เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ภาคอุตสาหกรรมจะพัฒนาระบบ ‘Big Data’ ได้อย่างไร ชวนค้นหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘ผศ. ดร.พาณุวงศ์ คัมภิรารักษ์ และคณะ’

ชวนอ่านงานวิจัย “พัฒนาระบบการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม” โดย ผศ. ดร.พาณุวงศ์ คัมภิรารักษ์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดำเนินงานผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)  

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่เป็นเสมือนคลังสมอง (Think Tank) ของกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) จึงมีภารกิจสำคัญในการจัดทำและผลักดันข้อเสนอแนะ นโยบาย แผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมอยู่ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทำให้การกำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมจำเป็นต้องรู้เท่าทันกับสถานการณ์หรือปัจจัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การติดตามความเคลื่อนไหวสถานการณ์ต่าง ๆ สามารถทำได้แบบ Real Time และเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายใหญ่มากขึ้น กลายเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ดังนั้น กระบวนการติดตามสถานการณ์อุตสาหกรรมและการจัดทำนโยบายจึงต้องปรับเปลี่ยนให้เท่าทันต่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการเสริมศักยภาพการทำงาน รวมถึงใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีในระบบมาบูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงานภายในของกระทรวงอุตสาหกรรม

จึงนับว่าเป็นงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผศ. ดร.พาณุวงศ์ คัมภิรารักษ์ และคณะ จากงานวิจัยข้างต้น มีวัตถุประสงค์ 4 ประการ ดังนี้

  1. เพื่อพัฒนาระบบ Big data ของภาคอุตสาหกรรม ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย
  2. เพื่อให้สามารถติดตาม คาดการณ์ความเคลื่อนไหว และเผยแพร่ข้อมูลปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการแข่งขันอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันต่อสถานการณ์
  3. เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการเชื่อมโยงต่าง ๆ มาทำการปรับปรุงรูปแบบให้เหมาะสมสำหรับการวิเคราะห์ประมวลผลเพื่อติดตามนโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม
  4. เพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและหน่วยงานภายใน อก. มีความรู้ทักษะด้านการใช้งานระบบ Big Data

จากงานวิจัยข้างต้น พบว่า การพัฒนาระบบการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาไปสู่การใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น ต้องอาศัยองค์ประกอบ 4 ส่วน ดังนี้ 

  • พัฒนาระบบการนำเข้าข้อมูลตามแบบ iSingleForm ทั้งแบบแจ้งข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานรายเดือน (ร.ง.8) และแบบแจ้งข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานรายปี (ร.ง.9) ตามที่กฎหมายกำหนดภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปประมวลผลเป็นค่าดัชนีอุตสาหกรรม รายงานผลิตภาพอุตสาหกรรม ภาวะอุตสาหกรรมรายเดือน ภาวะอุตสาหกรรมรายไตรมาสและรายปี เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ 
  • พัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กับหน่วยงานอื่น ๆ ภายในกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น ระบบ i-Industry ของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และฐานข้อมูลของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 
  • พัฒนาระบบการแสดงผลรายงานในรูปแบบรายงานดิจิทัล (digital report) ในการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการประเมินตนเองให้กับผู้ประกอบการ รายงานผลสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำหรับผู้บริหาร และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เป็นต้น 
  • พัฒนาระบบเชื่อมโยงการให้สิทธิประโยชน์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคาร ที่จะมอบให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมให้ข้อมูลตามแบบ iSingleForm อย่างต่อเนื่อง โครงการนี้ได้จัดการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรม ให้มีความรู้ทักษะด้านการใช้ระบบ big data ทั้งในระดับผู้ดูแลระบบและระดับผู้ใช้งานทั่วไป

กล่าวโดยสรุป งานวิจัยของ ผศ. ดร.พาณุวงศ์ และคณะจากการศึกษาและพัฒนาระบบ Single Form ได้มีการพัฒนาระบบเชื่อมโยงการให้สิทธิประโยชน์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วม หรือเลือกสิทธิประโยชน์ได้ง่ายขึ้นโดยผ่านระบบ Single Form และทางระบบจะดำเนินการส่งข้อมูลให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาข้อมูลที่ผู้ประกอบการได้ยืนยันเข้าร่วมแลอนุมัติสิทธิประโยชน์ต่อไป

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อน

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และปรับปรุงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.7) ส่งเสริมการพัฒนา การถ่ายทอด และการเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศกำลังพัฒนาภายใต้เงื่อนไขที่อำนวยประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งตามเงื่อนไขสิทธิพิเศษตามที่ตกลงร่วมกัน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น