ปริมาณก๊าซเรือนกระจกสัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไร ชวนหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘ดร. วาสินี วรรณศิริ’

ชวนอ่านงานวิจัย “โครงการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ประโยชน์ที่ดินเชิงพื้นที่ระดับจังหวัด” โดย ดร. วาสินี วรรณศิริ สาขาภูมิศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)

การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อาทิ การทำการเกษตร การทำเหมืองแร่ การทำอุตสาหกรรม หรือการสร้างที่อยู่อาศัย กำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากบางกิจกรรมส่งผลให้เกิดการก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ อันเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ที่ผ่านมาองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้พยายามพัฒนาและส่งเสริมการจัดทำและรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด เพื่อนำไปสู่การจัดทำแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 โดยใช้ข้อมูลกิจกรรมจากรายงานสถิติข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินระดับจังหวัดรายปี อย่างไรก็ดียังไม่ครอบคลุมทุกประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินตามการจำแนกประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินในคู่มือ GPC (Global Protocol for Community-Scale Greenhouse Gas Emission Inventories) และ IPCC (IPCC Guidelines for National Greenhouse Gas Inventories) และไม่สามารถแสดงถึงพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินระหว่างสองช่วงเวลา รวมถึงสถิติข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัด

เพื่อช่วยให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกสามารถนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามและวิเคราะห์การใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างครอบคลุมและทันเวลา ดร. วาสินี จึงดำเนินการวิจัยข้างต้น โดยมี วัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 

  1. เพื่อพัฒนาและจัดทำชุดข้อมูลการใช้และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเชิงพื้นที่
  2. เพื่อพัฒนาและจัดทำชุดข้อมูลก๊าซเรือนกระจกจากการใช้และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเชิงพื้นที่

จึงนับว่าเป็นงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายที่ 15 ระบบนิเวศบนบก

ดร. วาสินี ดำเนินการศึกษาด้วย วิธีการศึกษาที่หลากหลาย ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลแผนที่ฐาน และการลงสำรวจภาคสนาม ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • การวางแผนการดำเนินวิจัย ประกอบด้วย 1) ศึกษาแนวทางในการประเมินก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการจัดทำข้อมูลก๊าซเรือนกระจกอ้างอิงคู่มือ IPCC 2) วิเคราะห์สภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินหลักในพื้นที่ศึกษา ให้สอดคล้องกับการจำแนกประเภท การใช้ประโยชน์ที่ดินตามคู่มือ IPCC และ GPC และ 3) วิเคราะห์คุณสมบัติของภาพถ่ายดาวเทียมให้สอดคล้องกับความละเอียดของการจำแนกประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยคำนึงถึงปัจจัยความละเอียดเชิงพื้นที่
  • การรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลแผนที่ฐาน และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ศึกษา
  • การลงสำรวจภาคสนาม โดยกำหนดกลุ่มตัวอย่างตามการแบ่งประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
  • การจัดทำชุดข้อมูล ได้แก่ 1) การแปลตีความ และตรวจสอบความถูกต้องของการแปลตีความประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยภาพถ่ายดาวเทียม 2) จัดทำชุดข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินตามช่วงเวลารายปี 3) วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินตามช่วงเวลารายปี
  • การจัดทำแนวทางและเทคนิควิธีการในการติดตาม เพื่อบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินรายปีด้วยภาพถ่ายดาวเทียม
  • คำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจก จากการใช้ประโยชน์ที่ดินและการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน
  • จัดทำชุดข้อมูลปริมาณการปล่อยและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ประโยชน์ที่ดินและการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเชิงช่วงเวลาในรูปแบบรายงาน ตาราง แผนภูมิ และแผนที่ 
  • สรุปผลการดำเนินงาน และความก้าวหน้าของการดำเนินงานโครงการร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

ผลการศึกษารายจังหวัด กรณีตัวอย่าง อาทิ

1. จังหวัดชัยนาท: พบว่า ในปี 2560 ปี 2561 และปี 2562 มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ 64,008.18 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี 138,635.12 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และ 142,678.93 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของจังหวัดชัยนาททั้งสามช่วงเวลา พื้นที่ป่าไม้คงเดิม มีการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด -10,655.95 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี – 10,993.01 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และ -11,159.06 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีตามลำดับ

2. จังหวัดราชบุรี: พบว่า ในปี 2560 และ ปี 2561 มีปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกสุทธิ -245,391.25 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี -35,494.64 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และปี 2562 มีปริมาณ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ 59,934.55 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ทั้งนี้ พบว่า การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของจังหวัดราชบุรีทั้งสามช่วงเวลา พื้นที่ป่าไม้คงเดิม มีการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด -501,214.66 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี-500,078.75 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี -500,232.15 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีตามลำดับ

ผลการศึกษาในภาพรวม พบว่า การปล่อยและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ที่ดินและการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินรายจังหวัด ระหว่างปี 2560 ปี 2561 และปี 2562 พบการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกสุทธิ ในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดเชียงใหม่ โดยพบว่า ทั้งสองจังหวัดมีการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในพื้นที่ป่าไม้ รองลงมาเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินที่กล่าวมานั้นเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดทำให้ภาพรวมของจังหวัดมีการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกสูง ทั้งนี้ยังมีจังหวัดราชบุรี ที่พบการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกสุทธิระหว่างปี 2560 และ ปี 2561 มีการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในพื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่เกษตรกรรมเช่นกัน ขณะที่จังหวัดชัยนาท พบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดทั้งสามช่วงปี พบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดใน พื้นที่ใด ๆ เปลี่ยนเป็น พื้นที่ทุ่งหญ้า ซึ่งอาจจะเคยเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ปล่อยรกร้างไม่มีการเพาะปลูก

นอกจากนี้ ดร. วาสินี ยังได้เสนอแนะว่าผลการศึกษาที่ได้รับจากการดำเนินโครงการในครั้งนี้ มีประโยชน์สำหรับใช้เป็นแนวทางในการประเมินสถานการณ์ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ประโยชน์ที่ดินระดับจังหวัดของประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนโครงการพัฒนาแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด และการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งที่นำความรู้ด้านเทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกลเข้ามาช่วยในการประเมิน ทำให้สามารถแสดงค่าของก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบของแผนที่รวมถึงระบุแหล่งปล่อยและแหล่งกักเก็บของก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย

กล่าวโดยสรุป งานวิจัยของ ดร. วาสินี ได้ศึกษา ค้นพบ ข้อมูลสถานการณ์ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ประโยชน์ที่ดินของจังหวัดที่ศึกษา ซึ่งนอกจากจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผนรับมือการปล่อยและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังจะช่วยให้หน่วยงาน ภาครัฐสามารถกำหนดนโยบายและวางแผนการดำเนินโครงการที่จะช่วยลดการปล่อยหรือเพิ่มการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพ นำข้อมูลไปใช้ได้จริง และมีความสอดคล้องกับลักษณะของแต่ละพื้นที่ต่อไป

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ ธีมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.a) สนับสุนนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1)  เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563

Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Last Updated on เมษายน 11, 2023

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น