วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2567 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 หรือ ‘EconTU Symposium’ ครั้งที่ 45 ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืนเพื่อการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030” โดยมี ผศ. ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนากับ ดร.สมัย โกรทินธาคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำเสนอผลงานเซนชันที่ 2 หัวข้อ “การประเมินผลสัมฤทธิ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของการทำโคก หนอง นา” SDG Updates ฉบับนี้ ชวนผู้อ่านสำรวจประเด็นสำคัญจากวงเสวนาข้างต้น เพื่อเป็นพื้นที่สื่อสาร และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ
01 – ความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘โคก หนอง นา โมเดล’
ผศ. ดร.เกียรติอนันต์ เริ่มต้นการสัมมนา ด้วยการชวนทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ ว่าเมื่อกล่าวถึงโครงการนี้จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายมิติ ไม่จำเป็นแค่ในภาคการเกษตรเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
โดยภาพใหญ่เป็น ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ภาพเล็กลงมาคือ ‘ภาคเกษตร’ และเจาะเฉพาะลงไป ‘โคก หนอง นา’ กล่าวคือเป็นหนึ่งในวิธีการใช้ที่ดินที่เน้นการออกแบบพื้นที่เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ รวมทั้งเพิ่มพื้นที่รับน้ำ ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นเสมือนตะกร้าที่จะใส่ของหลาย ๆ อย่างไว้ข้างใน เช่น น้ำ พืชยืนต้น พืชผักสวนครัว พื้นที่ทำเกษตร อีกจุดเน้นของโครงการนี้คือเรื่องการตั้งรับปรับตัว (resilience) ในการฟื้นคืนตัวเองหรือประคองตัวเองในสภาวะวิกฤตต่าง ๆ ได้
ทั้งนี้ หากมองในเชิงความสำเร็จและผลกระทบ ซึ่งเป็นประเด็นคำถามที่มักมีต่อโครงการนี้ อาจกล่าวได้ว่า “ต้องมองโครงการนี้ในฐานะตะกร้าที่คนถือเพื่อใช้ชีวิต ถ้าวัดแค่รายได้ว่าทำแล้วรวยอันนี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์หรือถ้ามองว่าทำแบบสังคมดีก็ไม่ใช่วัตถุประสงค์ แต่เป็นตะกร้าที่พยายามจะพาทุกอย่างไปด้วยกัน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเราทำทุกอย่างไปด้วยกันมันอาจขยับช้า แต่ในความขยับช้านั้นก็มีข้อดีอยู่”
02 – แนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์และผลลัพธ์
ประเด็นสำคัญต่อมา ผศ. ดร.เกียรติอนันต์ ฉายภาพและชวนสำรวจแนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของการทำโคก หนอง นา โดยตั้งต้นให้เห็นว่าโครงการนี้ถูกออกแบบสำหรับดูแลชีวิตอย่างครอบคลุมทั้งระดับพื้นที่ที่ดำเนินการกันเองและระดับชุมชน ประการแรกจึงต้องมองอย่างรอบด้านโดยให้สอดรับไปกับแผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 12 ซึ่งมี 6 มิติ ได้แก่ สุขภาพ การพัฒนาทักษะและความรู้ การทำงานที่มีคุณค่าอย่างมั่นคง การกระจายรายได้ สภาพแวดล้อม และสภาพความเป็นอยู่ในครอบครัว ซึ่งการดำเนินการประเมินใช้หลักคิดเหล่านี้มาปรับแปลงเป็นแบบสอบถามสำหรับวัดผลในเชิงพื้นที่ โดยพิจารณาเปรียบเทียบ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก เปรียบเทียบระหว่างเกษตรกรที่เข้าร่วมและไม่ได้เข้าร่วมโครงการ และส่วนที่สอง เปรียบเทียบสิ่งที่คาดหวังก่อนเข้าร่วมโครงการ
อย่างไรก็ตาม ผศ. ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวด้วยว่าตนไม่ได้ร่วมการประเมินนี้ตั้งแต่ต้น แต่มาร่วมหลังจากดำเนินการไปแล้วประมาณ 12 เดือน เพราะฉะนั้นแนวทางที่เลือกจึงอาจไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุด แต่เป็นแนวทางที่ดีรองลงมา กล่าวคือการนำข้อมูลพิกัด GPS ของโคก หนอง นา ที่ดำเนินการไปแล้วเป็นภาพดาวเทียมมาใช้ โดยขีดเส้นรัศมี 5 กิโลเมตร จากภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อเลือกพื้นที่การเกษตรจากทะเบียนเกษตรกรที่มีพื้นที่ใกล้เคียงกับเกษตรกรที่ร่วมโครงการมาเป็นคู่เทียบ ซึ่งมีข้อควรระวัง คือ เมื่อนำ 2,000 ครัวเรือนที่เป็นเกษตรกรใกล้ ๆ โคก หนอง นา เทียบกับเกษตรกรที่อยู่ในโคก หนอง นา แยกตามภาค อย่างน้อยจำนวนตัวอย่างที่มากพอน่าจะอธิบายความต่างว่าถ้ามีข้อมูลมากขนาดนี้เทียบกันมันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญอะไรบ้าง
เมื่อได้ข้อมูลนำมาเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม และมีการกระจายตามภูมิภาค โดยใช้ข้อมูลพิกัด GPS ดึงจากภาพดาวเทียมมาก่อน จุดแดง ๆ คือพื้นที่โคก หนอง นา หลังจากนั้นเขียน code เพื่อหาพื้นที่เกษตรกรรอบ ๆ โคก หนอง นา ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันจากทะเบียนเกษตรกร เช่น ขนาดพื้นที่ใกล้กัน หัวหน้าครัวเรือนอายุใกล้กัน และปลูกพืชลักษณะใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นในหนึ่งหรือสองตำบลที่ใช้จะมีกลุ่มตัวอย่าง 2 แบบ เพื่อการเปรียบเทียบ โดยโฟกัสที่ HLM หรือครัวเรือนเป็นสำคัญ ทำให้เห็นว่าแต่ละคู่แตกต่างกันเรื่องอะไร เช่น เรื่องรายได้ โดยทางสถิติเรียกว่า ‘propensity score matching’ คือนำคะแนนที่ใกล้กันและจับคนที่มีแนวโน้มว่ามีลักษณะใกล้เคียงกันมาเปรียบเทียบกันในทุก ๆ ด้าน เพื่ออธิบายว่าความต่างที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการหรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ การสัมภาษณ์ไม่ได้เพียงพูดคุยกับเกษตรกรแล้วเก็บข้อมูลเชิงสถิติ แต่คุยตั้งแต่ผู้ดูแลโครงการ เกษตรกรทั้งที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมโครงการ และปราชญ์ชุมชน เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงคุณภาพมาเสริม ซึ่งช่วยให้เห็นประเด็นสำคัญ เช่น
- ในแง่เศรษฐกิจความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นในเชิงรายได้ทันที แต่เกิดขึ้นในเรื่องความมั่งคั่งของการถือครองสินทรัพย์บางอย่าง เช่น การไม่ต้องออกไปจ่ายตลาดและมีเงินสะสมเพิ่มขึ้น ทรัพยากรเพิ่มขึ้น และความมั่งคั่งจากการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการซ่อมอุปกรณ์ เพราะการปลูกพืชเชิงเดี่ยวใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เข้มข้นมาก เมื่อซ่อมอุปกรณ์หรือเครื่องจักรแต่ละครั้งใช้ค่าใช้จ่ายมาก
- สันติภาพและความยุติธรรม การทำโคก หนอง นา เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะฉะนั้นในบางพื้นที่ที่มีเกษตรกรที่ใช้สารเคมีอยู่ เวลามีการประชุมก็จะมีการถกเถียงกัน ต่อยอดสู่กระบวนการแก้ไขความขัดแย้งในพื้นที่ในลักษณะโคก หนอง นา ถูกนำไปใช้แก้ปัญหาอื่น ๆ
- ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่เข้าไปปอยู่ในโคก หนอง นา เพื่อปลูกผักทำการเกษตรก็ประหยัดค่าใช้จ่ายให้ครอบครัว
- ผลดีต่อสิ่งแวดล้อม
- การพัฒนาคน โคก หนอง นา เป็นเครื่องมือในการต่อยอดการสร้างนักธุรกิจการเกษตรรุ่นใหม่ จากการขายของจากการแปรรูป
ผลในเชิงเปรียบเทียบที่น่าสนใจ เช่น
- คนที่ทำโคก หนอง นา ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย โดยประมาณ 1 ใน 3 จะอายุมากกว่า 60 ปี เนื่องจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวแบบเดิมใช้กำลังเยอะจึงเปลี่ยนมาเป็นทำเพื่อให้พออยู่พอกิน
- คนที่ทำโคก หนอง นา ประมาณ 80% มีการศึกษาไม่เกินระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่กลับมีความลุ่มลึกในการมองเห็นปัญหาค่อนข้างน่าทึ่งมาก อย่างไรก็ดี ในจำนวนดังกล่าวมีบางส่วนที่เข้าร่วมโครงการเพราะตามเพื่อนหรือหวังเพียงได้รับผลประโยชน์จากรัฐ ส่งผลให้แม้ว่าทุกคนได้รับการอบรมที่ศูนย์การเรียนรู้แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนเข้าใจเกี่ยวกับโครงการและการดำเนินการเท่ากัน
- เปรียบเทียบระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการและไม่เข้าร่วมโครงการ จากตอนแรกเข้าร่วม 47 คน มีประมาณ 3 คนที่ถอนตัวระหว่างการดำเนินการ แม้จะเป็นตัวเลขเล็ก ๆ แต่ก็สะท้อนว่าโคก หนอง นา อาจไม่ใช่เครื่องมือที่เหมาะกับทุกที่และทุกคน
- ปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์นับเป็นหนึ่งปัจจัยเงื่อนไขที่ท้าทายต่อการจะทำให้โครงการนี้เกิดความแพร่หลายเนื่องจากบางพื้นที่ปรับภูมิทัศน์ไม่ได้เลย เพราะ 2 เมตรใต้พื้นเป็นหินที่เจาะไม่ได้ การจะใช้โคก หนอง นา กับทุกที่ในประเทศไทยจึงไม่เหมาะ
- ผลจากการดเนินการพบว่าพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่สีเขียว ส่วนพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 1 ส่วน 5 ไร่ ซึ่งเพียงพอต่อการใช้ประโยชน์
- รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ประมาณ 7,000 บาทต่อเดือน หรือ 84,000 บาทต่อปี ชั่วโมงทำงานหลักมีความน่าสนใจ โดยลดลงต่อสัปดาห์ ประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า ๆ เพราะไม่จำเป็นต้องดูแลพืชใกล้ชิดเหมือนแต่ก่อน โดยเฉพาะคนที่ทำโครงการประมาณ 6 – 7 เดือนไปแล้ว และพืชเริ่มโตดูแลตัวเองได้ และสุดท้ายคือมีชั่วโมงในการทำงานหรือกิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มขึ้น กล่าวคือลด 2 ชั่วโมง แต่เพิ่มเวลาทำอย่างอื่น 3 ชั่วโมง เพราะทำโคก หนอง นา เหนื่อยน้อยกว่า เวลาที่จะพักฟื้นตัวเองน้อยกว่า สามารถเอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้
การศึกษามีการใช้ดัชนีการกระจาย (Diffusion Index) ตัวดัชนีนี้คิดง่าย ๆ คือสมมุติทุกคนคาดการณ์เลขและซื้อ และทุกคนถูก diffusion index จะถึง 100 คือทุกคนสมหวัง ถ้าเกิดซื้อ 50 คนถูก 50 คนไม่ถูก แต่คาดว่าจะถูกทุกคน diffusion index จะเป็น 0 ถ้าเกิดถูก 10 คน 90 คนไม่ถูก diffusion index จะติดลบ เพราะฉะนั้นตัวมันจะไม่บอกเงิน แต่จะบอกว่าโดยรวมของโครงการผู้เข้าร่วมสมหวังหรือผิดหวัง จุดพวกนี้คือเส้น เราแบ่งโซนออกเป็น 0 คือสมหวังกับผิดหวังพอ ๆ กัน เพราะฉะนั้นโครงการนี้ถัว ๆ ไม่มีอะไร ถ้าเป็นโซนสีแดงอ่อนคือผิดหวังน้อยหน่อย ถ้าสีแดงคือจำนวนคนผิดหวังมาก สีเขียวอ่อนคือสมหวังระดับหนึ่ง ส่วนสีเขียวคือคนส่วนใหญ่สมหวังในด้านนั้น
โดยสรุป เนื่องจากเป็นโครงการระยะสั้น เห็นได้ว่าส่วนใหญ่ถ้าโดยภาพรวมไม่สมหวังคือรายได้ไม่ได้เพิ่มอย่างที่คิด จะมีการขายฝันโคก หนอง นา ว่าทำให้รวยได้ก็มี เงินออมไม่ได้เพิ่มขึ้น คือไม่ได้เป็นหนี้มากขึ้นแต่เงินออมเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดหวัง หนี้สินที่คาดว่าจะลดเยอะก็ลดแต่ไม่มากเท่าที่คาดหวัง แต่ในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาวะทั้งหมดดีหมดเลย แต่ยังเป็นผลระยะสั้นที่ต้องตามต่อ อย่างน้อยพอเริ่มทำเจ็บปวดน้อยลง สุขภาพจิตดีขึ้น ครอบครัวดีขึ้น มีเวลาอยู่ด้วยกัน เข้าใจกัน และลดความกดดันเรื่องรายจ่าย ความมั่นคงทางอาหาร เรื่อง resilience การปลูกพืชผสมผสานมีความสามารถในการชะลอและดูดซับน้ำ ลดภัยพิบัติ เวลาเจอภัยแล้งก็ใช้น้ำช่วย เวลาฝนตกหนักก็มีพื้นที่รองรับน้ำ เรื่องการผันผวนสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมไม่น่าห่วง เพราะฉะนั้นดูจากภาพรวมคนสมหวัง แต่ผิดหวังเรื่องรายได้แต่ส่วนอื่น ๆ ก็สมหวัง ถ้าเรามอง 2 ฝั่งก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม
ในระดับชุมชน หลังจากที่มีโคก หนอง นา เข้ามาในชุมชนแล้วมองมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพราะเศรษฐกิจยังไม่เปลี่ยนมาก ก็จะเห็นว่าทุกอย่างดีขึ้น ซึ่งตัวหนึ่งที่ออกมาทีหลังที่ไม่ได้อยู่ในคำถาม แต่ได้ข้อมูลตอนสัมภาษณ์คือเศรษฐกิจรายคนไม่ดีขึ้นแต่เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น เกิดจากการชำระหนี้ในชุมชนดีขึ้นเพราะมีกำลังในการชำระหนี้ดีขึ้น ชุมชนที่มีศูนย์เรียนรู้จะมีคนมารับซื้อผัก หรือมีการนำผลผลิตไปขายข้างนอกด้วย เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น เงินหมุนเวียนมากขึ้นในชุมชน นอกจากนั้นก็จะดีขึ้นมากน้อยต่างกันไป
อย่างไรก็ตาม แม้มีผลดีทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม แต่โคก หนอง นา ไม่ใช่ยาแก้ทุกอย่าง การทำเกษตรแบบเดียวไม่สามารถจะกู้โลกได้ เพราะเหมาะกับบางพื้นที่และบางบริบท ทั้งยังมีข้อจำกัดเรื่องวิธีคิดที่ไม่เหมือนกันทำให้การเริ่มต้นดำเนินการก็ไม่เหมือนกัน อีกเรื่องคือการทำงานที่ขาดการประสานกัน เช่น ทรัพยากรปลาและต้นไม้ที่เกษตรกรอาจได้รับจากหน่วยงานที่แตกต่างกัน ทำให้การดำเนินงานติดขัดไม่ทันตามแผนที่วางไว้ บางครั้งปลามาแล้ว แต่ยังไม่ขุดดินทำบ่อ ทำให้ต้องส่งปลาไปที่อื่นก่อน
จากตัวเลขทั้งหมดจะย้ำอีกทีว่า ในขณะที่เราพูดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน มักจะมีกระแสว่ายั่งยืนแบบไหน ค่ายหนึ่งก็บอกว่ายั่งยืนคือการทำเกษตรอยู่กับเขียวตลอดชีวิต อีกค่ายก็บอกว่ายั่งยืนแบบผสมผสาน ในฐานะของคนที่ทำเรื่องนี้ความยั่งยืนมันแล้วแต่บริบท ธุรกิจก็ยั่งยืนได้ เกษตรก็ยั่งยืนได้ ท่องเที่ยวโรงแรมก็ยั่งยืนได้ แต่เครื่องมือในแต่ละที่จะแตกต่างกัน ถ้าเกษตรก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน แต่ต้องไม่ใช่มิติยั่งยืนแบบที่คนไม่สามารถหาประโยชน์ได้ แต่ในขณะเดียวกันการใช้ประโยชน์อย่างเกินกำลังพื้นที่ก็จะเสื่อมโทรมเหมือนกัน ประเด็นสุดท้ายคือถ้ามีใครบอกให้ใช้โคก หนอง นา ทั้งประเทศอันตรายมาก ไม่ได้เหมาะกับทุกคนจริง ๆ และมันมีเกษตรทางเลือกอีกหลายแบบ เพิ่งไปลงพื้นที่เพิ่มเตรียมตัวมาได้เจอกับเกษตรสูงวัย ก็คือให้งบจ้างคนพิการในหมู่บ้านมาปลูกผักแปลงใหญ่ ๆ ไว้ข้างบ้านเกษตรกรที่อายุเกิน 70 ปี เพื่อหลอกให้เกษตรกรออกมาเก็บผักขาย และออกกำลัง ซึ่งทำให้ทั้งมีรายได้และได้ออกกำลังด้วย
03 – ถกถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ผศ. ดร.สมัย โกรทินธาคม ให้ความเห็นต่องานศึกษาการประเมินผลสัมฤทธิ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของการทำโคก หนอง นา” ของ ผศ. ดร.เกียรติอนันต์ ว่าเป็นงานที่ใช้เวลาศึกษากว่าปี มีแบบจำลองและตัวแปรมากมาย มีพื้นที่จำนวนมาก ทำให้ประเด็นที่น่าสังเกตอย่างน้อย 7 ประเด็น ได้แก่
- โครงการโคก หนอง นา หากเกษตรกรต้องการเข้าร่วมต้องทำสัญญาอะไรบางอย่างกับภาครัฐ ซึ่งเงื่อนไขบางอย่างก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการเองได้ เช่น การขุดดิน ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทำให้มีจำนวนคนที่ไม่เข้าร่วมเยอะ
- ชื่อเรื่องเป็นการประเมินผลสัมฤทธิ์ แต่เมื่ออ่านไปยังไม่พบเกณฑ์ว่าอะไรคือคำว่าสัมฤทธิ์ หรือไม่สัมฤทธิ์ มีเกณฑ์ขั้นต่ำตั้งไว้หรือไม่ อีกกรณีคือเรื่องของเวลา ซึ่งไม่แน่ใจในรายละเอียด เพราะไม่พบในบทความ คิดว่าจุดตั้งต้นของเกษตรกรแต่ละรายไม่เท่ากัน บางคนเริ่มไปแล้วหลายเดือน บางคนก็เพิ่งเริ่ม จึงตั้งเป็นข้อสังเกตว่ามีวิธีอย่างไรในการจัดการตรงนี้อย่างไร
- เรื่องความคาดหวังที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งมีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน คือ หนี้สิน เงินออม และรายได้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สำคัญในเชิงคุณภาพ ไม่แน่ใจว่ามีการตั้งคำถามในเชิงว่าเขาอยากไปต่อหรือพอแค่นี้ จะได้ข้อมูลในเชิงคุณภาพมาตอบให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
- มีการพูดถึงตัวแปรรบกวน ก็อยากเห็นว่ามีการจัดการตัวแปรเหล่านี้อย่างไรในเชิงเทคนิค
- มีการทบทวนวรรณกรรมหลากหลายชิ้นงาน แต่ตอนสรุปแทบไม่ได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงของงานศึกษาทั้งหลายว่ามีความเหมือนหรือความแตกต่างจากงานศึกษาชิ้นนี้อย่างไร ทำให้ยังมีช่องว่างที่สงสัยว่าไม่เคยมีใครทำมาก่อนเลย ครั้งนี้เป็นการศึกษาเรื่องนี้ครั้งแรกใช่หรือไม่
- อาจเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับมูลเหตุและแรงจูงใจให้เข้าร่วมโครงการ เช่น ทำไมถึงอยากเข้าร่วม มีความคาดหวังอะไร หรือเปรียบเทียบว่าคนที่ไม่เข้าร่วมมีลักษณะเป็นแบบไหน
- กลไกเชิงสถาบัน หรือหน่วยงานที่ควรเข้ามามีบทบาท ยังมองเห็นไม่ชัดว่าแต่ละหน่วยงานเข้ามาทำหน้าที่อะไรบ้างในการช่วยให้พื้นที่ประสบความสำเร็จ ถ้าเกิดไม่มีส่วนนี้จะหาข้อสรุปและข้อเสนอเชิงนโยบายได้ยาก
นอกจากนี้ ผศ. ดร.สมัย ได้ให้ข้อคิดเห็นต่อข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่า “ควรมีการเขียนในลักษณะกว้าง ๆ เนื่องจากมีหลายข้อที่เสนอให้มีการปรับปรุง แต่บางข้ออาจไม่ได้มาจากการศึกษาแต่ยังล่องลอยอยู่ เช่น ข้อเสนอให้รัฐสนับสนุนช่องทางด้านการตลาด จัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า คิดว่าเรายังไม่รู้เลยว่าผลผลิตที่ออกจากโครงการมีอะไรบ้าง อันนี้ยังนึกภาพไม่ออก และเรื่องของการเสนอให้รัฐมีบทบาทในเรื่องการตลาด คิดว่าอาชีพนักเศรษฐศาสตร์ไม่ค่อยอยากให้ภาครัฐเข้ามายุ่มย่ามระบบตลาดมาก เพราะว่าประสบการณ์ที่ผ่านมา จะเห็นว่าอะไรก็ตามที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องก็จะเหี่ยวเฉาในไม่ช้า เช่น ปอ น้ำมันละหุ่ง ข้าว ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ก็จะพบว่ารัฐเข้ามาแล้วมันรวน ข้อเสนออีกอันเป็นของผมเอง ก็คิดว่าสิ่งที่อ.เกียรติอนันต์เล่ามาน่าจะมีการถอดเทป เอาคำบ่นและความคิดเห็นของเกษตรกรหรือเจ้าหน้าที่ที่ไปสัมภาษณ์มามาคัดกรอง และมาเติมในเชิงคุณภาพ อันนี้จะมีสีสันมากและเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพที่เป็นประโยชน์ ตอนจบปัญหาและอุปสรรคก็จะสมบูรณ์แบบมากกว่าเดิม สุดท้ายคิดว่าข้อจำกัดนี้เป็นเรื่องรอง คือจะมีการพูดถึงข้อจำกัดการศึกษาก่อนอภิปรายผล ซึ่งควรย้ายไปข้างหลังและค่อยอภิปรายผล
04 – บทสรุป
ผศ. ดร.เกียรติอนันต์ ชี้ว่าโคก หนอง นา เป็นหนึ่งในเครื่องมือแต่ไม่ใช่ยาแก้สำเร็จรูป เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่าใช้โคก หนอง นา เหมาะกับทุกที่จึงอาจไม่ใช่ แต่ก็ควรให้ความสำคัญกับโคก หนอง นา เพราะมีส่วนที่ส่งผลดีต่อทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และที่น่าสนใจคือคนที่ประสบความสำเร็จกับการทำโครงการนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ที่ดินทั้งหมดทำโคก หนอง นา และที่น่าทึ่งคือเกษตรกรมองว่าที่ของตัวเองก็เหมือนซื้อหุ้น ต้องมีหุ้นที่เป็น ‘blue chip’ ที่สร้างรายได้สูง และกันที่ส่วนหนึ่งไว้เป็น ‘defensive stock’ หรือพื้นที่สีเขียวไว้ทำโคก หนอง นา โดยคนที่มีพื้นที่ 5 ไร่ขึ้นไปทำแบบนี้เกือบทั้งหมด เหมือนมีเมือง 2 ชั้น ถ้าเมืองแรกโดนตีแตกก็ไม่อดตาย เพราะฉะนั้นก็จะไม่กังวลเรื่องผลผลิตมากเพราะสุดท้ายที่บ้านก็ยังมีกิน โคก หนอง นา จึงเป็นเครื่องมือในการกระจายความเสี่ยงของภาคเกษตรแบบที่ไม่จำเป็นต้องทุ่มสุดตัว ท้ายที่สุดสะท้อนว่าความยั่งยืนทางด้านการเกษตรคือการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ยั่งยืน และไม่ได้ตอบโจทย์แค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย
อติรุจ ดือเระ – ผู้เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ
รับชมวิดีโอบันทึกย้อนหลัง : ที่นี่
ติดตามสรุปสาระสำคัญทั้งหมด : ที่นี่
SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความในชุดข้อมูลภายใต้งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 หรือ ‘EconTU Symposium’ ครั้งที่ 45 สนับสนุนโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องในเดือนกันยายน 2567