องค์การอนามัยโลกระบุ 43 ประเทศ ดำเนินนโยบายแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการกำจัดไขมันทรานส์ แต่อีกกว่า 5 พันล้านคนทั่วโลกยังไม่ได้รับการป้องกัน

ปี 2566 เป็นปีเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ระบุให้ประเทศทั่วโลกกำจัดไขมันทรานส์ที่ผลิตในอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาข้อมูลจากรายงานที่ชื่อว่า “Countdown to 2023 WHO Report on global trans fat Elimination 2022” ซึ่งเป็นรายงานสถานะประจำปีเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนบรรลุเป้าหมายของการกำจัดไขมันทรานส์ในปี 2566 ที่เพิ่งเผยแพร่โดยองค์การอนามัยโลกร่วมกับ Resolve to Save Lives องค์กรระดับโลกที่ทำงานปกป้องการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด กลับพบว่าประชากรกว่า 5 พันล้านคนทั่วโลกยังคงไม่ได้รับการป้องกันจากไขมันทรานส์ที่เป็นอันตราย ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและการเสียชีวิต

องค์การอนามัยโลกเริ่มเรียกร้องให้ประเทศทั่วโลกบรรลุเป้าหมายกำจัดไขมันทรานส์ที่ผลิตในอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากไขมันทรานส์ ซึ่งมักพบในอาหารบรรจุภัณฑ์ ขนมอบ น้ำมันปรุงอาหาร และอาหารประเภทสเปรด นั้นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคหลอดเลือดหัวใจมากถึง 500,000 รายในแต่ละปีทั่วโลก โดยพบว่า 9 ใน 16 ประเทศที่มีสัดส่วนการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ มีสาเหตุสูงสุดมาจากการบริโภคไขมันทรานส์โดยที่ภาครัฐไม่มีนโยบายปฏิบัติที่ดีที่สุด ได้แก่ ออสเตรเลีย อาเซอร์ไบจาน ภูฏาน เอกวาดอร์ อียิปต์ อิหร่าน เนปาล ปากีสถาน และสาธารณรัฐเกาหลี

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีประเทศกว่า 43 ประเทศที่ได้ดำเนินนโยบายแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการจัดการกับไขมันทรานส์ในอาหาร ซึ่งประชากร 2.8 พันล้านคนทั่วโลกได้รับการป้องกันจากไขมันดังกล่าว โดยประเทศที่ดำเนินนโยบายข้างต้นส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยเฉพาะประเทศในอเมริกาและยุโรป ขณะที่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางจำนวนหลายประเทศก็กำลังดำเนินการหรือรับเอานโยบายดังกล่าวมาใช้ เช่น อาร์เจนตินา บังคลาเทศ อินเดีย ปารากวัย ฟิลิปปินส์ และยูเครน นอกจากนี้ นโยบายแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดยังได้รับการพิจารณาที่จะนำไปปรับใช้ในเม็กซิโก ไนจีเรีย และศรีลังกาในปี 2566 และนั่นจะทำให้ไนจีเรียกลายเป็นประเทศที่สองและมีประชากรมากที่สุดในแอฟริกาที่จะออกนโยบายกำจัดไขมันทรานส์ กระนั้นยังไม่มีประเทศที่มีรายได้ต่ำประเทศใดใช้นโยบายนี้

ดร. Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า “ไขมันทรานส์ไม่มีประโยชน์ใด ๆ และมีความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างมาก อีกทั้งก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลแก่ระบบสาธารณสุข และในทางตรงกันข้าม การกำจัดไขมันทรานส์นั้นคุ้มค่าและมีประโยชน์มหาศาลต่อสุขภาพ พูดง่ายๆ ก็คือไขมันทรานส์เป็นสารพิษที่สามารถคร่าชีวิตได้ จึงไม่ควรมีอยู่ในอาหาร ถึงเวลาแล้วที่จะต้องกำจัดให้หมดสิ้น”

ด้าน ดร.Tom Frieden ประธานและซีอีโอของ Resolve to Save Lives กล่าวว่า “ความก้าวหน้าในการกำจัดไขมันทรานส์มีความเสี่ยงที่จะหยุดชะงัก และไขมันทรานส์จะยังคงคร่าชีวิตผู้คน” และเสริมอีกว่า “ทุกรัฐบาลสามารถหยุดยั้งการเสียชีวิตที่ป้องกันได้ด้วยการออกนโยบายแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด ในขณะนี้ การคร่าชีวิตผู้คนเนื่องจากสาเหตุไขมันทรานส์นั้นนับวันจะยิ่งทวีคูณ รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อยุติโศกนาฏกรรมที่ป้องกันได้”

สำหรับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดที่ปรากฏในนโยบายการกำจัดไขมันทรานส์ตามเกณฑ์เฉพาะที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลกมี 2 แนวทางหลัก ได้แก่ 1) เพดานระดับชาติในการจำกัดปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ผลิตจากกระบวนการอุตสาหกรรมให้ไม่เกิน 2 กรัม ต่อไขมันรวม 100 กรัมในอาหารทุกชนิด และ 2) มาตรการบังคับเพื่อห้ามการผลิตหรือการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (partially hydrogenated oils: PHO) เป็นส่วนประกอบในอาหารทุกชนิด

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังสนับสนุนให้ผู้ผลิตอาหารกำจัดไขมันทรานส์ที่ผลิตในอุตสาหกรรมออกจากผลิตภัณฑ์ของตน ซึ่งสอดคล้องกับข้อผูกพันของกลุ่มนักธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มระหว่างประเทศ​(International Food and Beverage Alliance: IFBA) ขณะที่ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย (supplier) น้ำมันและไขมันรายใหญ่ถูกร้องขอให้กำจัดไขมันทรานส์ที่ผลิตในเชิงอุตสาหกรรมออกจากผลิตภัณฑ์ที่ขายให้กับผู้ผลิตอาหารทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย นับว่าเป็นหนึ่งในประเทศมีนโยบายแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการกำจัดไขมันทรานส์ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศ  ห้ามผลิต-นำเข้า-จำหน่าย “ไขมันทรานส์” ในประเทศไทย มาตั้งแต่มกราคม พ.ศ. 2562

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– โรคหัวใจและหลอดเลือด: โรคไม่ติดต่อที่การตายมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกอยู่ใน ‘เอเชีย’
– WHO/ILO เตือน คนทำงานเกิน 55 ชม./สัปดาห์ เสี่ยงตายจากโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจขาดเลือด
การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และใช้สารเสพติด เกี่ยวข้องกับ ‘โรคหัวใจก่อนวัยอันควร’ ของกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวในสหรัฐฯ
4 องค์การด้านสุขภาพเรียกร้องให้ลด “มลพิษทางอากาศ” ชี้เป็นหนึ่งตัวการโรคหัวใจและหลอดเลือด และความเสี่ยงต่อโควิด-19
ไทยเป็น 1 ใน 40 ประเทศในโลกที่มีแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด เพื่อกำจัด ‘ไขมันทรานส์’ ด้วยการห้ามผลิต-นำเข้า-จำหน่าย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา: Five billion people unprotected from trans fat leading to heart disease (WHO) 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย 

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น