลายร้อยคนอดตายจากความหิวโหย โดยรัฐบาลเอธิโอเปียรายงานว่าประชาชนของตนกว่า 6.6 ล้านคน ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารอย่างเร่งด่วน และรัฐบาลกำลังร้องขอเงินกว่า 9.2 พันล้านเบอร์เอธิโอเปีย ขณะที่ทางตอนเหนือของทิเกรย์และอัมฮารา มีรายงานว่าประชาชนเกือบ 400 คน และเด็ก 25 คน ต้องอดอาหารตายภายในหนึ่งเดือน 

Mehari Tadele Maru ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านการปกครองและศาสตราจารย์ European University Institute แสดงความเห็นผ่าน X ต่อกรณีการมอบรางวัลดังกล่าวว่า “การเย้ยหยันต่อระเบียบระหว่างประเทศได้ไปถึงระดับใหม่แล้วในขณะนี้กับ FAO ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาเกษตรกร โดยการมอบรางวัลแก่ผู้นำแห่งกรุงแอดดิสอาบาบา พื้นที่ซึ่งเกษตรกรหลายพันคน โดยเฉพาะในทิเกรย์และอัมฮารา กำลังจะตายด้วยความอดยาก”

ขณะที่ Human Rights Watch แสดงท่าทีต่อเรื่องนี้ด้วยการเปิดเผยว่า “ในช่วงความขัดแย้งทางทหารทางตอนเหนือของเอธิโอเปีย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 องค์การสหประชาชาติได้เสนอให้เอธิโอเปียเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่ผู้คนเสี่ยงต่อภาวะอดยาก โดยความเสี่ยงดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากผลข้างเคียงของสงคราม หากแต่เป็นความจงใจในการนำความอดยากมาใช้เป็นยุทธวิธีในการสู้รบภายใต้การนำของรัฐบาล Abiy Ahmed” 

นอกจากนี้ Human Rights Watch ยังระบุอีกว่ารัฐบาลและกองกำลังของเอธิโอเปียได้ปิดล้อมและโจมตีระบบอาหารของเมืองทิเกรย์ เมื่อเดือนกันยายน 2565 โดยใช้ยุทธศาสตร์ความอดยากเป็นอาวุธสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เหล่านี้จึงเป็นเหตุผลให้เกิดความกังขาถึงความเหมาะสมในการมอบรางวัลต่อนายกรัฐมนตรีคนดังกล่าว 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
 ‘ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง’ ในประเทศที่เกิดวิกฤต ประสบกับภาวะทุพโภชนาการ เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 25
 ILO ชี้ วิกฤติซ้อนวิกฤติแช่แข็งความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
 เมื่อความหิวโหยจุดชนวนเหตุขัดแย้ง: Timeline ความล่มสลายทางเศรษฐกิจของประเทศศรีลังกา
 SDGs Report 2022 ชี้ปีนี้ 1 ใน 10 ของประชากรโลกตกอยู่ในภาวะหิวโหย พร้อมเตือน 679 ล้านชีวิตจะไม่มีไฟฟ้าใช้ในปี 2573
รายงาน UN ระบุ ความหิวโหยในแอฟริกาทวีคูณในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 และอาจคงอยู่แม้โรคระบาดจบแล้ว
SDG Updates | โลกไม่อาจยุติความหิวโหยได้ หากไม่สามารถยุติความขัดแย้ง และสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ยุติความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการ และเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปีพ.ศ. 2573
– (2.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาคุณภาพของดินและที่ดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง 
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

แหล่งที่มา 
News: PM Abiy’s FAO award sparks mixed reactions, draws criticism to the UN agency (Addis Standard Publications)
UN Food Award for Ethiopia’s Premier Ignores Wartime Abuses (Human Rights Watch)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น