รายงานความสุขโลก 2021 ย้ำสุขภาพจิตดี ความเชื่อใจในรัฐ การมีงานทำและหลักประกันทางสังคม ส่งผลให้คนมี ‘สุขภาวะที่ดี’

รายงานความสุขโลก 2021 (World Happiness Report 2021) เก็บข้อมูลผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อประเมินความสำเร็จของมาตรการภาครัฐ พร้อมสำรวจดูคุณภาพชีวิตของประชาชน ร่ายเรียงออกมาเป็น 8 บทที่ชี้ประเด็นสุขภาพจิต ความสุข ความพึงพอใจในชีวิต (life satisfaction) ความสัมพันธ์กับสังคม ความไว้วางใจ/มั่นใจในสถาบันทางสังคมและภาครัฐ ตลอดจนการมีงานทำ ล้วนส่งผลต่อการมีสุขภาวะและความเป็นอยู่ (well-being) ที่ดีหรือไม่ดีได้ ถือได้ว่ารายงานเล่มนี้เสนอให้เราเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา และยกให้การมี ‘สุขภาวะที่ดี’ ต้องมาก่อน ให้ ‘ความสุข’ มาพร้อมกับสุขภาพกายและใจที่ดี และการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมามั่งคั่ง

มาตรวัดสุขภาวะของคนอย่างการประเมินความพึงพอใจในชีวิตพบว่าต่ำลง ขณะที่ตัวอย่างข้อมูลจากสหราชอาณาจักรชี้ว่า สุขภาพจิตของคนต่ำลง 7% (พ.ค. 2563) และปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น 49% โดยมาจากสภาพความเป็นอยู่แต่เดิม ผลกระทบจากมาตรการที่ลดการปฏิสัมพันธ์กับคน รวมถึงความรู้สึกไม่มั่นคงในสถานการณ์ที่ทำให้คนทุกข์ใจ เศร้า เหงา หรือกังวลมากและยาวนานขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มเปราะบาง อาทิ คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตแต่เดิม เป็นกลุ่มที่รับผลกระทบมากที่สุด และถึงแม้จำนวนผู้ที่ต้องการรับบริการสุขภาพจิตจะสูงขึ้น แต่การให้บริการในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ก็ยังติดขัด

ทว่ามาตรการภาครัฐอาจไม่ได้ส่งผลด้านลบเสมอไป ข้อมูลจากบางประเทศชี้ว่าการตัดสินใจล็อคดาวน์ในระยะแรกที่เริ่มระบาดก็ได้ช่วยให้คนผ่อนคลาย/ฟื้นความรู้สึกพึงพอใจในชีวิตขึ้นมาได้เช่นกัน

เมื่อมองลึกลงไปแล้ว ในรายงานแสดงให้เห็นว่า ความไว้วางใจในผู้อื่น เชื่อใจและมั่นใจในสถาบันทางสังคมและภาครัฐยังสัมพันธ์กับการมีสุขภาวะที่ดีขึ้นด้วย เพราะตามปกติแล้วคนที่สามารถไว้ใจคนอื่นได้มากกว่า ‘ความรู้สึกที่ว่าลืมกระเป๋าสตางค์ไว้แล้วจะมีพลเมืองดีส่งคืนไปที่สถานีตำรวจ เพื่อนบ้าน หรือหาทางส่งคืนเจ้าของ’ นั้น คนย่อมจะมีความสุขในสังคมเช่นนี้มากกว่า เช่นเดียวกัน ประเทศที่ประชาชนไว้วางใจในสถาบันทางสังคมและภาครัฐสูงในช่วงวิกฤติ ประชาชนก็จะมีความสุขมากกว่า และความไว้วางใจนี้เป็นปัจจัยสำคัญไม่ต่างจากรายได้และการมีงานทำเลย นอกจากนี้ ความไว้วางใจ เชื่อใจ และมั่นใจจะส่งผลให้การปฏิบัติตามมาตรการของรัฐเป็นไปอย่างดีและทำให้อัตราการเสียชีวิตต่ำลงด้วย

ขณะที่ในรายงานได้ชี้ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะที่ดีและประสบความสำเร็จในการจัดการโรคระบาดหรือไม่ อาทิ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้กับความไว้เนื้อเชื่อใจ ประเทศต่าง ๆ เรียนรู้อะไรจากการรับมือโรคซาร์หรือโรคระบาดที่ผ่านมา รวมถึงว่าหัวหน้ารัฐบาลของประเทศนั้นเป็นผู้หญิงหรือไม่

สุดท้ายที่ทิ้งท้ายเอาไว้คือ การที่คนมีงานทำ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของงานและสถานที่ทำงาน พร้อมกับที่มีการคุ้มครองแรงงาน หลักประกันและโครงข่ายสนับสนุน-คุ้มครอง-ช่วยเหลือทางสังคม สัมพันธ์กับการทำให้คนมีสุขภาวะที่ดี

เพราะการไม่มีงานทำได้ทำให้ความพึงพอใจในชีวิตลดลง 12% และการมีอารมณ์ด้านลบเพิ่มขึ้น 9% ในช่วงของ โรคระบาด ขณะที่ประเทศที่มีโครงข่ายฯ หรือหลักประกันทางสังคมช่วยรองรับคนตลอดจนประกันให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพพื้นฐานได้อย่างถ้วนหน้าไม่ว่าจะมีสถานะทางอาชีพเช่นใดหรือแม้จะไม่มีงานทำแล้วนั้น ประชาชนย่อมจะมีสุขภาวะที่ดีกว่า

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ SDGs
#SDG3 หลักประกันว่าด้วยการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีสำหรับทุกคน ซึ่งรวมถึงสุขภาพจิต
#SDG8 การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงานเต็มอัตรา และงานที่ดีสำหรับทุกคน
#SDG16 สังคมที่สงบสุข มีส่วนร่วม มีความยุติธรรม สถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ

แหล่งที่มา:
https://www.brookings.edu/blog/future-development/2021/04/06/making-well-being-a-policy-priority-lessons-from-the-2021-world-happiness-report/

Last Updated on เมษายน 7, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น