รายงาน IPCC ฉบับใหม่เผยข้อมูลผลกระทบและความเสี่ยงจาก Climate Change ต่อปัญหาสุขภาพปัจจุบัน

รายงาน ‘Climate Change 2022: Impacts, Adaptation and Vulnerability’ เปิดเผยข้อมูลการการประเมินผลกระทบ การปรับตัว ความเปราะบางและความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแง่ของความเสียหาย อันตราย ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และความสูญเสียที่ไม่ใช่ทางเศรษฐกิจ ในช่วงเวลาจากปัจจุบันนี้ไปจนถึงปี 2100 ได้ประมาณการว่าประชากร 3.3 – 3.6 พันล้านคนในปัจจุบันมีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ด้อยพัฒนา

รายงานฉบับนี้จัดทำโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจากกว่า 42 ประเทศ เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เห็นข้อมูลการประเมินผลกระทบและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้จากการสังเกตและการคาดการณ์ (observed and projected impacts and risks) ตลอดจนการปรับตัว (adaptation) ต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านที่ไม่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ เช่น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การบริโภค/ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั่งยืน ความเสื่อมโทรมของที่ดินและระบบนิเวศ การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ และการระบาดใหญ่ เป็นต้น รวมไปถึงการบูรณาการมาตรการด้านการปรับตัวและเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย (adaptation measures and enabling conditions) เพื่อให้เกิดการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนและสร้างการพัฒนาที่ทนทานพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate-resilient development) ที่ต้องการการดำเนินการร่วมกันจากทั้งรัฐบาล ชุมชน และภาคเอกชน

อ่านเพิ่มเติม
SDG Vocab | 44 – Climate Change Mitigation – การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หากมองในมิติของการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (good health and well-being) รายงานนี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่าสถานการณ์วิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบทางลบต่อปัญหาสุขภาพใน 4 ประเด็นสำคัญด้วยกัน ได้แก่ (1) โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (2) ความร้อน ภาวะทุพโภชนาการและอื่น ๆ (3) สุขภาพจิต และ (4) การพลัดถิ่น

| ตัวอย่างผลกระทบและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ใน 4 ประเด็น

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (infectious diseases)

  • การเกิดเชื้อโรคอุบัติใหม่ทางอาหารและน้ำ การขยายเผ่าสืบพันธุ์ของพาหะนำโรคใหม่ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และคนสู่สัตว์ เช่น เชื้อแบคทีเรีย Vibrio spp.
  • ฝนที่ตกมากขึ้นและน้ำท่วมอาจทำให้แหล่งน้ำดื่มปนเปื้อน ส่งผลให้เกิดอหิวาตกโรค และการติดเชื้อทางเดินอาหารของประชาชนทั่วโลก และอันตรายจากสารพิษไซยาโนของแบคทีเรียน้ำจืดที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้น

ความร้อน ภาวะทุพโภชนาการ และอื่น ๆ (heat, malnutrition, and other)

  • อากาศที่ร้อนขึ้นทำให้เกิดไฟป่าบ่อยครั้งขึ้น การสัมผัสกับควันไฟป่า ฝุ่นละอองในบรรยากาศ และสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ ส่งผลเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น
  • อากาศร้อนจัดในทุกภูมิภาคส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตและเจ็บป่วย
  • อากาศร้อนจัดส่งผลต่อประสิทธิภาพของการทำงาน
  • อากาศที่ร้อนจัดอาจทำให้ผลผลิตทางเกษตรเสียหาย นำมาสู่การขาดแคลนอาหาร และการขาดสารอาหาร

สุขภาพจิต (mental health)

  • ปัญหาสุขภาพจิตจากการประสบภัยจากสภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) และภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

การพลัดถิ่น (displacement)

  • ประชากรในบางพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซ้ำซากและรุนแรงขึ้นทุกขณะอาจจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐาน เช่น ประชากรที่อยู่พื้นที่ชายฝั่ง หรือในพื้นที่ที่แห้งแล้งมากจนไม่สามารถเพาะปลูกได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ ยังไม่รวมถึงว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพกายของประชาชนแล้ว การเกิดขึ้นของภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย อัคคีภัย วาตภัย ที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้นในหลายพื้นที่ ยังส่งผลให้การให้บริการด้านสุขภาพต้องหยุดชะงัก เพิ่มความเสี่ยงและความเปราะบางต่อการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนอีกทอดหนึ่ง

รายงาน Climate Change 2022: Impacts, Adaptation and Vulnerability เป็นส่วนหนี่งของ ‘The Sixth Assessment Report‘ หรือ AR6 โดยเป็นผลผลิตของ Working Group 2
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ รายงาน AR6 โดย Working Group 1
SDG Updates | Climate Change ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ – สิ่งที่รัฐต้องตระหนักจากรายงาน IPCC ล่าสุด
รายงาน IPCC ล่าสุด เตือนว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จะทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วรุนแรงที่ “ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์”

#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และ โรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี 2573
- (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลง หนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
- (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการ ป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีน จำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
- (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมี อันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ

Last Updated on มีนาคม 24, 2022

Author

  • Warisara Jaruwanno

    ผู้ช่วยนักวิจัยประจำสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) - ผู้สร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ และขับเคลื่อนข้อเท็จจริง ผ่านการส่งต่อข้อมูลความยั่งยืนด้านสุขภาพ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น