งานวิจัยเผยคนไทยกินเค็มมากกว่า WHO แนะนำเกือบสองเท่า เร่งใช้ยุทธศาสตร์ SALTS ลดเกลือเพื่อลดการเกิดโรค NCDs

เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการศึกษาจากงานวิจัย Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation‐wide population survey with 24‐hour urine collections จัดทำโดยความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 พบว่า คนไทยบริโภคโซเดียม ‘เกลือ’ เฉลี่ยสูงที่สุดในภาคใต้ รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

การบริโภคโซเดียมสูงเกินไปเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคไตเรื้อรัง องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้จำกัดการบริโภคโซเดียมในแต่ละวันให้น้อยกว่า 2,000 มก. เพื่อลดความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งถือเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs)โดยสถานการณ์ความรุนแรงของโรค NCDs) ในไทยนั้นยังสูงขึ้นเรื่อยๆ

จากการศึกษาโดยการเก็บข้อมูลการบริโภคโซเดียมในประชากรไทยทั่วประเทศ 2,388 คน (อายุเท่ากับหรือมากกว่า 18 ปี) ด้วยวิธีการตรวจเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง นำมาวิเคราะห์ปริมาณโซเดียมทางห้องปฏิบัติการ โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 1,599 คนที่เก็บข้อมูลปัสสาวะได้ครบถ้วน ทำให้พบว่า การบริโภคโซเดียมเฉลี่ยประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ หนึ่งในผู้วิจัยกล่าวว่า “ทางทีมวิจัยยังพบว่าผู้ที่มีระดับการศึกษาสูง น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ปกติ และคนที่มีความดันโลหิตสูง มีการบริโภคโซเดียมมากกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสรุปแล้วคนไทยบริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึงเกือบ 2 เท่า กล่าวคือ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม การศึกษานี้เป็นการศึกษาแรกในประเทศไทยที่ใช้วิธีสำรวจมาตรฐานอย่างเป็นระบบ จึงเป็นประโยชน์มากต่อการเปรียบเทียบข้อมูลการบริโภคโซเดียมของคนไทยในอนาคต”

ผลการศึกษานี้ช่วยสนับสนุนให้มีการเร่งใช้มาตรการที่จะช่วยลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ในยุทธศาสตร์ลดเกลือของไทย ชื่อ SALTS ซึ่งมาจาก Setting-Awareness-Legistration-Technology-Surveillance โดยมีองค์ประกอบดังนี้

  • Setting – การปรับปรุงคุณภาพของโครงการอาหารในหลายๆ สถานที่ เช่น โรงเรียน ที่ทำงาน และชุมชน
  • Awareness – สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน
  • Legislation – บังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหารสำเร็จรูป (packaged food) การติดฉลากอาหารที่เห็นได้ชัดบนด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์อาหาร และการจำกัดการทำการตลาดอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
  • Technology – การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสารทดแทนโซเดียมที่เหมาะสม
  • Surveillance – การพัฒนาระบบเฝ้าระวัง

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการจัดทำ ‘ยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ. 2559-2568’ โดยมีเป้าหมายลดการบริโภคเกลือและโซเดียมให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2568

การมีมาตรการเพื่อลดการบริโภคโซเดียมที่เป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อ อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย ในเป้าประสงค์ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2030

อ้างอิง
https://waymagazine.org/salt-the-series-16/
https://www.posttoday.com/life/healthy/645311

Last Updated on กุมภาพันธ์ 25, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น