SDG Updates | SDG Move ประชุมหารือกับผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย ผลักดันความร่วมมือภาควิชาการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน

SDG Move ภายใต้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หารือการผลักดันความร่วมมือภาควิชาการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับ ทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Country Team – UNCT)  

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 โครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการประชุมหารือร่วมกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและแนวทางผลักดันความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในฐานะผู้ทำงานภาควิชาการกับทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Country Team – UNCT) โดยมีคณะผู้บริหารนำโดยรองศาสตรจารย์ ดร.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้การต้อนรับคณะผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยพร้อมทั้งแสดงเจตจำนงที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาโดยเฉพาะการทำงานด้านวิชาการและการสนับสนุนในเชิงนโยบาย

การประชุมครั้งนี้มีประเด็นหารือสำคัญ 2 ประเด็น ได้แก่

  1. แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงแนวทาง ความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือและสนับสนุนการทำงานเพื่อขับเคลื่อน SDGs ระหว่างมหาวิทยาลัย กับทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย
  2. แลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการผลักดันให้ SDGs เข้ามามีบทบาทในกระบวนการเชิงนโยบายและการนำขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติ ผ่านการขับเคลื่อนจากภาควิชาการโดยโครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และ Sustainable Solution Network Thailand (SDSN Thailand)


คุณกีต้า ซับบระวาล (Ms. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงบทบาทของทีมงานสหประชาชาติที่มีต่อการขับเคลื่อน SDGs อันเป็นวาระสำคัญระดับโลก รวมถึงมีความประสงค์ที่จะรับฟังความคิดเห็น มุมมองที่มีต่อบทบาทการปฎิบัติงานของ UN ในประเทศไทยจากเครือข่ายภาควิชาการที่ทำงานด้านการขับเคลื่อน SDGs เพื่อเป็นแนวทางในพัฒนาต่อไปในอนาคต และมีความสนใจต่อแนวคิดการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างความร่วมมือขับเคลื่อนงานในภาควิชาการ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ทีมงานสหประชาชาติต้องการหุ้นส่วนความร่วมมือเข้ามาเสริมสร้างศักยภาพให้เกิดการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชล บุนนาค ผู้อำนวยการโครงการ SDG Move

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนภาควิชาการ ของมหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชล บุนนาค ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ได้นำเสนอถึงการจัดตั้งโครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และเครือข่าย Sustainable Solution Network Thailand (SDSN Thailand) ภายใต้การสนับสนุนของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ว่า เป็นการจัดตั้งหน่วยงานที่จะขับเคลื่อนและช่วยพัฒนา สนับสนุนงานในภาคส่วนต่าง ๆ ให้เกิดแรงผลักไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการจัดตั้งเครือข่าย SDSN ถือเป็นความสำเร็จในการรวมความร่วมมือทางเครือข่ายวิชาการ ประชาสังคมที่จะร่วมกันพูดคุยเพื่อแสวงหาแนวทางในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากจะเป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือแล้ว การจัดตั้ง SDSN Thailand ซึ่งได้รับการรับรองจาก SDSN Global นั้นยังทำให้การรวมกลุ่มมีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับจากสากลอีกด้วย พร้อมกันนี้ อาจารย์ชลได้นำเสนอถึงบทบาทขององค์การสหประชาชาติที่ผ่านมาว่ามีการสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ และภาคเอกชนเป็นอย่างดี แต่ยังมีช่องว่างหรือประเด็นที่จะเป็นจุดคานงัดสำคัญให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และจำเป็นต้องให้ความสำคัญประเด็นเหล่านั้นมากขึ้น อาทิ

— การมีพื้นที่หรือกระบวนการที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในหลากหลายระดับ การเสริมสร้างขีดความสามารถในการขับเคลื่อน SDGs โดยเฉพาะการสนับสนุนงบประมาณให้กับองค์กรขับเคลื่อนที่ไม่ใช่รัฐ — การผลักดันผ่านการทำงานอาสาสมัคร การทำงานร่วมกับองค์กรในระดับท้องถิ่น พร้อมทั้งเสนอแนวทางว่า ควรสร้างสมดุลการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคประชาสังคม หรือองค์กรที่อาจจะไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการปฏิบัติงาน ผู้คนในพื้นที่ รวมถึงมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมและถ่วงดุลการทำงานระหว่างภาคส่วนต่างๆ  

นอกจากนี้ในการแลกเปลี่ยนการดำเนินงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหาร ศูนย์รังสิต ยังได้นำเสนอการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเพื่อขับเคลื่อนประเด็นความยั่งยืนผ่านการลงมือปฏิบัติจริง และมีผลสะท้อนเชิงประจักษ์ เช่น การเปลี่ยนรถประจำทางในแคมปัสเป็นรถใช้ขับเคลื่อนพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในอาคารเรียน การส่งเสริมให้ปลูกพืชผัก ที่สามารถรับประทานได้แทนไม้ประดับ ซึ่งประชาคมธรรมศาตร์สามารถนำไปประกอบอาหารได้

จากการหารือทีมงานสหประชาชาติมีความยินดีที่จะร่วมมือภาควิชาการกับมหาวิทยาลัย ในเบื้องต้นคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะได้เป็นหุ้นส่วน (partner) กับทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการให้ความร่วมมือในการจัดประชุมสัมนา (Symposium) ที่อยู่บนฐานของ SDGs ในปี 2564 และการร่วมมือในเชิงงานวิจัย  

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีการยกระดับความร่วมมือและการทำงานกับองค์การสหประชาชาติอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในเชิงงานวิจัย การศึกษา และการเป็นตัวกลางเชื่อมประสานให้เกิดการสนทนา ดำเนินงานระหว่างภาคส่วนต่างๆ ซึ่งทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยจะนำประเด็นการแลกเปลี่ยนและข้อเสนอในการหารือครั้งนี้ไปแลกเปลี่ยนกับ UN Agencies อื่นๆ เพื่อขยายเครือข่ายการดำเนินงานในอนาคต

ขอบคุณภาพถ่ายจาก กองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Last Updated on พฤศจิกายน 8, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น