รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของแอฟริกาปี 2565 เพื่อผลักดันชาวแอฟริกันให้พ้นจาก ‘ความยากจน’

หากไม่มีการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573 ผู้คนอย่างน้อย 492 ล้านคน จะต้องตกอยู่ภายใต้ ‘ความยากจนขั้นรุนแรง’ (extreme poverty) และอีกอย่างน้อย 350 ล้านคน ภายในปี 2593 การคาดการณ์นี้มาจาก รายงานประเมินความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับวาระปี ค.ศ. 2063 ของแอฟริกา ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการสหภาพแอฟริกา (African Union Commission : AUC) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจสำหรับแอฟริกา (UN Economic Commission for Africa : UNECA) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา (AfDB) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) 

รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของแอฟริกาปี 2565 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการประเมินความก้าวหน้าซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการติดตามของการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี 2565 โดยได้ติดตามและทบทวนทั้งหมด 5 เป้าหมาย ได้แก่  #SDG4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) #SDG5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) #SDG14 (ทรัพยากรทางทะเล) #SDG15 (ระบบนิเวศบนบก) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง #SDG17 (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)

สรุปข้อค้นพบที่สำคัญซึ่งปรากฏในรายงาน อาทิ

  • SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ: ความก้าวหน้าของแอฟริกาในการบรรลุการศึกษาให้เป็นสากลเป็นไปอย่างเชื่องช้า แม้จะมีการปรับปรุงการเข้ารับการศึกษา แต่เด็กวัยเรียน 288 ล้านคนยังคงไม่ได้รับการศึกษา โดยเฉพาะในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ในรายงานจึงได้เรียกร้องให้เพิ่มเงินทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับก่อนวัยเรียนและประถมศึกษา และการลงทุนในการฝึกอบรมครูและการเชื่อมต่อทางดิจิทัล (digital connectivity)
  • SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ:  มีความก้าวหน้าที่ล่าช้า เนื่องจากการบังคับใช้กรอบกฎหมายเพื่อปกป้องสตรีและเด็กหญิงจากการเลือกปฏิบัติ ความรุนแรงในครอบครัว การแต่งงานในเด็ก และการถูกขริบอวัยวะเพศหญิง (Female Genital Mutilation: FGM) ยังคงมีความอ่อนแอทั่วทั้งทวีป เช่น การถูกขริบอวัยวะเพศหญิง (FGM) ในแอฟริกา ลดลงเล็กน้อย จาก 29.4% ในปี 2558 เป็น 24.7% ในปี 2564 และในแอฟริกาเหนือ จาก 83% ในปี 2558 เป็น 74% ในปี 2564
  • SDG14 ทรัพยากรทางทะเล: รายงานเตือนว่าสารมลพิษอินทรีย์และสารเคมี จากกิจกรรมของมนุษย์ยังคงเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศทางทะเลของแอฟริกา รายงานเรียกร้องให้เพิ่มขีดความสามารถของสถาบันในการบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับสำหรับการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน พร้อมแนะนำให้สร้างความตระหนักในการจัดการขยะและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ชายฝั่งเพื่อลดมลพิษ
  • SDG15 ระบบนิเวศบนบก: การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้เพื่อทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียพื้นที่ป่าปกคลุม ความหลากหลายทางชีวภาพ และความเสื่อมโทรมของที่ดินยังคงมีอยู่สูง ซึ่งความเสื่อมโทรมของที่ดินส่งผลกระทบถึง 46% ของพื้นที่ดินในแอฟริกา และมีประชากรได้รับผลกระทบกว่า 65%  ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูผลกระทบในภูมิภาคถึง 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐทุกปี จำเป็นต้องมีความพยายามในการนำนโยบายไปปฏิบัติตามกรอบเพื่อส่งเสริมการจัดการป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ และที่ดินอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) เพื่อระดมและจัดหาช่องทางเงินทุนในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
  • SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน: ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance: ODA) และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ที่ไหลเข้านั้นลดลง รายงานจึงแนะนำให้แอฟริกาส่งเสริมการระดมทรัพยากรภายในประเทศ และเพิ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) 

จากรายงานได้ประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งพบว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ชาวแอฟริกัน 23.6 ล้านคนต้องประสบกับความยากจนขั้นรุนแรงในปี 2564 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่ไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งรายงานคาดว่าภายในปี 2573 ผู้คน 492 ล้านคนจะยังคงอยู่ในสภาพความยากจนขั้นรุนแรง และอีกอย่างน้อย 350 ล้านคนภายในปี 2593  อย่างไรก็ตาม เพื่อขจัดความยากจนให้ได้ตามหมุดหมายที่วางไว้ หากประเทศต่าง ๆ รับและนำนโยบายไปปฏิบัติ เพื่อผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะช่วยลดจำนวนคนที่ยากจนขั้นรุนแรง จาก 489 ล้านคน ในปี 2564 เหลือ 442.4 ล้านคนในปี 2573 และจะเหลือเพียง 159.7 ล้านคนในปี 2593 ทั้งนี้ รายงานอธิบายเพิ่มเติมว่า ผลกระทบของสงครามในยูเครนคุกคามความมั่นคงทางอาหารและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในแอฟริกา จึงได้แนะนำว่าควรมีการสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีการตั้งรับปรับตัว เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าอาหารที่มากเกินไป ปรับเปลี่ยนการผลิตทางการเกษตรให้มีความทันสมัย พร้อมทั้งควรมีการลงทุน เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงพลังงานอย่างเท่าเทียมและราคาไม่แพง เพื่อรักษาเสถียรภาพการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจต่อไป

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
UN และพันธมิตรเปิดตัวแคมเปญ #LetMeLearn ก่อนการประชุมสุดยอดด้านการศึกษา – หลังพบว่าเด็ก 260 ล้านคนทั่วโลกไม่ได้เรียนหนังสือ
นักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิฯ เรียกร้องให้ “30×30” ในกรอบ COP15 ใช้แนวทางสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลาง 
ความยากจน-ความเหลื่อมล้ำ และการว่างงาน แซงหน้าโควิด-19 เป็น 2 อันดับแรกที่ผู้คน “กังวล” มากที่สุด
แนะนำสารคดี ‘Eve’s Apple’ เพราะสตรีและเด็กหญิงกว่า 200 ล้านคนบนโลกเคยถูกขริบอวัยวะเพศ
COP 27 ย้ำการปกป้อง ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ เชื่อมโยงกับ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ เป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกออกจากกัน
SDG Updates | การเงินเพื่อความยั่งยืน ท่ามกลางพายุวิกฤตและความขัดแย้ง : กรณีศึกษาจากประเทศไทย 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.1) ภายในปี 2573 ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ให้หมดไป ซึ่งในปัจจุบันความยากจนวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพต่ำกว่า $1.90 ต่อวัน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.2) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัย ที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.3) ขจัดแนวปฏิบัติที่เป็นภัยทุกรูปแบบ อาทิ การแต่งงานในเด็กก่อนวัยอันควรโดยการบังคับ และการขลิบอวัยวะเพศหญิง
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
– (14.3) ลดและแก้ปัญหาผลกระทบของความเป็นกรดในมหาสมุทร โดยผ่านทางการเพิ่มพูนความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ในทุกระดับ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.1) เสริมความแข็งแกร่งของการระดมทรัพยากรภายในประเทศ โดยรวมถึงการสนับสนุนระหว่างประเทศไปยังประเทศกำลังพัฒนา เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถภายในประเทศในการเก็บภาษีและรายได้อื่น ๆ ของรัฐ
– (17.2) ประเทศพัฒนาแล้วจะดำเนินการ (ให้เป็นผล) ตามพันธกรณีเรื่องการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการโดยเต็มที่ โดยรวมถึงพันธกรณีที่ให้ไว้โดยประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่จะบรรลุเป้าหมายการมีสัดส่วน ODA/GNI ร้อยละ 0.7 ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา และมีสัดส่วน ODA/GNI ร้อยละ 0.15 ถึง 0.20 ให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยสนับสนุนให้ผู้ให้ ODA พิจารณาตั้งเป้าหมายที่จะให้มีสัดส่วน ODA/GNI ถึงอย่างน้อยร้อยละ 0.20 ให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
– (17.5) ยอมรับและดำเนินการตามระบอบการส่งเสริมการลงทุนให้กับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด

แหล่งที่มา: UN Report Calls for “SDG Push” to Lift Millions of Africans out of Poverty | News 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น