เมื่อเดือนที่ผ่านมา สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics and Peace – IEP) เผยแพร่รายงาน ดัชนีสันติภาพโลก 2568 (Global Peace Index 2025) ซึ่งจัดทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 โดยพิจารณาการจัดอันดับตามระดับความปลอดภัยและความมั่นคงของสังคม ความขัดแย้งภายในและภายนอกประเทศ และอิทธิพลอำนาจทางทหาร โดยปีนี้ภาพรวมของโลกยังคงน่ากังวล ระดับความสงบสุขทั่วโลกลดลง 0.36% ซึ่งนับเป็นปีที่ 6 ติดต่อกันที่ดัชนีชี้ว่าโลกมีแนวโน้มความสงบสุข “แย่ลง” ขณะที่ไทยเองก็ตกอันดับอยู่ที่ 86 จากอันดับที่ 75 ในปีก่อนหน้า สะท้อนถึงความท้าทายด้านความมั่นคงทั้งในและนอกประเทศ
การจัดอันดับของรายงาน ดัชนีสันติภาพโลก 2568 ถูกจัดอันดับครอบคลุม 163 ประเทศและเขตแดน คิดเป็น 99.7% ของประชากรโลก โดยประเทศที่ติด 10 อันดับแรกประเทศที่มีสันติภาพ ‘มากที่สุด’ ในโลก ประกอบด้วย 1) ไอซ์แลนด์ 2) ไอร์แลนด์ 3) นิวซีแลนด์ 4) ออสเตรีย 5) สวิตเซอร์แลนด์ 6) สิงคโปร์ 7) โปรตุเกส 8) เดนมาร์ก 9) สโลวีเนีย และ 10) ฟินแลนด์ ตามลำดับ
ขณะที่ประเทศที่มีสันติภาพ ‘น้อยที่สุด’ ในโลกอยู่ใน 10 อันดับสุดท้าย ประกอบด้วย มาลี (อันดับ 154) อิสราเอล(อันดับ 155) ซูดานใต้ (อันดับ 156) ซีเรีย (อันดับ 157) อัฟกานิสถาน (อันดับ 158) เยเมน (อันดับ 159) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (อันดับ 160) ซูดาน (อันดับ 161) ยูเครน (อันดับ 162) และรัสเซีย (อันดับ 163) อยู่ในอันดับสุดท้ายสะท้อนผลกระทบอย่างรุนแรงจากสงครามในยูเครน และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

ตามรายงานในภาพรวมของโลก พบว่าโลกมีความสงบสุขน้อยลงเป็นครั้งที่ 13 ในรอบ 17 ปี โดยระดับความสงบสุขโดยเฉลี่ยของประเทศต่าง ๆ ลดลง 0.36% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นปีที่ 6 ติดต่อกันที่ระดับความสงบสุขทั่วโลกมีแนวโน้มแย่ลง โดยมีถึง 87 ประเทศที่มีระดับสันติภาพตกต่ำลง และ 74 ประเทศเท่านั้นที่มีระดับสันติภาพดีขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นผลจากความขัดแย้งและวิกฤติต่าง ๆ ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาทั้งจากความมั่นคงภายในประเทศ ความขัดแย้ง และการทหาร ทั้งจากกรณีการที่ประเทศมหาอำนาจเข้าไปมีบทบาทในสงครามภายในประเทศ และส่งผลให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น รวมถึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ส่วนประเทศไทย ได้รับคะแนน 2.017 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 86 ของดัชนีสันติภาพโลกปีล่าสุด ลดลง 11 อันดับจากปีที่ผ่านมา (อันดับ 75) และรั้งอันดับที่ 13 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สะท้อนถึงความท้าทายด้านความมั่นคงภายในประเทศที่ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในปัจจุบัน
การประเมินดังกล่าวใช้ตัวชี้วัดทั้งหมด 23 ตัว ซึ่งดัชนีสันติภาพโลกมี 8 ตัวที่มีค่าดีขึ้น 13 ตัวที่แย่ลง และอีก 2 ตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งตัวชี้วัดที่แย่ลงมากที่สุดคือ “ความขัดแย้งภายนอกที่ประเทศมีส่วนเกี่ยวข้อง” (external conflicts fought) ขณะที่ตัวชี้วัดที่ดีขึ้นมากที่สุดคือ “การรับรู้ต่อระดับอาชญากรรมในสังคม” (perceptions of criminality)
อย่างไรก็ดี ดัชนีสันติภาพโลกสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของความเปราะบาง ความรุนแรง และการถูกเพิกเฉยจากประชาคมโลก ประเทศที่อยู่ในความไม่สงบสุขไม่ได้เพียงเผชิญกับสงครามหรือความขัดแย้งเพียงชั่วคราว หากแต่อยู่ในวงจรของความรุนแรง ความยากจน และความไม่มั่นคงทางการเมือง ทั้งสิ่งที่น่ากังวลคือการแทรกแซงของประเทศมหาอำนาจที่หลายครั้งไม่ได้ช่วยบรรเทาความขัดแย้ง แต่กลับซ้ำเติมปัญหาและทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อ ดังที่เห็นได้จากวิกฤตความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่หลายประเทศในปัจจุบัน
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ไทยมีระดับ ‘สันติภาพ’ อยู่ในอันดับ 113 จาก 163 ประเทศ ตาม Global Peace Index 2021
– ดัชนีประชาธิปไตย ปี 2021 ยังคงจัดอันดับให้ไทย เป็นประเทศที่มี “ประชาธิปไตยที่มีข้อบกพร่อง” เป็นปีที่สาม
– SDG Updates | ‘สันติภาพ’ แบบไหน ที่จะนำสังคมและเศรษฐกิจให้ฟื้นกลับจากโรคระบาดโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
– (16.4) ลดการลักลอบเคลื่อนย้ายอาวุธและเงิน เสริมความแข็งแกร่งของกระบวนการติดตามและการส่งคืนสินทรัพย์ที่ถูกขโมยไป และต่อสู้กับอาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรทุกรูปแบบ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม
แหล่งที่มา : Global Peace Index 2025 (visionofhumanity)