สปสช. หนุนวัคซีน HPV 1.7 ล้านโดส ฉีดให้เด็กหญิงอายุ 11 – 12 ปี หวังลดโรคมะเร็งปากมดลูก

วันที่ 20 มีนาคม 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่าที่ประชุมบอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบการให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเอชพีวี (HPV) จำนวน 1.7 ล้านโดส แก่เยาวชนหญิงไทยช่วงอายุ 11 – 12 ปี โดยเป็นโครงการคนละส่วนกับนโยบาย สธ. ในการฉีดวัคซีนเอชพีวี จำนวน 1 ล้านโดส แก่หญิงไทยอายุ 11 – 18 ปี ซึ่งสำเร็จไปแล้วก่อนหน้า

ความจำเป็นของการเร่งรัดให้มีการฉีดวัคซีนข้างต้นเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก อย่างไรก็ตามช่วงปี 2562 – 2564 เกิดภาวะขาดแคลนวัคซีนเอชพีวี ทำให้การฉีดวัคซีนดังกล่าวเป็นไปได้ยาก และแม้จะจัดหาได้ในปี 2565 แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงทำให้ฉีดได้แค่คนละ  1 เข็มก่อน โครงการฉีดวัคซีนครั้งใหม่จึงมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้หญิงไทยเข้าถึงวัคซีนเอชพีวีครบ 2 เข็มมากขึ้น เป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO)

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า นอกจากการจัดหาวัคซีนแล้ว ทางบอร์ด สปสช. ยังได้มอบให้ สปสช. ร่วมกับกรมควบคุมโรคในการพิจารณาดำเนินการฉีดวัคซีนและจัดซื้อวัคซีนเอชพีวีทุก 4 ปี ตลอดจนรณรงค์การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะด้วยแปปเสมียร์ (PAP Smear) การตรวจคัดกรองด้วยการใช้น้ำส้มสายชู (VIA) และการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีระดับ DNA (HPV DNA test) หรือวิธีอื่น ๆ ที่อยู่ในแนวทางการตรวจคัดกรองตามคำแนะนำทางวิชาการด้วย

ทั้งนี้ พบว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ที่พบมากที่สุดในผู้หญิง โดยข้อมูลจากระทรวงสาธารณสุข ปี 2563 ระบุว่าพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่กว่า 9,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 4,700 ราย ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์เสี่ยงสูง ได้แก่ สายพันธุ์ 16 และ สายพันธุ์ 18

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 35 ล้านรายในปี 2593 – องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ ชี้บุหรี่ แอลกอฮอล์ และมลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ
– WHO เผยแพร่คำแนะนำล่าสุดในการฉีดวัคซีน HPV พร้อมเน้นย้ำเด็กหญิงอายุ 9 – 14 ปี ควรได้รับก่อนเริ่มมีกิจกรรมทางเพศครั้งแรก
– สารก่อมะเร็ง PAHs มากกว่า 100 ชนิดถูกปล่อยสู่อากาศในทุกวัน แต่ส่วนมากยังไม่มีการกำกับดูแล – นับเป็นความเสี่ยงต่อโรค
– แก้ปัญหาแบบ “2-in-1” : การวิจัยยาที่สามารถป้องกันได้ทั้งการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และการติดเชื้อ HIV 
 SDG Updates | Immunization Agenda 2030 กับ SDGs ความเชื่อมโยงของการสร้างภูมิคุ้มกันโรคกับเป้าหมายกับพัฒนาที่ยั่งยืนที่ครอบคลุมมากไปกว่าเรื่องสุขภาพ 
– WHO เสนอยุทธศาสตร์การกำจัด ‘มะเร็งปากมดลูก’ – พร้อมทบทวนความมุ่งมั่น การลดผลกระทบด้านสุขภาพในทั่วโลก

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.7) สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว และข้อมูลข่าวสารและความรู้และการบูรณาการอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิด้านการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา และปฏิญญาปักกิ่งและเอกสารทบทวนผลลัพธ์จากการประชุมเหล่านั้น

แหล่งที่มา :  อนุมัติจัดหา ‘วัคซีนเอชพีวี 1.7 ล้านโดส’ ฉีดให้หญิงไทยอายุ 11-12 ปี ที่ยังไม่ครบ 2 เข็ม (ประชาไท)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Last Updated on เมษายน 9, 2024

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น