แนวทางการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการใช้ ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ ของประเทศไทยเป็นอย่างไร  ชวนค้นหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘ผศ. ดร.ภูรี สิรสุนทร และคณะ’

ชวนอ่านงานวิจัย “ศึกษาและพัฒนาแนวทางในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles)” โดย ผศ.ดร.ภูรี สิรสุนทร คณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ดำเนินงานผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) 

‘ยานยนต์’ และ ‘พลังงาน’ ในภาคขนส่งเป็นสินค้าประกอบกัน นโยบายของภาครัฐไม่ว่าจะเป็นนโยบายอุตสาหกรรม นโยบายคมนาคม นโยบายพลังงานในภาคขนส่ง โดยเฉพาะโครงสร้างราคาพลังงานส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเลือกใช้ยานยนต์และการใช้พลังงานในภาคขนส่งทางถนนและการกำหนดทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนรวมทั้งภาคขนส่งและภาคพลังงานอีกด้วย 

รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน ได้ตระหนักถึงสถานการณ์การใช้พลังงานในภาคขนส่งของประเทศไทย จึงได้วางแผนอนุรักษ์พลังงานมาอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมให้เกิดการประหยัดการใช้พลังงาน ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่ส่งเสริมให้เกิดการประหยัดพลังงานในภาคขนส่ง คือ การนำ ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ (electric vehicle : EV) มาใช้แทนยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยการนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้เชื่อมต่อและประกอบกันกับการขนส่งในระบบราง จะช่วยลดการเกิดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอีกด้วย

เพื่อช่วยเพิ่มบทบาทของระบบรางในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ยานยนต์และพลังงานให้เพิ่มมากขึ้น ผศ. ดร.ภูรี และคณะ ได้ดำเนินการวิจัยงานวิจัยข้างต้น ภายใต้เงื่อนไขอย่างเหมาะสมในการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนต่อไปได้ในอนาคต ผ่านการเก็บข้อมูลในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 

จึงนับว่าเป็นงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ เป้าหมายที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน และเป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผลการศึกษางานวิจัยข้างต้น สามารถสรุปประเด็นสำคัญ ได้ดังนี้

  • โดยรวมแล้วประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่อระยะทางของยานยนต์ไฟฟ้าจะสูงกว่ายานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งในทางเทคนิคยานยนต์ไฟฟ้าสามารถนำมาใช้งานได้กับรถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล และรถโดยสารไม่ประจำทางที่มีระยะการใช้งานต่อวันไม่สูงมาก 
  • การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามเป้าหมายของ “แผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยปีพ.ศ. 2559 – 2579” ในสถานการณ์ที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนได้รับการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถในการผลิตอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งประเทศไทยสามารถผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในประเทศ ทดแทนการนำเข้า และส่งออกได้บางส่วน จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจมหภาค ปริมาณการผลิตรถยนต์ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ 
  • การพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าและการประหยัดเชื้อเพลิงแต่ละประเภทในภาคขนส่ง โดยใช้แบบจำลอง End use พบว่า หากมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามเป้าหมายของแผนการขับเคลื่อนฯ การบริโภคเชื้อเพลิงจะปรับเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาสู่ไฟฟ้าอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี  2564 ความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทต่าง ๆ ปรับตัวลดลง โดยที่ความต้องการเชื้อเพลิงเบนซินปรับตัวลดลงมากที่สุด มูลค่าความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลปรับตัวลดลง ขณะที่ มูลค่าความต้องการไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป 
  • ในภาพรวมแล้วประเทศสามารถประหยัดมูลค่าเชื้อเพลิง ในภาคการขนส่งลงได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างปี . 2575-2579 จะสามารถประหยัดได้เฉลี่ยถึงปีละ 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนการขับเคลื่อนฯ จำเป็นต้องอาศัยนโยบายและมาตรการของภาครัฐที่เหมาะสม อันได้แก่ 
    • มาตรการทางด้านอุปสงค์ ประกอบด้วย มาตรการสร้างเเรงจูงใจทางด้านการเงินเพื่อลดต้นทุนในการเป็นเจ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรการสร้างแรงจูงใจที่มิใช่ทางการเงินเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 
    • มาตรการทางด้านอุปทาน ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า มาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนภายในประเทศ และมาตรการการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนโดยให้หน่วยงานของรัฐเป็นจุดศูนย์กลาง และมาตรการที่จำเป็นอย่างยิ่ง คือ มาตรการด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าและการพัฒนาระบบการจ่ายไฟฟ้าให้พร้อม

นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าวพบข้อจำกัดที่น่าสนใจ คือ การนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานกับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนและรถจักรยานยนต์รับจ้าง เนื่องจากมีข้อจำกัดของระยะทางการใช้งานต่อการชาร์จแบตเตอรี่ ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องในหนึ่งวัน ในการใช้แบบจำลองแบบผสมผสานระหว่างโครงข่ายประสาทเทียมและฟัซซีโลจิกส์ พบว่า หากมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนการขับเคลื่อนฯ ในระหว่างปี  2559-2579 จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถประหยัดพลังงาน โดยเฉลี่ย 8,759,060 กิกะจูลต่อปี (2,433 กิกะวัตต์-ชั่วโมง) ซึ่งคิดเป็นปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ลดลง 349 ล้านลิตรต่อปี 

กล่าวโดยสรุป การนำแนวทางในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามาปรับให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้นั้น จำเป็นจะต้องอาศัยแผนการขับเคลื่อนและมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ใช้มีความมั่นใจในการหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและผู้ผลิตมีแรงจูงใจในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น พร้อมไปกับการช่วยลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้อีกด้วย

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ

Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น