TU SDG Seminars | เจาะลึกการขับเคลื่อนด้าน ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ผ่านงานวิจัย ตามบริบทประเทศไทย – ชวนหาคำตอบจากบทสรุปการสัมมนาการวิจัยด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย

ชวนอ่านบทสรุปการสัมมนาการวิจัยด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย โดย รศ. ดร.บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดและนำเสนองานวิจัยของนักวิจัยแนวหน้า โดยแบ่งประเด็นการแลกเปลี่ยนออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) ฉายภาพรวมกระบวนการในห้องย่อย พร้อมส่องประเด็นจากกิจกรรมการประชุมปฏิบัติการ และ 2) ทบทวนประเด็นสำคัญจากงานวิจัยที่เกี่ยวกับ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ของนักวิจัยแนวหน้า ซึ่งจัดขึ้นภายใต้เวทีสัมมนาการวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ผ่านระบบ Zoom Meeting

ด้วยประเด็นที่กล่าวถึงการให้ความสำคัญกระบวนการวิจัยเชิงนโยบาย และข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริบทของประเทศไทย งานสัมมนาจากประเด็นการแลกเปลี่ยนทั้ง 2 ส่วน จึงมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 5 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ เป้าหมายที่ 9  โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม เป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


01 – ฉายภาพรวมกระบวนการในห้องย่อย พร้อมส่องประเด็นจากกิจกรรมการประชุมปฏิบัติการ

ภาพรวมงานวิจัยที่นักวิจัยแนวหน้าได้นำเสนอและประเด็นที่เกิดขึ้นจากกระบวนการในห้องย่อย โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

รศ. ดร.บัณฑิต ได้นำเสนอโครงการวิจัยที่สำคัญที่เคยได้ทำวิจัยเกี่ยวข้องกับด้าน Integrated Assessment Modeling (IAM), เศรษฐศาสตร์พลังงาน, Integrated Resources Planning, เทคโนโลยีพลังงาน, และระบบผลิตพลังงานพร้อมเจาะลึกงานวิจัยล่าสุด ซึ่งวิจัยเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รศ. ดร.บัณฑิต ได้อธิบายว่า จากแผนระยะยาวของประเทศไทยในการไปสู่การบรรลุเป้าของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero emission) ในปี ค.ศ  2090 และความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าและภาคการการส่ง รวมถึงภาคส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคครัวเรือน ภาคการผลิต หรือการกำจัดของเสีย ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ รศ. ดร.บัณฑิต ได้กล่าวถึงกระบวนการวิจัยเชิงนโยบาย และข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริบทของประเทศไทย 

ขณะที่ ช่วงบ่ายจากกิจกรรมการประชุมปฏิบัติการ (workshop) ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนงานวิจัยล่าสุด มีการแลกเปลี่ยนประเด็นนําเสนอในเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย โดยมีประเด็นหรือหัวข้อของโครงการวิจัยที่สามารถเชื่อมโยงกับ SDGs และระบุถึงการเชื่อมโยงงานวิจัยกับกลุ่มเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น การพัฒนานโยบายผู้สูงอายุท้องถิ่นไทย สอดคล้องกับ SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งมีกลุ่มของงานวิจัยเป้าหมาย คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) กลุ่มต่าง ๆ ซึ่งผู้สัมมนาทุกคนต่างได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกันในการวิเคราะห์ต่อยอดงานวิจัยไปจนถึงสถานการณ์ในอนาคตที่คาดว่าจะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่องานวิจัยเชิงนโยบายที่อาจจะเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ปัจจุบัน นักวิจัยจำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมหรือผลลัพธ์จากการวิจัยให้สามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งผู้สัมมนาร่วมเสนอว่า ควรมีแพลตฟอร์ม หรือเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นพื้นที่ได้ถกประเด็นกัน จึงนำมาสู่ช่วงท้าย ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาแต่ละท่านแสดงความคาดหวังต่อการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป 


02 – ทบทวนประเด็นสำคัญจากงานวิจัยที่เกี่ยวกับ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ของนักวิจัยแนวหน้า

รศ. ดร.บัณฑิต ได้นำเสนอแผนระยะยาวของประเทศไทย ในการไปสู่การบรรลุเป้าของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero emission) ในปี ค.ศ  2090  ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ผ่านแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ คือ “แบบจำลองดุลภาพครอบคลุม” (computable general equilibrium : CGE) ระบุว่า ภายในปี ค.ศ 2050 ประเทศไทย จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงมาถึง 52% จากทิศทางที่เป็นอยู่ (business-as-usual: BAU) และเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อให้ดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มขึ้น 20% จาก BAU โดยอุตสาหกรรมที่มีส่วนสำคัญ คือ “อุตสาหกรรมพลังงาน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไฟฟ้า ซึ่งต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 66% จาก BAU และการขนส่ง ซึ่งต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 85% นอกจากนี้ ภาคส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคครัวเรือน ภาคการผลิต หรือการกำจัดของเสีย ก็ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมีนัยสำคัญ 

จากการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด จะต้องมีการลงทุนในภาคการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 62% และหากไม่มีการปรับแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานราชการต่าง ๆ จะทำให้ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ลดลง 2.61% ในปี ค.ศ 2030 และมากถึง 18.01% ในปี ค.ศ 2050 ดังนั้น การวางแผนยุทธศาสตร์โดยคำนึงถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ทั้งนี้ IPCC มีฉากทัศน์ที่อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมเช่นกัน แต่ รศ. ดร.บัณฑิต พยายามสะท้อนให้เห็นว่า ในฉากทัศน์นี้ ประเทศไทยต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ปี ค.ศ 2020 เป็นต้นไป เพื่อให้มีการรปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ 2050 และไม่น่าจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงภายใต้ข้อสมมติของแบบจำลอง 

นอกจากนี้ การกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาวช่วยให้สามารถคาดการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูงสุดของประเทศในอนาคต รวมถึงทำให้หน่วยงานหลักด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ มีแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกมีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถบูรณาการนโยบายระหว่างหน่วยงานหลักในสาขาต่าง ๆ ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากสถานการณ์ข้างต้น การศึกษารูปแบบการกําหนดค่า Discount Rate ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามช่วงระยะเวลาต่าง ๆ รวมถึงวิธีการคาดการณ์รูปแบบเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศในเชิงการวิเคราะห์ทางสถิติ (SSPs) ซึ่งความสอดคล้องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ นโยบาย ในระดับภาคส่วนและระดับประเทศ และการประเมินต้นทุนส่วนเพิ่ม (Marginal Abatement Cost หรือ MAC) ที่จะนำมาใช้ในการลดก๊าซเรือนกระจก 

พร้อมสนับสนุน Net zero scenarios ให้เป็นข้อมูลองค์ประกอบสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับหน่วยงานหลักด้านนโยบาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแต่ละสาขา เพื่อใช้สนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดทำแผนมาตรการและนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศต่อไป ดังนั้น การศึกษานี้ จึงมีเป้าหมายเพื่อจัดทำข้อเสนอ รูปแบบ และวิธีการกําหนดค่า Discount Rate ที่มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศในเชิง SSPs รวมถึงมีความสอดคล้องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ นโยบาย และระดับมาตรการที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ หรือ Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS) และการผลิตพลังงานชีวภาพร่วมกับการดักจับ และกักเก็บคาร์บอน หรือ Bioenergy with Carbon Capture and Storage (BECCS) ภายใต้มาตรการภาคการผลิตพลังงานที่สนับสนุน Net zero scenario

กล่าวโดยสรุป งานสัมมนาการวิจัยด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัยในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) พยายามฉายภาพชัดให้เห็นว่าประเด็นก๊าซเรือนกระจกมีผลกระทบเกี่ยวพันถึงเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และนโยบาย อย่างไรก็ดี การได้ถกประเด็นแลกเปลี่ยนร่วมกันระหว่างผู้สัมมนาและนักวิจัยแนวหน้า ทำให้ได้มาซึ่งสาระประโยชน์ที่สำคัญ ทราบถึงแนวทางของการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และผลกระทบที่เกิดต่อสุขภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดทำและปรับปรุงนโยบายของรัฐบาล ภาคเอกชน และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมขับเคลื่อนอนาคตของงานวิจัยด้านสุขภาพและสุขภาวะในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ตามเป้าหมายที่วางไว้ต่อไป

รับชมวิดีโอบันทึกจากงานสัมมนาย้อนหลัง ได้ที่นี่ : https://youtu.be/LrldXraZFw4
ติดตามสรุปสัมมนาในโครงการทั้ง 12 เวที ได้ที่ : ที่นี่

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573 
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573 
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด พร้อมสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573 
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และปรับปรุงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ 
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ 
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ 
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

ณิญาพรรน์ภักร์ ประทุมรัตน์ – ถอดความ
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – ผู้เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Last Updated on มีนาคม 8, 2023

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น