Policy Brief | “เกษตรกรรมยั่งยืน” โจทย์ท้าทายบรรลุ SDG2 ปลดล็อก-ขับเคลื่อนให้ก้าวหน้า ด้วยมาตรการทางกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ โครงการย่อยที่ 2 (เป้าหมายย่อยที่ 2.4)

เป้าหมายย่อยที่ 2.4 หรือ SDG 2.4 (สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาคุณภาพของดินและที่ดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี พ.ศ. 2573) เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ได้รับการศึกษาวิจัยภายใต้โครงการ “การวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของกลุ่มการจัดการของเสียและมลพิษ” เนื่องจากหากพิจารณาจาก SDG Index 2023 พบว่า SDG 2.4 จัดอยู่ในสถานะมีค่าต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤต สถานการณ์ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของค่าเป้าหมาย (สีแดง) ที่กำหนดให้มีพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนจำนวน 10 ล้านไร่ ภายในปี พ.ศ. 2573

ดังนั้น ควรมีการดำเนินการวิจัยอย่างเร่งด่วนเพื่อสืบหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นและเสนอแนะนโยบายซึ่งนำไปสู่กระบวนการขับเคลื่อนให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุสถานะเป้าหมาย ซึ่งสาเหตุของปัญหาอาจเกิดจากหลายปัจจัยที่มีส่วนเอื้อต่อการดำเนินงานของ SDGs เช่น ความสอดคล้องเชิงนโยบาย อำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน กฎกติกาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  เครือข่ายและความร่วมมือในการผลักดันประเด็นเชิงนโยบาย ระบบข้อมูลข่าวสารที่สนับสนุนการขับเคลื่อนที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ระบบบริหารจัดการและความเป็นผู้นำในประเด็นและทรัพยากรที่ใช้ในการขับเคลื่อน

งานวิจัยข้างต้นมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การสอบทานกระบวนการเก็บข้อมูลและการรายงานสถานะปัจจุบันของเป้าหมายย่อยที่ 2.4 และเพื่อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่ 2.4 และเพี่อวิเคราะห์ปัจจัยเอื้อที่มีต่อการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จใน 7 ประเด็นภายใต้กรอบ “INSIGHT” ประกอบด้วย 7 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ความสอดคล้องกันของกฎกติกาและนโยบายที่เกี่ยวข้อง (I: Institutional and Policy Coherence) 2) เครือข่ายและความร่วมมือในการผลักดัน (N: Network and Partnership) 3) องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง (ทั้งทางวิชาการ ประสบการณ์ทำงาน และภูมิปัญญาท้องถิ่น) และเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จำเป็น (S: Science, Technology, and Innovation) 4) ระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้น (เช่น ฐานข้อมูล แหล่งข้อมูลสถิติ แหล่งข้อมูล ความรู้ ฯลฯ) ที่เข้าถึงได้ง่ายและมีการอัพเดทต่อเนื่อง (I = Information System and Statistic) 5) ระบบบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายย่อย 6.3 และผู้รับผิดชอบ/ผู้นำในการขับเคลื่อน (G: Governance and Leadership) 6) ทรัพยากรมนุษย์และการเสริมสร้างศักยภาพ (H: Human Resource and Capacity Building) และ7) ทรัพยากรทางการเงินสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนา (T: Treasury)

ข้อค้นพบที่น่าสนใจจากงานวิจัย มีดังนี้ 

  • การนับพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน โดยเป็นการประมาณการ (พื้นที่ หน่วย: ไร่) นับตามพื้นที่ที่มีการส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรในแต่ละกิจกรรม ประกอบด้วย 5 รูปแบบ ตามกระทรวงเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ และวนเกษตร และตามขอบเขตนิยามขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)  นอกจากนี้ ตามการรายงานพื้นที่เกษตรกรรมทั้ง 5 รูปแบบ มีจำนวน 6 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ทับซ้อนกันบางส่วนของพื้นที่ 5 รูปแบบนี้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจัดทำฐานข้อมูลเพื่อบูรณาการพื้นที่ทั้ง 5 รูปแบบ เพื่อลดการนับพื้นที่ที่ซ้ำซ้อนกัน
  • การส่งเสริมการทำเกษตรยั่งยืน ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลัก เนื่องจากราคาของสินค้าอินทรีย์ไม่แตกต่างกับสินค้าทั่วไป และไม่มีตลาดมากพอในการรองรับปริมาณสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เพิ่มมากขึ้น แนวทางในการเพิ่มตลาดรองรับผลผลิตจากเกษตรยั่งยืน อาจใช้ตลาดต่างประเทศเป็นทางเลือกหนึ่ง ปัจจุบันมุ่งเน้นที่ตลาดส่งออกข้าว ซึ่งผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ส่วนใหญ่ส่งออกต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ และตะวันออกกลางนอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์อินทรีย์ เช่น ทุเรียน มังคุด ใบชาเขียว มะพร้าวอ่อน และน้ำกะทิ
  • เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเพื่อดำเนินการเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรยั่งยืนค่อนข้างน้อย เนื่องจากความยุ่งยากของการดำเนินการด้านเอกสาร การบันทึกรายการปัจจัยการผลิต และราคาของผลผลิตทางการเกษตร เช่น ราคาสัตว์น้ำ ไม่จูงใจ จึงทำให้เกษตรกรเกิดถอดใจกลางคันระหว่างการดำเนินการ นอกจากนี้ ยังพบว่า การส่งเสริมดังกล่าวที่เกิดขึ้นในกลุ่มของเกษตรกร ส่วนมากจะเป็นเกษตรกรรายเล็กที่ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์
  • ระบบการตรวจสอบและการรับรองมาตรฐาน ยังมีความไม่ชัดเจนของข้อกำหนดเกษตรยั่งยืนของ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) มีความซ้อนทับกับข้อกำหนดของเกษตรอินทรีย์ และยังคงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับประเทศไทยก่อนนำไปใช้ เนื่องจากที่ผ่านมาทดลองใช้แบบสอบถามตามแนวทางของ FAO พบว่า การใช้แบบสอบถามใช้เวลานานเกินไป จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานใด จะใช้เป็นตัวชี้วัดของการวัดความยั่งยืนในภาคการเกษตรได้ นอกจากนี้ ยังพบว่า เกษตรกรส่วนมากไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และ มกษ. 7436-2563 ของกรมประมง เนื่องจากรายละเอียดและขั้นตอนการปฏิบัติค่อนข้างยุ่งยาก เพราะต้องมีการจดบันทึก จึงทำให้เกษตรกรส่วนมากไม่ค่อยให้ความร่วมมือ
  • การทำเกษตรกรรมยั่งยืนยังไม่เป็นที่นิยมมากในประเทศไทย เนื่องจากรายละเอียดและขั้นตอนการปฏิบัติค่อนข้างยุ่งยาก ทำให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรยั่งยืน และการปรับเปลี่ยนจากเกษตรทั่วไปเป็นเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรยั่งยืน ทำให้ผลผลิตน้อยลงกว่าเดิม โดยในปีแรกอาจลดลงถึงร้อยละ 50 นอกจากนี้ ยังพบว่า ราคาขายของสินค้าเกษตรอินทรีย์หรือสินค้าเกษตรแบบยั่งยืน ไม่ได้มีราคาที่ค่อนข้างแตกต่างมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าเกษตรทั่วไป รวมถึงไม่มีตลาดที่ดีที่ช่วยให้เกษตรกรไว้วางใจในการทำเกษตรแบบยั่งยืน
  • ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่สามารถประเมินตามวิธีคำอธิบายชุดข้อมูล (metadata) ที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ ซึ่งต้องพิจารณาและประเมินตัวชี้วัดทั้ง 11 หัวข้อ (theme) โดยครอบคลุม 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสิ่งแวดล้อม และมิติด้านสังคม ตามเกณฑ์การพิจารณาความยั่งยืนของการประเมินตามระเบียบของ FAO กำหนดให้รายงานสถานะแต่ละตัวชี้วัดในรูปแบบของ 3 สี ได้แก่ สีเขียว (ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ) สีเหลือง (ผลเป็นที่ยอมรับได้) และสีแดง (ไม่มีความยั่งยืน) โดยแตกต่างจากการประเมินสถานะความยั่งยืนของเป้าหมายย่อยตามแนวทางของ สศช. จากการประเมินข้อมูลจำนวนพื้นที่ที่ดำเนินการด้านเกษตรกรรมยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งพบว่า การขยายตัวและส่งเสริมของพื้นที่การทำเกษตรกรรมยั่งยืนที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายอยู่ในเกณฑ์สีแดง ซึ่งต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดให้มีพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนจำนวน 10 ล้านไร่ภายในปี พ.ศ. 2573

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยยังให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการขับเคลื่อน SDG 2.4 โดยแบ่งตามมาตรการด้านต่าง ๆ ดังนี้ 

  • มาตรการด้านกฎหมาย : ควรมีการกำหนดแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนระดับนโยบายให้ชัดเจน หากใช้วิธีการเข้าร่วมแบบสมัครใจเหมือนที่ผ่านมา อาจบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันมีการสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิต การรณรงค์ การสนับสนุนเรื่องการทำเกษตรแบบยั่งยืน อย่างไรก็ตาม เกษตรกรมีความรู้ แต่ไม่ได้ปฏิบัติตาม เนื่องจากการเข้าร่วมดำเนินการเกษตรยั่งยืนในประเทศไทยเป็นรูปแบบภาคสมัครใจ และไม่มีมาตรการรองรับหรือบังคับจากหน่วยงานของรัฐบาล ทั้งนี้ ปัญหาสำหรับเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นการทำเกษตรกรรมที่ปฏิบัติอยู่ในกลุ่มเกษตรกรขนาดเล็ก ทำให้ผลการดำเนินงานไปไม่ถึงในระดับนโยบาย ดังนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการทางกฎหมาย เพื่อให้มีนโยบายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องร่วมมือกันในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน โดยมีการจัดตั้งหน่วยเฉพาะทางขึ้นมาดูแล
  • มาตรการทางเศรษฐศาสตร์และภาษี: ประกอบด้วยหลายมาตรการ ได้แก่
    • 1) มาตรการการเก็บภาษีสารเคมีอันตราย พิจารณาตามระดับความรุนแรงของสารเคมี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนมาใช้สารทางชีวภาพเพื่อกำจัดศัตรูพืช อย่างไรก็ดี ภาครัฐจำเป็นจะต้องสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสารชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ ไม่กระทบต่อผลิตผล รวมถึงมีราคาที่ไม่สูงจนเกินไป 
    • 2) มาตรการด้านตลาด/ภาษี ผลักดันสินค้าจากเกษตรกรรมยั่งยืนเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ โดยยกเว้นการใช้กลไกการประมูลสำหรับสินค้าเกษตรกรรมยั่งยืน และสนับสนุนให้การซื้อสินค้าเกษตรกรรมยั่งยืน สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เพื่อจูงใจผู้บริโภคและกระตุ้นการบริโภคในตลาดสินค้าเกษตรกรรมยั่งยืน
    • 3) มาตรการพักชำระหนี้ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรแบบดั้งเดิมมาทำการเกษตรแบบยั่งยืนต้องใช้เวลานานก่อนที่จะสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต อีกทั้ง ต้องใช้เงินลงทุนในการซื้อเมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยี การฟื้นฟูสุขภาพดิน หากมีมาตรการพักชำระหนี้ จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนมาทำเกษตรกรรมยั่งยืนมากขึ้น
    • 4) มาตรการสินเชื่อสีเขียว/สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน สนับสนุนการให้เงินกู้สีเขียว/เงินกู้เพื่อความยั่งยืนมีอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษแก่เกษตรกรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนหรือลงทุนในการเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบยั่งยืน 
    • 5) มาตรการสนับสนุนทางการเงินของรัฐ การสนับสนุนการให้เงินสนับสนุนแบบมีเงื่อนไข เพื่อขับเคลื่อนและปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่วิถีเกษตรกรรมยั่งยืนในระยะยาว เช่น การไม่เผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การบันทึกข้อมูลการใช้ปัจจัยการผลิตในการเพาะปลูก 
  • การจัดตั้งสถาบันเฉพาะทาง : เนื่องจากการดำเนินงานในปัจจุบันของประเทศไทยด้านเกษตรกรรมยั่งยืน มีหลายหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน เช่น การตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรของการทำเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่ 1 แปลงที่ไม่ได้ทำการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (monocropping) ประกอบด้วย การเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงปลา การปลูกข้าว และการปลูกผักผลไม้นั้น มีหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมการข้าว และกรมวิชาการเกษตร ทำให้การดำเนินงานต้องมีหลายขั้นตอนและใช้ระยะเวลาค่อนข้างมากในการดำเนินการ ดังนั้น ควรจัดตั้งสถาบันที่เฉพาะเจาะจงในด้านเกษตรอินทรีย์หรือสถาบันเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเข้ามาดูแล บริหารจัดการ ส่งเสริมสนับสนุนการทำเกษตรกรรมยั่งยืน และจัดทำรายงานเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรยั่งยืนภายในประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน พัฒนาความรู้ นวัตกรรม และฐานข้อมูล และเพื่อให้การดำเนินงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืนของประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

กล่าวโดยสรุป เกษตรกรรมยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยการจัดการและความร่วมมือที่จริงจังจากหลายภาคส่วน และต้องอาศัยมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางการเงินเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก นอกจากนี้การจัดต้องหน่วยงานหรือสถาบันที่จะเข้ามามีบทบาทหน้าที่ดูแลประเด็นเกษตรกรรมยั่งยืนโดยตรง จะเป็นผลดีต่อการดำเนินงานที่มีความรวดเร็วและลดขั้นตอนที่ซับซ้อนเกินความจำเป็นลงได้ 

อติรุจ ดือเระ– ผู้เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาคุณภาพของดินและที่ดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี พ.ศ. 2573

Policy Brief ฉบับนี้เป็นบทความในชุดข้อมูลภายใต้โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา สนับสนุนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 1. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 2. เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) 3. ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) 4. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5. หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง (Urban Futures & Policy)  6. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) 7. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 8. คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และ 9. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSRI) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567

.

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น