TU SDG Seminars | มองภาคอุตสาหกรรมไทย ในวันที่ต้องพึ่งพา ‘เศรษฐกิจโลก’ เพิ่มขึ้น – ชวนหาคำตอบจากบทสรุปสัมมนาการวิจัยด้านหุ้นส่วนการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อน

ชวนอ่านบทสรุปการสัมมนา ครั้งที่ 4 หัวข้อ “การวิจัยด้านหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อน”  โดย รศ .ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดและนำเสนองานวิจัยของนักวิจัยแนวหน้า โดยแบ่งประเด็นการแลกเปลี่ยนออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) ฉายภาพรวมกระบวนการในห้องย่อย พร้อมส่องประเด็นจากกิจกรรมการประชุมปฏิบัติการ และ 2) ทบทวนประเด็นสำคัญจากงานวิจัยที่เกี่ยวกับกลไกการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมไทยของนักวิจัยแนวหน้า ซึ่งจัดขึ้นภายใต้เวทีสัมมนาการวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 ผ่านระบบ Zoom Meeting

ด้วยประเด็นที่กล่าวถึงการให้ความสำคัญกระบวนการวิจัยเชิงนโยบาย และข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อน SDG จากการสัมมนาได้มีการแลกเปลี่ยนประเด็นหลัก 2 ส่วน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ครอบคลุมประเด็น เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 


01 – ฉายภาพรวมกระบวนการในห้องย่อย พร้อมส่องประเด็นจากกิจกรรมการประชุมปฏิบัติการ

ภาพรวมงานวิจัยที่นักวิจัยแนวหน้าได้นำเสนอและประเด็นที่เกิดขึ้นจากกระบวนการในห้องย่อย โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

รศ .ดร.จุฑาทิพย์ เปิดประเด็นถกสนทนาแลกเปลี่ยนด้านการวิจัยด้านหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อน SDG ระบุถึง เนื้อหางานวิจัยหลัก 3 งานวิจัย ได้แก่ งานวิจัยที่ให้ภาพเศรษฐกิจเชิงมหภาค งานวิจัยที่ให้ภาพเชิงเปรียบเทียบ และงานวิจัยที่ให้ภาพเชิงลึกด้านอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการ ซึ่งนอกจากงานวิจัย จะเชื่อมโยงในเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ฉายภาพความเชื่อมโยงงานวิจัยในอดีตจนถึงปัจจุบัน  เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนากลุ่มย่อยได้เห็นภาพถึงความเชื่อมโยงและนัยยสำคัญในการทำงานวิจัย ซึ่งมีความสอดคล้องกับเป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ครอบคลุมประเด็น โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ (8.1) การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรอย่างยั่งยืน (8.2) การเพิ่มผลิตภาพผ่านการเพิ่มความหลากหลาย การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม (8.3) การส่งเสริมผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และ (8.5) การบรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมและมีผลตอบแทนที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน และเป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ นอกจากนี้ รศ .ดร.จุฑาทิพย์ ได้นำผลการวิเคราะห์จากงานวิจัยให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการค้าการลงทุนในประเทศ ด้วยการเสริมสร้างความเข็มแข็ง เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในภาคอุตสาหกรรมการผลิต และร่วมสนทนาและตอบคำถามของผู้เข้าร่วมสัมมนากลุ่มย่อย


02 – ทบทวนประเด็นสำคัญจากงานวิจัยที่เกี่ยวกับกลไกการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมไทยของนักวิจัยแนวหน้า

รศ .ดร.จุฑาทิพย์ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีประสิทธิภาพ จากผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจของไทย ช่วงปี พ.ศ. 2513 – 2539 นับเป็นกรณีตัวอย่างที่ธนาคารโลก (World Bank) ได้หยิบยกมาขึ้น มานำเสนอชวนให้ประเทศอื่น ๆ ดำเนินรอยตาม ขณะที่ ปัจจุบัน อุตสาหกรรมไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันอย่างรุ่นแรง โดยกลยุทธ์การพัฒนาที่ผ่านมา ไม่อาจนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเกิดจากความสามารถในการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าที่ผ่านมาการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ด้วยโครงสร้างการผลิตที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ภาคการผลิตจำเป็นจะต้องพึ่งพาตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น โดยการตลาดโลกที่พึ่งพาเป็นหลักคือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการพึ่งพามาเป็นการพึ่งพา ผ่าน ‘เครือข่ายการผลิตข้ามชาติ’ (global production networks) โดยการผลิตมุ่งไปใช้เครื่องจักรมากขึ้น หรือ เทคนิคการผลิตแบบใช้ทุนมาก (capital intensive) ซึ่งเป็นการแทนการพึ่งพาแรงงานราคาถูกอย่างเดียว ซึ่งการทดแทน เครื่องมือนั้น ย่อมมีความแตกต่างกันแต่ละอุตสาหกรรม 

อย่างไรก็ดี รศ .ดร.จุฑาทิพย์ ระบุว่าอุตสาหกรรมไทยยังคงครองความเป็นอันดับ 1 ในตลาดโลกในหลายอุตสาหกรรม เช่น กุ้งแปรรูป ปลาทูน่ากระป๋อง แม้ประเทศไทย จะมีแนวโน้มพึ่งพาเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น เพราะแม้ในภาพรวม OR จะลดลง ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบภายในของภาคอุตสาหกรรม มิใช่ผลกระทบที่เกิดจากการที่ภาคอุตสาหกรรมหันมาพึ่งพาตลาดภายในเพิ่มขึ้น ดังนั้น ความท้าทายสำคัญของไทย คือ โจทย์ว่าจะบริหารจัดการอย่างไรในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกที่มีความอึมครึมอยู่ในปัจจุบัน จากผลงานวิจัยที่ผ่านมาผลิต รศ .ดร.จุฑาทิพย์ ได้นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้

  1. นโยบายด้านภาษี  มาตรการความช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการโดยตรงโดยเฉพาะผ่านทางด้านภาษี
  2. นโยบายไม่ใช่ภาษี การใช้ (Non-Tariff Measures: NTMs) ใช้มาตรการที่จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว ผ่านการมีเสถียรภาพทาง เศรษฐกิจ และการมีสาธารณูปโภคที่เหมาะสม พร้อมทั้งการพัฒนาศักยภาพ ทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน 
  3. การเปิดเขตการค้าเสรี (Free Trade Area :FTA) กับประเทศต่าง ๆ พร้อมปรับให้ธุรกิจให้สามารถเข้ามาผลิตสินค้ามีความต้องการและการแข่งขันทางการตลาด และการทำแผนโรดโชว์ชักจูงการลงทุน เพื่อโปรโมตพร้อมดึงดูดการลงทุน 
  4. นโยบายด้านการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับแรงงานไทย เป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ ซึ่งเป็นการสร้างการเติบโตทางเศรฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน ให้เกิดความสามารถในการสร้างจ้างงานอย่างเต็มที่และมีผลิตภาพ 

กล่าวโดยสรุป งานสัมมนาการวิจัยด้านหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อน จากกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ฉายภาพให้เห็นถึงความสำคัญของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีประสิทธิภาพ แม้ปัจจุบัน จำเป็นจะต้องขยับขับเคลื่อนในการพึ่งพาเพิ่มขึ้น และตอนสุดท้ายได้ทิ้งท้ายประเด็นไว้ว่า โจทย์ความท้าทายที่สำคัญของไทยอย่างการบริหารจัดการอย่างไรในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกที่มีความอึมครึมอยู่ในปัจจุบันจะดำเนินเช่นไร ในวันที่ประเทศไทยยังคงพึ่งพาเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น อันเป็นเรื่องต้องนำมาคิดต่อว่าประเทศไทยจำเป็นจะต้องอาศัยการค้นหาการวิจัยด้านหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อนแบบใดต่อไป

รับชมวิดีโอย้อนหลังได้ที่ :  https://youtu.be/NhStr5CdkLs 
ติดตามสรุปสัมมนาในโครงการทั้ง 12 เวที ได้ที่ : ที่นี่

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ 
– (8.1) ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีการขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 7 ต่อปี
(8.2) บรรลุการมีผลิตภาพทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นผ่านความหลากหลาย การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการมุ่งเน้นในภาคการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้แรงงานเป็นหลัก (Labour intensive)
– (8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่มีคุณค่า ความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัฒกรรม และให้การสนับสนุนการรวมตัวและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ตลอดจนการเข้าถึงบริการทางการเงิน
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
#SDG 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม 
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

ณิญาพรรน์ภักร์ ประทุมรัตน์ – ถอดความ
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – ผู้เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น