ชาวบ้านในชุมชนมีความเห็นอย่างไรต่อนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ชวนสำรวจจากงานวิจัยของ ‘ผศ. ดร.ภุชงค์ เสนานุช’ เเละคณะ

ชวนอ่านงานวิจัย “การศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดย ผศ. ดร.ภุชงค์ เสนานุช ผศ.รณรงค์ จันใด และ ดร.กาญจนา รอดแก้ว คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนโดยสถาบันพระปกเกล้า และสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)

ปัจจุบันหลายประเทศได้มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก เพื่อให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและหลุดพ้นจากความยากจน โดยอาจใช้รูปแบบวิสาหกิจชุมชน (community enterprise) วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างผลกำไร หรือผลประกอบการเพื่อสังคม โดยใช้รูปแบบการทำงานของธุรกิจ เพื่อเชื่อมภาคธุรกิจและภาคสังคมเข้าด้วยกัน ทั้งนี้การพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานรากยังถือเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ขององค์การสหประชาชาติที่กำหนดเป้าหมายสำคัญประการหนึ่ง คือ การมุ่งขจัดความยากจนทุกรูปแบบ

ขณะที่ประเทศไทย มีการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ในหลายพื้นที่ซึ่งอาจดำเนินการในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน กลุ่มในชุมชน หรือรูปแบบอื่น ๆ อีกทั้งที่ผ่านมายังได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในหลายด้าน ทั้งด้านการการส่งเสริมอุตสาหกรรมในชุมชน การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน และการส่งเสริมเกษตรแปรรูปโดยชุมชน ด้านภาครัฐก็พยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากผ่านนโยบายและยุทธศาสตร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 4 ของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ซึ่งกำหนดประเด็นด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยกำหนดไว้ในประเด็นที่ 4.1 เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ ซึ่งจะต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก โดยเน้นระบบจัดการตนเองของเกษตรกร และมีกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงฐานทรัพยากร

เพื่อช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทยสามารถขับเคลื่อนผ่านนโยบายของภาครัฐและเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิต การตลาด การจำหน่ายสินค้า และบริการของวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ และชุมชนให้มีความเข้มแข็งและเติบโตยิ่งขึ้น ผศ. ดร.ภุชงค์ และคณะ จึงดำเนินการวิจัยข้างต้น โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 

  1. เพื่อศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  2. เพื่อเสนอแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านเกษตรแปรรูปใน ชุมชน ด้านการท่องเที่ยวชุมชน และด้านอุตสาหกรรมชุมชนที่เหมาะสม 

จึงนับว่าเป็นงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 5 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ เป้าหมายที่ 12 การผลิตเเละการบริโภคที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง

ผศ. ดร.ภุชงค์ และคณะ ดำเนินการศึกษาด้วยวิธีการศึกษา ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • พื้นที่ในการศึกษา ดำเนินการเก็บข้อมูลจากพื้นที่ 8 จังหวัดใน 4 ภูมิภาค โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากด้านเกษตรแปรรูปในชุมชน ด้านการท่องเที่ยวชุมชน และด้านอุตสาหกรรมชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 24 กลุ่ม
  • เครื่องมือการศึกษา ใช้ 2 แนวทาง ได้แก่ 1) แบบสอบถามด้านประชากรศาสตร์ ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอก ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายใน กระบวนการดำเนินงาน และผลผลิตจากการดำเนินงาน โดยใช้กับ 24 กลุ่ม ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน พิษณุโลก เลย ชัยภูมิ สระบุรีสุพรรณบุรี พัทลุง และนครศรีธรรมราช  2) แนวทางการสนทนากลุ่ม เพื่อถอดบทเรียนกลุ่มในงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้านอุตสาหกรรมชุมชน ด้านการท่องเที่ยวชุมชน ด้านเกษตรแปรรูปในชุมชน ใช้กับ 12 กลุ่ม ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน เลย สระบุรี และนครศรีธรรมราช 
  • การวิเคราะห์ข้อมูล แบ่งเป็น 1) การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถาม ใช้ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อคำนวนหาค่าสถิติต่าง ๆ เพื่อการนำเสนอข้อมูล 2) การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา (descriptive analysis) และ 3) การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงอนุมาน (inferential statistics analysis)

ผลการศึกษาโดยสรุปของงานวิจัยข้างต้น ได้แก่

1. การศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก พบว่า

  • ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกที่มีผลต่อความสำเร็จ ได้แก่ ด้านวัฒนธรรมชุมชน และด้านสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น กิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ การส่งเสริมนวัตกรรมชุมชน
  • ปัจจัยภายในที่มีผลต่อความสำเร็จ ได้แก่ ผู้นำชุมชน และทุนชุมชน
  • กระบวนการดำเนินงาน ได้แก่ การสื่อสารสร้างการรับรู้เพื่อความยั่งยืน การสร้างองค์ความรู้จากชุมชนและการส่งเสริมความรู้เพื่อประโยชน์ในการต่อยอด
  • ผลผลิตจากการดำเนินงาน ได้แก่ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน การมีรายได้เพิ่ม การกระจายรายได้ในชุมชน และคนในชุมชนมีความสุข

2. แนวทางการส่งเสริมการพัฒนา เศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีดังนี้

  • การส่งเสริมปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอก ได้แก่ นโยบายการพัฒนาและส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การส่งเสริมความรู้ และกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ 
  • การส่งเสริมปัจจัยภายในชุมชน ได้แก่ ผู้นำชุมชน ทุนชุมชน และการพัฒนาและต่อยอดกิจกรรม
  • การส่งเสริมกระบวนการดำเนินงาน ได้แก่ การสื่อสารสร้างการรับรู้อย่างยั่งยืน และการส่งเสริมองค์ความรู้เพื่อการใช้ประโยชน์
  • การกำหนดเป้าหมายผลผลิตจากการดำเนินการ ได้แก่ การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ส่งเสริมความสัมพันธ์ในชุมชน เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง และคนในชุมชนมีความสุข 
  • มาตรการสร้างแรงจูงใจ ได้แก่ การจัดหลักสูตรเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะ การส่งเสริมการรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่าย และการสร้างอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ชุมชน

นอกจากนี้ ผศ. ดร.ภุชงค์ และคณะ ยังให้ข้อเสนอแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการนำผลการศึกษาไปใช้ประโยชน์ ดังนี้

  • การพัฒนาศักยภาพชุมชน: ได้แก่ 1) การศึกษาความรู้และข้อมูลชุมชน ทุนชุมชน การวิเคราะห์ ปัญหาและความต้องการของชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถกำหนดแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจตรงกับความต้องการและทุนชุมชน 2) การเรียนรู้ของชุมชน เพื่อการรับรู้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เปิดโอกาสการมีส่วนร่วมเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลชุมชน 3) การถอดบทเรียนและการสรุปบทเรียนชุมชนเพื่อประเมินผลผลิตและผลลัพธ์ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน 4) การต่อยอดและการพัฒนากิจกรรมสู่การพัฒนานวัตกรรมชุมชน 
  • การเสริมพลังอำนาจชุมชน: เสริมสร้างให้ชุมชนมีพลังมีความสามารถ มีศักยภาพ มีความเชื่อมั่น ที่จะดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนของตนเองได้ โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ของชุมชน 
  • การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ชุมชน: เป็นการเรียนรู้ร่วมกันของคนที่มาทำกิจกรรมร่วมกัน มีลักษณะเป็นกระบวนการกลุ่ม มีการแลกเปลี่ยนความคิด ความเห็น การนำเอาประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อการแก้ปัญหาหรือการทำงานร่วมกัน จนเกิดเป็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของคนที่มีความสนใจร่วมกัน เพื่อให้คนในชุมชนสามารถนำความรู้ไปพัฒนาศักยภาพและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนได้ 
  • การส่งเสริมองค์ความรู้ชุมชน: องค์ความรู้ชุมชนจะก่อให้เกิดประโยชน์โดยผ่านกระบวนการจัดการความรู้ชุมชน เริ่มจากสืบค้นและรวบรวมองค์ความรู้ชุมชน การสะสมความรู้เพื่อเป็นข้อมูลชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้การแลกเปลี่ยน เรียนรู้ในชุมชน มีกระบวนการถ่ายทอดและต่อยอด องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีมูลค่า
  • การพัฒนากลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน: ได้แก่ 1) ผู้นำชุมชน คือ ผู้ที่มีภาวะผู้นำและ ด้รับการยอมรับจากชุมชน มีบทบาทในการประสาน การเปลี่ยนแปลง ความร่วมมือร่วมใจ การแบ่งปันความรู้ การถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์และเป็นผู้เอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการบริหารจัดการชุมชน 2) กลุ่มและเครือข่ายในชุมชน ดำเนินการจัดเวทีกิจกรรมเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน การติดต่อสื่อสารสัมพันธ์กันก่อให้เกิดความผูกพันกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด

กล่าวโดยสรุป งานวิจัยของ ผศ. ดร.ภุชงค์ และคณะ ได้ศึกษาและสะท้อนความเห็นของชาวบ้านในชุมชน โดยเฉพาะที่เป็นผู้ประกอบการและวิสาหกิจต่อนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งนับว่าเป็นงานวิจัยที่เปิดพื้นที่ให้เสียงของคนในพื้นที่ได้มีที่ทางนำเสนอความคิด ความสำเร็จ อุปสรรค และความท้าทายจากการออกแบบนโยบายของภาครัฐในประเด็นเฉพาะ มากไปกว่านั้นผลการศึกษาและข้อเสนอแนะยังมีประโยชน์อย่างยิ่งแก่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุม

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ธีมลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.4) ภายในปี 2573 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะที่ยากจนและเปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การเป็นเจ้าของและมีสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินในรูปแบบอื่น มรดก ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสม และบริการทางการเงิน ซึ่งรวมถึงระบบการเงินระดับฐานราก
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.1) ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีการขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 7 ต่อปี
– (8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่มีคุณค่า ความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัตกรรม และให้การสนับสนุนการรวมตัวและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ตลอดจนการเข้าถึงบริการทางการเงิน
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
– (8.9) ออกแบบและใช้นโยบายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่จะสร้างงาน และส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.b) พัฒนาและดำเนินการใช้เครื่องมือเพื่อจะติดตามตรวจสอบผลกระทบของการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่สร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Last Updated on เมษายน 11, 2023

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น