สัตว์-พืช กว่าล้านสายพันธุ์เสี่ยงสูญพันธุ์เร็วขึ้น ผลจาก climate change เเละมลพิษ กระทบระบบนิเวศทั่วโลก

ทุกวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (United Nation: UN) ประกาศให้เป็นวันสากลเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (International Day for Biological Diversity) สำหรับปีนี้ได้กล่าวถึงรายงานความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เชื่อมโยงถึงกัน (Interconnected Disaster Risks) ฉบับล่าสุด โดยมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ (United Nations University) ระบุว่า ปัจจุบัน สัตว์และพืชกว่าเกือบหนึ่งล้านสายพันธุ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์และในบรรดาสัตว์ที่เสี่ยงเหล่านั้น คือ เต่าโกเฟอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตเก่าแก่ที่สุดในโลก ที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์เนื่องจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Loss of Biodiversity) โดยอาจสร้างผลกระทบต่อการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ 

‘เต่าโกเฟอร์’ เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทำหน้าที่เหมือนสถาปนิกของระบบนิเวศ มีส่วนในการช่วยสร้างที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์อื่น ๆ กว่า 350 สายพันธุ์ เนื่องจากขาของเต่าโกเฟอร์ ทำหน้าที่เสมือนพลั่วคอยขุดโพรงขนาดใหญ่ใต้ดินให้สัตว์อื่น ๆ จำนวนมาก ใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่หลบภัย ซึ่งปัจจุบัน เต่าโกเฟอร์กำลังได้รับผลกระทบจากการถูกรุกรานของสัตว์ต่างถิ่น และกิจกรรมของมนุษย์ที่กำลังคุกคามสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มากที่ขึ้นทำให้เข้ามารุกรานถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (invasive alien species) ส่งผลให้ทำลายระบบนิเวศเเละเร่งให้เกิดการสูญพันธุ์ที่เร็วกว่าการสูญพันธุ์ตามธรรมชาติหลายร้อยเท่า และหากเต่าโกเฟอร์สูญพันธุ์ อาจสร้างผลกระทบเป็นโดมิโนแก่ระบบนิเวศ 

อย่างไรก็ดี การจัดการกับวิกฤติความหลากหลายทางชีวภาพจำเป็นต้องมีแนวทางที่หลากหลาย โดยต้องตระหนักถึงความเชื่อมโยงกันของความเสี่ยงและแนวทางแก้ไข ซึ่งวันสากลเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ได้เรียกร้องให้ทุกคนสนับสนุนการดำเนินการตามแผนความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยับยั้งและฟื้นฟูการสูญเสียธรรมชาติ ภายในปี 2593 

นอกจากนี้ หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของรายงานดังกล่าว คือการลดอัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์ทุกชนิดสิบเท่า ภายในกลางศตวรรษ และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าพื้นเมืองให้อยู่ในระดับที่มีสุขภาพดีและฟื้นตัวได้ ซึ่งต้องขยายการอนุรักษ์ไม่เพียงแค่ในบางสายพันธุ์ แต่ต้องครอบคลุมทั้งระบบนิเวศ ทำให้จึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความอยู่รอดให้แก่สิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG14 นิเวศทางทะเลและมหาสมุทร
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.5) ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี พ.ศ. 2563 ปกป้องและป้องกันการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม
– (15.7) ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อจะยุติการล่าและการขนย้ายชนิดพันธุ์พืชและสัตว์คุ้มครอง และแก้ปัญหาทั้งอุปสงค์และอุปทานต่อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย
– (15.c) เพิ่มพูนการสนับสนุนในระดับโลกแก่ความพยายามที่จะต่อสู้กับการล่า การเคลื่อนย้ายชนิดพันธุ์คุ้มครอง รวมถึงโดยการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น

แหล่งที่มา: Accelerating extinction rate triggers domino effect of biodiversity loss – UN News 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Last Updated on มิถุนายน 4, 2024

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น