การศึกษาแนวทางเวชปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้้อในโรงพยาบาล ผ่านการสำรวจในประเทศญี่ปุ่น ไทย และสหรัฐอเมริกา

การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล (preventing healthcare-associated infection: HAI) เป็นความท้าทายสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก งานวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าสุขอนามัยที่ดีสามารถลดอัตราการติดเชื้อในโรงพยาบาลได้ การตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลแสดงให้เห็นผ่านโครงการ Clean Care is Safer Care โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแนวทางการปฏิบัติเพื่อสุขอนามัยที่ดีในสถานพยาบาล นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล เช่น โครงการป้องกันการติดเชื้อในประเทศญี่ปุ่น โครงการเป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วยในประเทศไทย และแผนปฏิบัติการแห่งชาติของกรมอนามัยและบริการมนุษย์เพื่อป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา

แม้ว่าแนวทางเวชปฏิบัติทั่วโลกในการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลจะมีความแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่แนวทางเวชปฏิบัติมาตรฐาน ตัวอย่างเช่น การใช้มาตรการการใส่เครื่องป้องกันร่างกายครบถ้วน (maximum barrier precaution) ระหว่างการใส่สายสวนหลอดเลือดส่วนกลาง ซึ่งเป็นข้อแนะนำที่กำหนดขึ้นโดยทั่วไปสำหรับการป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือดที่สัมพันธ์กับการใส่สายสวนหลอดเลือดส่วนกลาง (central line–associated bloodstream infection: CLABSI) รวมถึงแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการป้องกันการติดเชื้อปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับการใช้เครื่องช่วยหายใจ (ventilator-associated pneumonia: VAP) และการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะที่สัมพันธ์กับการใส่สายสวนปัสสาวะ (catheter-associated urinary tract infection: CAUTI)

แม้จะมีแนวทางเวชปฏิบัติโดยทั่วไปสำหรับการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล แต่ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบเกี่ยวกับการใช้แนวเวชปฏิบัติเหล่านี้ในโรงพยาบาลกับผู้ป่วยภาวะเฉียบพลันในประเทศต่าง ๆ จึงเป็นที่มาของการศึกษาเรื่อง “Infection Prevention Practices in Japan, Thailand, and the United States: Results From National Surveys” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ศึกษาแนวทางเวชปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้อ กับคณะนักวิจัยจาก 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ไทย และสหรัฐอเมริกา โดย ศ. นพ.อนุชา อภิสารธนรักษ์ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักวิจัยที่ดำเนินการศึกษาโครงการวิจัยนี้ในประเทศไทย

วัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้ คือ เพื่อประเมินการใช้แนวทางเวชปฏิบัติมาตรฐานในการป้องกัน CLABSI VAP และ CAUTI ในญี่ปุ่น ไทย และสหรัฐอเมริกา รวมถึงเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของการนำแนวทางเวชปฏิบัติไปใช้ในแต่ละประเทศ ตลอดจนประเมินการกำหนดเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการป้องกัน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม

สำหรับวิธีการศึกษาวิจัย การรวบรวมข้อมูลจะใช้การตอบแบบสำรวจ (survey research) ผ่านแบบสอบถามจำนวน 58 ข้อ เกี่ยวกับการใช้แนวทางเวชปฏิบัติเพื่อป้องกัน CLABSI VAP และ CAUTI โดยแบบสอบถามนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยนักระบาดวิทยาที่มีประสบการณ์ และแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการติดเชื้อ แบบสอบถามจะถูกส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการติดเชื้อ (lead infection preventionist) ที่โรงพยาบาลในญี่ปุ่น 971 แห่ง ในไทย 245 แห่ง และในสหรัฐอเมริกา 571 แห่ง

จากผลการศึกษา พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

  • อัตราการตอบแบบสำรวจ (survey response rates) ในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 71% (685 จาก 971 แห่ง และ 403 จาก 571 แห่ง ตามลำดับ) และในไทยอยู่ที่ 87% (212 จาก 245 แห่ง)
  • โดยรวมแล้ว โรงพยาบาลในประเทศไทยมีการดูแลผู้ป่วยภาวะเฉียบพลันและมีเตียงไอซียู (ICU) มากกว่าโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น
  • โรงพยาบาลในประเทศไทยในการศึกษาครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับโรงเรียนแพทย์มากกว่า 50% ขณะที่ในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกามีเพียง 10.4% และ 29.8% ตามลำดับ
  • โรงพยาบาลในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริการายงานว่ามีส่วนร่วมในความร่วมมือเพื่อลดการติดเชื้อในโรงพยาบาลมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (ในประเทศไทย 49.5% เทียบกับสหรัฐอเมริกา 82.7% และญี่ปุ่น 92.2%)

สำหรับผลการศึกษาเกี่ยวกับแนวทางเวชปฏิบัติเพื่อป้องกัน CLABSI พบประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • โรงพยาบาลส่วนใหญ่รายงานว่าใช้มาตรการการใส่เครื่องป้องกันร่างกายครบถ้วน (maximum barrier precaution) โดย 76.6% ในญี่ปุ่น 63.2% ในไทย และ 97.8% ในสหรัฐอเมริกา
  • การใช้แนวทางเวชปฏิบัติอื่น ๆ นั้นมีความแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะในโรงพยาบาลในญี่ปุ่นและไทย โดยในญี่ปุ่น มีโรงพยาบาลประมาณ 3.3% ใช้ผลิตภัณฑ์ทำแผลที่มีส่วนผสมของสารต้านปฏิชีวนะ (antimicrobial dressing) และ 18.7% ใช้คลอร์เฮกซิดีน (chlorhexidine) เป็นสารระงับเชื้อ (antisepsis) ในบริเวณที่มีการใส่สายสวนหลอดเลือด มากกว่า 75% ใช้มาตรการการใส่เครื่องป้องกันร่างกายครบถ้วน และ 67.3% มีการตรวจสอบควบคุมอัตราการเกิด CLABSI
  • ในไทย มีโรงพยาบาลน้อยกว่าครึ่ง (48.5%) ที่รายงานว่าใช้ผลิตภัณฑ์ทำแผลที่มีส่วนผสมของสารต้านปฏิชีวนะ และ 73.5% ใช้คลอร์เฮกซิดีนเป็นสารระงับเชื้อในบริเวณที่มีการใส่สายสวนหลอดเลือด รวมถึงมีการตรวจสอบควบคุมอัตราการเกิด CLABSI มากกว่า 90%

ผลการศึกษาเกี่ยวกับแนวทางเวชปฏิบัติเพื่อป้องกัน VAP พบประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • การจัดท่านอนกึ่งเอน (semirecumbent position) เป็นแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับป้องกัน VAP ที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในทั้ง 3 ประเทศ
  • โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยและสหรัฐอเมริการายงานว่าใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารต้านปฏิชีวนะ (antimicrobial mouth rinse) และมีการตรวจสอบควบคุมอัตราการเกิด VAP แต่ทว่าแนวทางเวชปฏิบัตินี้ไม่ค่อยแพร่หลายในญี่ปุ่น
  • แนวทางเวชปฏิบัติ ได้แก่ การลดการปนเปื้อนในระบบทางเดินอาหาร (selective digestive tract decontamination) มีการนำแนวทางนี้ไปใช้น้อยที่สุด โดยมีการใช้เพียงหนึ่งในสี่ของโรงพยาบาลในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา และเพียง 3.6% ในญี่ปุ่น
  • การดูดเสมหะบริเวณใต้หลอดเสียง (subglottic secretion drainage) เป็นแนวทางเวชปฏิบัติที่มีการนำไปใช้ในระดับปานกลาง ประมาณ 19.2% ของโรงพยาบาลในญี่ปุ่น 35.3% ในประเทศไทย และ 56.1% ในสหรัฐอเมริกา

ส่วนผลการศึกษาเกี่ยวกับแนวทางเวชปฏิบัติเพื่อป้องกัน CAUTI พบประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • โรงพยาบาลเกือบทั้งหมดในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกามีรายงานการตรวจสอบควบคุมอัตราการเกิด CAUTI ขณะที่ในญี่ปุ่นมีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น
  • แนวทางเวชปฏิบัติ ได้แก่ การใช้อัลตราซาวด์เพื่อตรวจดูปัสสาวะที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ โรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกาประมาณ 57.1% นำแนวทางปฏิบัตินี้ไปใช้ ขณะที่โรงพยาบาลในญี่ปุ่นและไทยมีเพียง 11.3% และ 4.7% ตามลำดับ
  • สายสวนปัสสาวะที่ทำจากโลหะผสมเงินถูกใช้บ่อยในโรงพยาบาลในญี่ปุ่น (44.1%) มากกว่าในประเทศไทย (8.9%) หรือสหรัฐอเมริกา (33.0%)
  • การใช้อุปกรณ์แจ้งเตือนและหยุดสายสวนปัสสาวะ พบในโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา 54.0% ในไทย 28.3% และในญี่ปุ่น 21.7%
  • ในไทย การมีนักระบาดวิทยาในโรงพยาบาลมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการใช้อุปกรณ์แจ้งเตือนหรือหยุดเพื่อป้องกัน CAUTI ขณะที่ในสหรัฐอเมริกามีอัตราการใช้สูงกว่าในโรงพยาบาลที่มีการทำงานร่วมกันของทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการติดเชื้อในโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยในครั้งนี้มีข้อจำกัดบางประการที่ควรพิจารณา ได้แก่

  1. แม้ว่าอัตราการตอบกลับแบบสำรวจ (survey response rates) จะอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง แต่ผลการศึกษายังคงได้รับผลกระทบจากความลำเอียงจากการไม่ตอบแบบสอบถามกลับมา (nonresponse bias)
  2. แม้ว่าข้อมูลจะถูกรวบรวมโดยใช้แบบสำรวจที่คล้ายกัน แต่ความแตกต่างในคำตอบอาจเป็นผลมาจากปัญหาการแปลหรือการตีความข้ามวัฒนธรรม
  3. การศึกษานี้ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของผู้ป่วยหรืออัตราการติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งลักษณะโรงพยาบาลที่แตกต่างกันอย่างมากใน 3 ประเทศ อาจมีอิทธิพลต่อการใช้แนวทางเวชปฏิบัติ

กล่าวโดยสรุป โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในทั้ง 3 ประเทศใช้มาตรการการใส่เครื่องป้องกันร่างกายครบถ้วนเพื่อป้องกัน CLABSI และใช้การจัดท่านอนกึ่งเอน (semirecumbent position) เพื่อป้องกัน VAP นอกจากนี้โรงพยาบาลเกือบทุกแห่งในไทยและสหรัฐอเมริกามีการตรวจสอบควบคุมอัตราการเกิด CLABSI, VAP และ UTI ขณะที่ในญี่ปุ่น โรงพยาบาลส่วนใหญ่มีเพียงการตรวจสอบควบคุมอัตรา CLABSI เท่านั้น และแม้จะมีข้อจำกัดบางประการ แต่การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าโรงพยาบาลในญี่ปุ่น ไทย และสหรัฐอเมริกากำลังใช้แนวทางเวชปฏิบัติมาตรฐานหลายอย่างเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ปัจจัยที่เอื้อต่อการนำแนวทางเวชปฏิบัติไปใช้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาต่อไปถึงลักษณะเฉพาะของโรงพยาบาลหรือปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อการใช้แนวทางเวชปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรคและสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีภายในปี 2573
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินที่เกี่ยวกับสุขภาพและการสรรหาการพัฒนา การฝึกฝนและการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.5) เพิ่มพูนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา และให้ภายในปี 2573 มีการส่งเสริมนวัตกรรมและให้เพิ่มจำนวนผู้ทำงานวิจัยและพัฒนาต่อประชากร 1 ล้านคน และการใช้จ่ายในภาคสาธารณะและเอกชนในการวิจัยและพัฒนาให้เพิ่มมากขึ้น

รายการอ้างอิง
Krein, S. L., Greene, M. T., Apisarnthanarak, A., Sakamoto, F., Tokuda, Y., Sakihama, T., Fowler, K. E., Ratz, D., & Saint, S. (2017). Infection Prevention Practices in Japan, Thailand, and the United States: Results From National Surveys. Clinical infectious diseases : an official publication of the Infectious Diseases Society of America, 64(suppl_2), S105–S111. https://doi.org/10.1093/cid/cix073

ชื่อผู้วิจัย – สังกัด
Sarah L. Krein,1,2 M. Todd Greene,1,2 Anucha Apisarnthanarak,3 Fumie Sakamoto,4 Yasuharu Tokuda,6 Tomoko Sakihama,5 Karen E. Fowler,1 David Ratz,1 and Sanjay Saint1,2
1 VA Ann Arbor Center for Clinical Management Research and Medicine Service, VA Ann Arbor Healthcare System
2 Department of Internal Medicine, University of Michigan Medical School, Ann Arbor
3 Thammasat University, Pathum Thani, Thailand
4 Center for Quality Improvement, St Luke’s International Hospital
5 International University of Health and Welfare Graduate School, Minami Aoyama, Minato-ku, Tokyo
6 Department of Medicine, Mito Kyodo General Hospital, University of Tsukuba, Ibaraki, Japan

Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Last Updated on มกราคม 31, 2023

Author

  • Kanokphorn Boonlert

    Manager of Knowledge Communications | "The good life is a process, not a state of being. It is a direction not a destination." − Carl R. Rogers

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น