แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง คร่าชีวิตผู้คนกว่าสามหมื่นราย

เหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงเป็นอันดับ 6 ของโลก เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่ประเทศตุรกีและซีเรีย เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ตามมาตราริกเตอร์ บริเวณชายแดนระหว่างตุรกีและซีเรีย ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 33,000 คน โดยทางการของทั้งสองประเทศ คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและอาคารบ้านเรือนพังทลายลงและเสียหายอย่างประเมินค่าไม่ได้ เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยนับหมื่นรายจึงต่างเร่งระดมกำลังค้นหาและกู้ภัย เพื่อลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้คนที่ติดอยู่ในซากปรักหักพังหลังเกิดแผ่นดินไหว

สาเหตุของแผ่นดินไหวเนื่องมาจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ส่วนใหญ่ของตุรกีตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกอนาโตเลีย (Anatolian Plate)  ซึ่งอยู่ใกล้กับแผ่นเปลือกโลกอีก 2 แผ่น คือ แผ่นเปลือกโลก ‘แอฟริกา’ (African Plate) ด้านทิศใต้ และแผ่นเปลือกโลก ‘อาระเบีย’ (Arabian Plate) ทางด้านทิศตะวันออก โดยมีจุดบรรจบของ 3 เปลือกโลกนี้เป็นรอยเลื่อนแนวระนาบเหลื่อมซ้าย (Left-Lateral Strike-Slip Fault) ขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า ‘รอยเลื่อนอนาโตเลียตะวันออก’ (East Anatolian Fault) และเกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกบริเวณดังกล่าว พื้นที่อยู่ใกล้กับรอยเลื่อนแผ่นเปลือกโลก ก็ได้รับความเสียหาย ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วภูมิภาคทั้งสองข้างของรอยเลื่อนแผ่นเปลือกโลกเช่นกัน

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว รัฐบาลตุรกีได้ออกมาประกาศภาวะฉุกเฉินใน 10 จังหวัด ร่วมถึงองค์การอนามัยโลก  (World Health Organization : WHO) เตือนว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอาจพุ่งสูงเกิน 2 หมื่นราย ส่วนสถานการณ์ในฝั่งซีเรียเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากพื้นที่ตอนเหนือที่ได้รับผลกระทบหนักปกครองโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ส่งผลกระทบให้ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงเชื้อเพลิง เสบียง และสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่จะติดต่อกับผู้คนภายนอก ทำให้ผู้คนอีกไม่ทราบจำนวนติดอยู่ในซากปรักหักพังภายในอาคารที่พังถล่มลงมา รวมถึงการกู้ภัยนั้น เป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องด้วยสภาพอากาศที่หนาวจัดระดับติดลบ แต่ทีมกู้ภัยจากทุกภาคส่วนไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศก็ระดมกำลังค้นหาผู้รอดชีวิตที่ยังติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังอย่างสุดความสามารถ จนสามารถช่วยชีวิตผู้ประสบภัยออกมาได้จำนวนหนึ่งในวันที่ 4 หลังเกิดภัย 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ โฆษกสำนักงานประสานงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (Office for the Coordination of Humanitarian Affairs: OCHA) ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า การส่งความช่วยเหลือไปยังซีเรียต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว เนื่องจากความเสียหายของถนนและปัญหาด้านการขนส่งอื่น ๆ ขณะที่หน่วยงานจัดการภัยพิบัติของตุรกี รายงานสถานการณ์ว่า มีประชาชนกว่า 8,000 ราย ได้รับการช่วยเหลือจากซากปรักหักพัง และปลอดภัยแล้วราว 3.8 แสนราย แต่ต้องกระจายตัวอพยพออกไปพักที่ศูนย์พักพิงที่รัฐบาลจัดตั้ง ซึ่งไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ประสบภัย  ทั้งนี้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุดในตุรกีอยู่ที่ 29,605 คน และซีเรียอยู่ที่ 3,500 คน ขณะที่ ทางการตุรกีเผยว่ามีผู้บาดเจ็บรักษาตัวในโรงพยาบาลราว 80,000 คน และอีก 1 ล้านคนต้องอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ทุกคนต่างไม่คาดคิด การลดผลกระทบที่พอจะเตรียมพร้อมรับมือต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดนี้ได้ คือ การเสริมสร้างความมั่นคงของสิ่งปลูกสร้างโดยเฉพาะอาคารบ้านเรือน การจัดทำแผนอพยพ แผนรับมือภัยพิบัติจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะนั่นจะเป็นการช่วยลดความเสียหาย และช่วยให้การรับมือมีประสิทธิภาพขึ้น ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกฟากฝ่ายจากทั่วโลกยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ รัฐบาลหลายประเทศทั่วยุโรป เอเชียตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ รวมถึงคูเวต อินเดีย รัสเซีย เเละไทย ร่วมระดมส่งความช่วยเหลือไปยังประเทศตุรกีและซีเรีย เพื่อช่วยให้เพื่อนมนุษย์ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
110311 รำลึกสึนามิในญี่ปุ่น แล้วเร่งเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติในยุคที่ climate change เป็นตัวเร่งเพิ่มความเสี่ยง
ระบบเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉินระดับชาติที่จัดการ ‘ภัยพิบัติธรรมชาติ’ พร้อมกับ ‘อันตรายทางชีวภาพ’ จะทำให้เอเชียแปซิฟิกมีภูมิคุ้มกันต่อโรคระบาด
รายงานจัดอันดับ 100 เมืองทั่วโลกที่มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมสูงสุด โดย 99 เมืองอยู่ในทวีปเอเชีย

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.5) ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมุ่งเป้าปกป้องคนจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573 
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ 
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
สรุปเหตุการณ์แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย เสียชีวิตราว 7,800 ราย บาดเจ็บ 3.2 หมื่นราย กว่า 3 แสนรายกำลังแออัดในศูนย์พักพิง  – the momentum
อัปเดตแผ่นดินไหวตุรกี ตายเกิน 1.7 หมื่นศพ ดาราดังร่ำไห้ครอบครัวสูญหาย – thairath
ย้อน 10 เหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปีของตุรกี – the standard
ทำแผนที่รอยเลื่อนเปลือกโลกจากอวกาศ หลังเกิดแผ่นดินไหวในตุรกี – BBC News ไทย 
แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย : ยอดผู้เสียชีวิตทะลุกว่า 35,000 คน ยูเอ็นคาดอาจตายสูงกว่า 5 หมื่น – BBC News ไทย 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น