ไม่ว่าเพศสภาพใด การอยู่ในสังคมที่สามารถมีบทบาท มีสิทธิในการปกครองตนเอง และเข้าถึงทรัพยากร จะช่วยทำให้มีสุขภาพดีขึ้นได้

‘Health Disparities – ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ’ กับ ‘Gender’ – เพศสภาพ

ประเด็นเรื่องความแตกต่างทางเพศสภาพ (gender differences) เกี่ยวกับประเด็นทางสังคม อาทิ การเข้าถึงโอกาสของการมีรายได้ การเข้าถึงทรัพยากร หรือการเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงานอย่างทัดเทียมสำหรับทุกเพศ โดยมีมิติบทบาทและการเสริมพลัง (empowerment) เพศหญิง ไปจนถึงการหลุดออกจากจุดที่เปราะบางจากภาวะเสี่ยงต่อความรุนแรงที่มีพื้นฐานมาจากเพศสภาพ (gender-based violence)

นอกจากนั้น ยังเกี่ยวข้องกับ ‘การมีสุขภาพที่ดี’ หรือแง่มุม ‘ความเหลื่อมล้ำทางสาธารณสุขที่มีฐานมาจากความแตกต่างทางเพศสภาพ’ ด้วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว แม้ผู้หญิงจะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ชายแต่มักมีสุขภาพที่ย่ำแย่กว่าโดยเปรียบเทียบและมีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังหลายประเภทในอัตราสูง ขณะที่ ผู้ชายซึ่งมีร่างกายที่แข็งแรงมากกว่าแต่กลับมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า เรียกว่า ‘Health-survival paradox’ (ภาวะความย้อนแย้งระหว่างความเจ็บป่วยกับการเสียชีวิตของชายหญิง) โดยการรับรู้แต่เดิมมองว่าความแตกต่างด้านชีวภาพของร่างกายที่เกี่ยวกับฮอร์โมน หรือการตั้งครรภ์และการคลอดในผู้หญิงที่แตกต่างจากผู้ชายนั้น เป็นเหตุให้มีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากกว่า

ทว่าก็มีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่ชี้ว่าการอธิบายความแตกต่างด้านชีวภาพที่ส่งผลต่อการมีสุขภาพดีอาจไม่เพียงพอ เพราะสุขภาพของคนยังได้รับผลกระทบจาก ‘สภาพสังคม’ ‘ค่านิยมของสังคม’ ไปจนถึง ‘สังคมที่เหลื่อมล้ำ’ ด้วย

ทางทีมผู้วิจัยซึ่งประกอบไปด้วยนักมานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยาการแพทย์จึงได้ทำการวิจัย เผยแพร่ใน  Proceedings of the National Academy of Sciences สำรวจค่านิยมและอคติทางเพศที่มีผลต่อสุขภาพ พร้อมทดสอบปัจจัยด้านสังคมที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางสาธารณสุขที่มีฐานมาจากความแตกต่างทางเพศสภาพ ในพื้นที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ Mosuo สองชุมชนทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ในประเทศจีนที่มีศาสนาและวัฒนธรรมเดียวกัน แต่มีลักษณะ ‘การสืบทอดมรดก-ทรัพยากรและที่ดิน-สายสกุล’ ของผู้หญิง (matriliny) และผู้ชาย (patriliny) ต่างกัน และในบางลักษณะเข้าข่ายสังคมหญิงเป็นใหญ่ (matriarchy) และสังคมชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ด้วย โดยเปรียบเทียบสุขภาพ สภาพสังคม และบทบาทของหญิงและชายที่มีสิทธิในการตัดสินใจ ครอบครองหรือเข้าถึงทรัพยากรที่แตกต่างกันในสองชุมชนนี้

เพื่อหาความเสี่ยงต่อการมีโรคเรื้อรังระยะยาว โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความผิดปกติหรือการเสื่อมของระบบประสาท (neurodegenerative disorder) และการเสียชีวิต ทีมผู้วิจัยได้ใช้วิธีการวัดความดันโลหิตและเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อประเมินสุขภาพในครัวเรือนกลุ่มตัวอย่าง ผลพบว่า สุขภาพของผู้หญิงในสังคม Matriliny หรือ Matriarchy ผู้หญิงมีสุขภาพที่ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสุขภาพของผู้หญิงในสังคม Patriliny หรือ Patriarchy โดยอัตราการอักเสบเรื้อรัง (chronic inflammation) น้อยกว่าผู้ชายอยู่ครึ่งหนึ่ง และความดันโลหิตสูงน้อยกว่าที่ร้อยละ 12 ขณะเดียวกันสุขภาพของผู้ชายในสังคมทั้งสองชุมชนก็สลับกันด้วย

การศึกษาในมุมของนักมานุษยวิทยาดังกล่าวหวังกระตุ้นความเข้าใจใหม่ที่สภาพแวดล้อมในสังคม วัฒนธรรมและค่านิยมในสังคม บทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของเพศสภาพในสังคม ปัจจัยและประสบการณ์ที่แต่ละเพศสภาพเผชิญในแต่ละวัน โดยเฉพาะเรื่องของการมีสิทธิที่จะปกครองตนเอง (autonomy) การได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากเครือญาติและผองเพื่อน และ ‘ภาวะความเครียด’ อันเป็นผลมาจากสังคมที่ตนอยู่นั้น มีส่วนส่งผลต่อการมีสุขภาพดีที่จะแตกต่างหรือเสมอภาคกัน นอกเหนือไปจากพื้นฐานความต่างด้านชีวภาพของแต่ละเพศสภาพ

โดยเมื่อมองในมุมของความเสมอภาคทางสาธารณสุขและการสนับสนุนผู้หญิงให้มีสุขภาพดี ข้อค้นพบของการศึกษานี้ช่วยชี้ว่าสิทธิในการปกครองตนเอง การเข้าถึงทรัพยากร และมีบทบาทในสังคม เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมสุขภาพและลดความเสี่ยงต่อการมีโรคเรื้อรัง

*วัฒนธรรม Matrilineal กล่าวถึงการสืบทอดมรดก ทรัพยากร ที่ดิน สายสกุลผ่านทางผู้หญิง ขณะที่ วัฒนธรรม Matriarchy กล่าวถึง ผู้หญิงเป็นผู้ขับเคลื่อน มีอำนาจ-บทบาทนำและโดดเด่นในสังคม ในทางการเมืองและสังคม

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ

#SDG3 การมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีสำหรับทุกคน โดยมีการพูดถึงอายุขัยและการเสียชีวิตของมารดา

#SDG5 ความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังในผู้หญิง โดยมีการพูดถึงการมีส่วนร่วม มีโอกาสที่เท่าเทียม มีการตัดสินใจทางการเมืองและเศรษฐกิจของผู้หญิง ผู้หญิงมีสิทธิที่เท่าเทียมในทรัพยากร เจ้าของที่ดิน และอื่น ๆ และ

#SDG10 ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ โดยมีการพูดถึงการให้อำนาจ ส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่เกี่ยงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติ พันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ ภายในปี 2573

แหล่งอ้างอิง:

https://theconversation.com/womens-health-is-better-when-women-have-more-control-in-their-society-148327
https://www.pnas.org/content/117/48/30324
https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2017/apr/01/the-kingdom-of-women-the-tibetan-tribe-where-a-man-is-never-the-boss

#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG3 #SDG5 #SDG10

Last Updated on กุมภาพันธ์ 22, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น