งานวิจัยในแทนซาเนียพบว่า ให้วัยรุ่นชายมีส่วนร่วมในโปรแกรมสุขภาพทางเพศด้วย จะช่วยลดความรุนแรงที่จะเกิดกับผู้หญิงได้

เด็กสาวในประเทศแทนซาเนียประมาณ 60% มีเพศสัมพันธ์ก่อนอายุ 18 ปี โดยมีหญิงวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี จำนวนน้อยกว่า 10% ที่ใช้การคุมกำเนิดสมัยใหม่ (modern contraceptive) และมีการประมาณว่าหนึ่งในสามของผู้หญิงอายุ 15-24 จะต้องเผชิญกับความรุนแรงจากคู่รักในช่วงวัยนี้

แม้ว่าจะมีมาตรการและการวิจัยด้านสาธารณสุขในประเทศแถบแอฟริกาตอนใต้ของซาฮารามาหลายทศวรรษ แต่การพัฒนาสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของวัยรุ่นก็ยังคงทำได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะเมื่อการวางแผนครอบครัวและโครงการด้านสุขภาพนี้ เน้นไปที่ผู้ใหญ่ที่แต่งงานและผู้หญิงเท่านั้นเป็นหลัก

งานวิจัยล่าสุดของ Manisha Shah & Jennifer Seager ได้กำหนดมาตรการแทรกแซงเพื่อทำการวิจัยด้านการพัฒนาสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ให้เด็กหญิงและวัยรุ่นเพศหญิงในวัย 11-22 ปี โดยผู้วิจัยได้ทำงานร่วมกับ BRAC องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศที่ดำเนินงานใน 11 ประเทศรวมถึงแทนซาเนีย

ผู้วิจัยทำงานกับวัยรุ่นประมาณ 4,500 คน ในแทนซาเนีย (ผู้หญิง 3,000 คนและผู้ชาย 1,500 คน) ระหว่างปี 2016 – 2020 เพื่อวิเคราะห์ผลที่ได้จากมาตรการแทรกแซงสามประการต่อไปนี้

  • กิจกรรมแบบกำหนดเป้าหมาย (a goal-setting activity) สำหรับวัยรุ่นหญิงเพื่อการมีสุขภาพที่ดีและปราศจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และ HIV กิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้วิจัยประเมินบทบาทของปัจจัยด้านพฤติกรรมที่ส่งผลต่อความตั้งใจที่จะมีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัยและเลือกคู่นอนที่ไม่มีโรคติดต่อ
  • โปรแกรมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและเสริมสร้างพลัง (empowerment) ของคู่ฝ่ายชายผ่านกิจกรรมฟุตบอล กิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้วิจัยทดสอบว่าผลลัพธ์ด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของวัยรุ่นหญิงจะดีขึ้นหรือไม่ หากให้ฝ่ายชายมีส่วนร่วมในกิจกรรมด้วย
  • ให้มีการเข้าถึงการคุมกำเนิดสมัยใหม่ได้ฟรี มาตรการนี้จะช่วยให้ผู้วิจัยทดสอบได้ว่า หากไม่มีการเปลี่ยนบรรทัดฐานพฤติกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย การเข้าถึงการคุมกำเนิดสมัยใหม่ได้ฟรีจะสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

ผลการศึกษาที่สำคัญและจะเป็นประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบาย องค์กรภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป มีดังนี้

ประการแรก การมีส่วนร่วมของวัยรุ่นชายช่วยลดความรุนแรงต่อคู่รักและช่วยปรับทัศนคติของผู้ชายเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิง ประการที่สอง วัยรุ่นได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมคาดการณ์ไปข้างหน้า (forward-looking behavior) เพิ่มความรู้สึกของพลังความสามารถของตน (personal agency) ในการสร้างทางเลือกที่ดีขึ้นเมื่อมีความสัมพันธ์ทางเพศ ประการที่สาม การให้บริการการคุมกำเนิดเพียงอย่างเดียวโดยไม่เน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทั้งสำหรับเพศหญิงและเพศชาย อาจไม่ช่วยพัฒนาสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์สำหรับวัยรุ่นได้เสมอไป

สุขภาพทางเพศ อนามัยเจริญพันธุ์ และความรุนแรงต่อผู้หญิง อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
- SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น อนามัยการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัว (3.7)
- SDG 5 ความเท่าเทียมทางเพศ ในประเด็น ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิงและเด็กหญิง (5.2)

ที่มา: The Conversation

Last Updated on เมษายน 22, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น