SDG Insights | แรงงาน…สู่โลกหลังโควิด-19

เนื่องจากวันนี้ที่ 1 พ.ค. 2564 เป็นวันแรงงาน SDG Move ขอชวนอ่าน SDG Insights โดย รศ.ดร. กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับความสำคัญของแรงงานในฐานะผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนา ข้อเรียกร้อง 2 ประเด็นหลัก – การรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 (เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน) และฉบับที่ 98 (การปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง) รวมถึงเรื่องการปฏิรูปประกันสังคม ที่ล้วนสอดคล้องกับ #SDG8 ว่าด้วยเรื่องของเศรษฐกิจและแรงงาน และเชื่อมโยงกับ #SDG1 (1.3) ระบบและมาตรการคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมของแต่ละประเทศ โดยให้ครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573

พร้อมกับสำรวจมาตรการของไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อ ‘แรงงาน’ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39 และผู้ประกอบการ ภาพรวมความท้าทายที่แรงงานไทยเผชิญในแง่ของอาชีพ ทักษะ และการปรับตัวในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาทำให้งานบางประเภท ‘อันตรธานหายไป’ ตลอดจนบทบาทของภาครัฐในการชี้นำและให้ความช่วยเหลือ และที่สำคัญคือ ทิศทาง ‘แรงงาน…สู่โลกหลังโควิด-19’ นี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ปฐมบท:
วันแรงงานแห่งชาติกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

โควิด-19 เปลี่ยนโลกอย่างใหญ่หลวง กิจกรรมเดินขบวนของผู้ใช้แรงงานเนื่องในวันกรรมกรสากลหรือวันแรงงานแห่งชาติที่จัดเป็นประจำทุกปียังต้องถูกงดไป 2 ปีต่อเนื่องกัน คงไว้แต่การยื่นข้อเรียกร้องของแรงงานกลุ่มต่างๆต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ต่างไปจากปีก่อน ๆ ใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) การรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อให้สหภาพแรงงานเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานและการค้ามนุษย์ และ 2) การปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมถึงเพิ่มขยายสิทธิประโยชน์และการคุ้มครอง ปีนี้ไม่มีการเรียกร้องเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ

ข้อเรียกร้องของแรงงานในวันแรงงานแห่งชาตินั้น มีเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์กรสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 8 จากทั้งหมด 17 เป้าหมาย ว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการทำงานที่คุณค่าสำหรับทุกคน (Promote sustained, inclusive and sustainable economic growth, full and productive employment and decent work for all) มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มผลิตภาพจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการและการสร้างงาน ทำให้เกิดการจ้างงานเต็มที่และทัดเทียม ทั้งชาย หญิง เยาวชน ผู้มีภาวะทุพพลภาพ เป็นงานที่ได้รับค่าจ้างเหมาะสม มีสภาพแวดล้อมการทำงานปลอดภัยและมั่นคง และปกป้องคุ้มครองสิทธิแรงงาน โดยครอบคลุมถึงกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ต่างด้าว และขจัดแรงงานบังคับ ทาสสมัยใหม่ การค้ามนุษย์ และแรงงานเด็กให้หมดสิ้นไป

#SDG8 – การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการทำงานที่คุณค่าสำหรับทุกคน (Promote sustained, inclusive and sustainable economic growth, full and productive employment and decent work for all)


01 – โควิด-19 ซ้ำเติมความเปราะบางที่มีอยู่เดิมของแรงงาน

ก่อนโควิด-19 จะมาถึงประเทศไทย เป้าหมายที่ 8 ของการพัฒนาที่ยั่งยืนถูกท้าทายอย่างมากด้วยหลากหลายปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวจากสงครามการค้าโลก ปัญหาโลกร้อน ปัญหาสังคมสูงวัย และปัญหาแรงงานขาดทักษะ  การเข้ามาของไวรัสโควิด-19 อย่างไม่คาดคิด ได้เข้ามากระหน่ำซ้ำเติมความเปราะบางที่มีอยู่เดิม แรงงานต้องเผชิญกับการขาดรายได้หรือการมีรายได้ลดลงอย่างเฉียบพลันและเป็นระยะเวลายาวนาน อัตราการจ้างงานลดต่ำลง ทั้งในภาคอุตสาหกรรมที่ร้อยละ 4.22 ภาคบริการที่ร้อยละ 1.79 และภาคเกษตรที่ร้อยละ 0.27 สอดคล้องกับจำนวนผู้ว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกสาขาการผลิต และอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 1.86 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2563) หนี้ครัวเรือนได้เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 18 ปี ส่งผลทางลบต่อสภาพจิตใจ ความเครียด และประสิทธิภาพในการทำงาน แรงงานหลายคนถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เช่น ไม่ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายจากนายจ้าง เป็นต้น ขณะที่แรงงานใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษาก็ไม่สามารถหางานทำได้ ทำให้สูญเสียทักษะการทำงาน

และไม่กี่ปีที่ผ่านมา แรงงานต้องเผชิญกับการรุกคืบของเทคโนโลยี ถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ที่ได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานมากยิ่งขึ้น ทำให้ต้องเปลี่ยนตำแหน่งงาน หางานใหม่ และพัฒนาทักษะให้สูงขึ้นหรือเปลี่ยนทักษะใหม่ อำนาจต่อรองที่มีน้อยอยู่แล้วกลับยิ่งถดถอยลงไปอีก โควิด-19 เข้ามาเร่งให้การเกิดการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้มากขึ้น องค์กรต่างเร่งปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และมีการปรับลดบางตำแหน่งลง ผู้บริโภคมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป คุ้นชินกับวิถีชีวิตใหม่ที่พึ่งพิงเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการและผู้บริโภคไม่อาจย้อนกลับไปสู่การทำงานและการดำเนินชีวิตเฉกเช่นเดิมได้อีก แม้ยามโควิด-19 สงบแล้วก็ตาม   


02 – บทบาทภาครัฐในยามที่แรงงานมีความทุกข์ทวีคูณจากโควิด-19

ภาครัฐควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการใช้มาตรการปิดเมือง ปิดประเทศ ปิดสถานที่สุ่มเสี่ยง ห้างร้านปิดบริการเร็วกว่าปกติ ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยต้องหยุดชะงัก วิกฤตสุขภาพจึงส่งผลสืบเนื่องและก่อตัวเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ โดยการบรรเทาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภาครัฐได้จัดหาเงินเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมด้วยงบประมาณก้อนใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการออกพระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้าน แบ่งการใช้จ่ายเงินเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ป้องกันและควบคุมโรค 45,000 ล้านบาท เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 550,000 ล้านบาท และฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มาตรการภาครัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของแรงงานสามารถแบ่งได้เป็น

  • เงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือแรงงานจากการขาดรายได้
  • สนับสนุนการจ้างงานเพื่อแก้ปัญหาว่างงาน
  • สนับสนุนการจ้างงานผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ และ
  • การยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน

ในส่วนของเงินเยียวยานั้น กรณีแรงงานในระบบ ตามมาตรา 33 มีการปรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน กรณีเหตุสุดวิสัย (โควิด-19) ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่สามารถทำงานได้ ทำให้ไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ทั้งที่นายจ้างซึ่งหยุดประกอบกิจการเองหรือหยุดตามคำสั่งของทางราชการ ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน (คิดเป็น 5,045 – 9,300 บาทต่อเดือน) ไม่เกิน 90 วัน ในกรณีที่ลาออก ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 45 ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน กรณีเลิกจ้าง ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 ระยะเวลาเพิ่มขึ้นจากไม่เกิน 180 วันเป็น 200 วัน ซึ่งเงินเยียวยาดังกล่าวมาจากกองทุนประกันสังคม และล่าสุดได้มีการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 จากงบประมาณแผ่นดินจำนวน 4,000 บาท (โครงการ ม. 33 เรารักกัน) ในขณะที่แรงงานนอกระบบได้รับเงินเยียวยาจำนวน 15,000 บาท ในเฟสแรก (โครงการเราไม่ทิ้งกัน) และ 7,000 บาทในเฟสถัดมา (โครงการเราชนะ) ซึ่งแหล่งที่มาของเงินมาจากงบประมาณแผ่นดิน  

นอกจากนี้ ยังปรับลดภาระทางการเงินสำหรับแรงงานด้วยการลดอัตราเงินสมทบให้กับผู้ประกันตน กรณีมาตรา 33 จากเดิมร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 1 ของค่าจ้างในเฟสที่ 1 และปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2 และร้อยละ 3 ในเฟสที่ 2 และ 3 ตามลำดับ และล่าสุดเฟสที่ 4 ได้ปรับลดลงเนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่เหลือเพียงร้อยละ 0.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2564 ส่วนผู้ประกันตน มาตรา 39 ปรับลดจากเดิม 432 บาทต่อเดือน เป็น 86 บาทในเฟสที่ 1 และปรับเพิ่มขึ้นเป็น 96 บาท และ 278 บาทต่อเดือนในเฟสที่ 2 และ 3 ตามลำดับ โดยล่าสุดในเฟสที่ 4 ได้ปรับลดลงเหลือเพียง 38 บาทต่อเดือนในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2564   

ในส่วนของการสนับสนุนการจ้างงานเพื่อแก้ปัญหาว่างงาน ได้จัดตลาดนัดแรงงานภายใต้ชื่อ ‘Job Expo Thailand’ ขยายตลาดแรงงานไทยไปยังต่างประเทศในสาขาอาชีพใหม่ ๆ รวมทั้งได้สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลจับคู่งานให้กับคนหางานชื่อ ‘ไทยมีงานทำ’ และโครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ในอัตราค่าจ้างต่อเดือนไม่เกิน 9,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนการจ้างงานผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน (Co-Payment) เพื่อให้นักศึกษาจบใหม่มีโอกาสได้งานทำ และนายจ้างหรือสถานประกอบการเกิดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ โดยรัฐบาลให้การอุดหนุนเงินเดือนค่าจ้างร้อยละ 50 ต่อคนต่อเดือนตามวุฒิการศึกษา อาทิ ปริญญาตรีที่ไม่เกิน 7,500 บาท

และเพื่อพัฒนาศักยภาพของแรงงาน ภาครัฐได้จัดให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน (upskill / reskill) อาทิ โครงการพัฒนาทักษะแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โครงการยกระดับทักษะฝีมือให้แก่กำลังแรงงานในสถานประกอบกิจการและ SMEs ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัดที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โครงการฝึกอบรมแรงงานกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ เป็นต้น รวมถึงการจัดตั้งสถาบันพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve อาทิ สถาบันพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมจิทัล (DIDA) สถาบันพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ (MEDA) สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA)


03 – ทางเลือกเดียวที่แรงงานจะมีชีวิตดีขึ้นคือ ‘พัฒนาทักษะฝีมือ’

โควิด-19 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโลกการทำงานเพียงชั่วครู่ชั่วยามประเภทงานที่ถูกกระทบมากจากการอุบัติขึ้นของโควิด-19 คือ งานที่ให้บริการลูกค้าในพื้นที่ เช่น งานขายในร้านค้า งานต้อนรับ เป็นต้น ทำให้แรงงานจำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพหรือตำแหน่งงาน การเปลี่ยนไปสู่ตำแหน่งงานที่มีทักษะระดับใกล้เคียงกันเป็นเรื่องไม่ยากนัก ที่ผ่านมา เมื่อแรงงานตกงานจะสามารถหาอาชีพใหม่หรือถูกย้ายไปทำในตำแหน่งงานที่ใช้ทักษะใกล้เคียงกัน อาทิ เปลี่ยนจากพนักงานกรอกข้อมูลไปเป็นแคชเชียร์ จากพนักงานเสิร์ฟไปค้าขาย แต่ข่าวร้ายคือตำแหน่งงานหรืออาชีพที่มีทักษะใกล้เคียงกันเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้ถูกเทคโนโลยีทำให้อันตรธานไป ซึ่งงานประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นงานที่มีลักษณะทำซ้ำ ๆ (routine) อย่างงานบัญชีและงานธนาคาร คนที่ตกงานจากการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีอย่างพนักงานกรอกข้อมูล ซึ่งเดิมทีสามารถย้ายไปทำงานที่มีลักษณะใกล้เคียงอื่นได้อย่างแคชเชียร์ แต่เพราะโควิด-19 เป็นเหตุ จึงส่งผลให้อาชีพแคชเชียร์มีความต้องการลดน้อยลงเพราะผู้บริโภคหันไปซื้อของออนไลน์และไม่มีแนวโน้มจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแม้โควิด-19 จะหายไปก็ตาม ส่งผลให้พนักงานกรอกข้อมูลเปลี่ยนงานไปสู่งานใหม่ได้ยากขึ้น พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารที่ตกงานก็เช่นกัน เมื่อผู้บริโภคไม่นิยมออกไปทานอาหารนอกบ้านอีกต่อไป ก็ไม่สามารถเปลี่ยนไปเปิดร้านขายของในตลาดได้ เมื่อการค้าเปลี่ยนรูปไปสู่พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมอร์ซ (e-Commerce) มากขึ้น การเปลี่ยนอาชีพจึงยากขึ้นในยุคโควิด-19 และหลังจากยุคโควิด-19 ด้วย เพราะงานที่มีเหลือให้แรงงานทำเป็นงาน ‘ทักษะต่ำ’ หรือไม่ก็ ‘ทักษะสูง’ เกิดปรากฎการณ์การแบ่งขั้วของอาชีพ (job polarization) เด่นชัดขึ้น และทักษะแรงงานมีแนวโน้มว่าจะต้องสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเทคโนโลยีสามารถทำงานซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีสามารถทำให้รถยนต์ขับเคลื่อนได้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่ใช่การทำงานที่มีลักษณะทำซ้ำ ๆ เป็นต้น

ทักษะฝีมือระดับเดิมจึงไม่ใช่ทางเลือกที่แรงงานมีอีกต่อไป การก้าวไปสู่การมีทักษะระดับสูงนั้นแม้ว่าจะยาก แต่เป็นทางเลือกที่ดีต่อชีวิตของแรงงาน ที่จะทำให้แรงงานมีรายได้ที่สูงขึ้นและยกระดับคุณภาพชีวิตในที่สุด โอกาสของงานที่เปิดกว้างและสามารถรองรับแรงงานจำนวนมากได้อยู่ในกลุ่ม STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) ที่จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น นักพัฒนาซอฟแวร์ วิศวกร cloud computing วิศวกรการพิมพ์แบบ 3 มิติ ผู้เชี่ยวชาญการซ่อมหุ่นยนต์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักเทคโนโลยีสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีงานด้านสิ่งแวดล้อม ที่เข้ามามีบทบาทในการผลิตพลังงานทางเลือกและเทคโนโลยีสีเขียว และกลุ่มงานสร้างสรรค์ งานออกแบบ ศิลปะ ดนตรี และแฟชั่น ที่หุ่นยนต์ยังเข้ามาทดแทนไม่ได้ โดยงานที่มีความเสี่ยงน้อยที่จะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์คือ งานที่ทำด้วยมือที่ต้องใช้ความละเอียดสูง งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานออกแบบ รวมถึงงานที่ใช้ทักษะทางสังคมและอารมณ์ (social & emotional skill) ดังนั้น ทักษะสำคัญของแรงงานยุคใหม่ จึงประกอบด้วย ทักษะการรู้คิดขั้นสูง (higher cognitive skills) หรือความสามารถในการคิดและเรียนรู้ อาทิ ทักษะในการคิดวิเคราะห์ (critical thinking) และทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ทักษะทางสังคมและอารมณ์ (social & emotional skills) ความเข้าอกเข้าใจ การเจรจาต่อรอง ความเป็นผู้นำ การริเริ่มและตัดสินใจ และทักษะด้านเทคโนโลยี (technical skills) เช่น ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นสูง การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมดิจิทัลอุตสาหกรรมชั้นสูง การพัฒนาและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ที่สำคัญแรงงานจำเป็นต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะเทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว

โดยงานที่มีความเสี่ยงน้อยที่จะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์คือ งานที่ทำด้วยมือที่ต้องใช้ความละเอียดสูง งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานออกแบบ รวมถึงงานที่ใช้ทักษะทางสังคมและอารมณ์


04 – ภาครัฐมีหน้าที่ชี้นำและสนับสนุนการเปลี่ยนอาชีพใหม่

ภาครัฐต้องเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยการแก้ปัญหาด้านสุขภาพ และวัคซีนเป็นหนทางที่จะช่วยให้ปัญหาต่าง ๆ คลี่คลาย เมื่อเศรษฐกิจสามารถกลับมาเดินต่อได้ การจ้างงานจึงจะฟื้นตัว แรงงานจะกลับมามีรายได้ อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวนี้ รัฐควรใช้มาตรการรักษาการจ้างงาน (Job retention) เนื่องจากธุรกิจยังไม่สามารถจ้างงานได้เต็มที่ จำเป็นต้องลดชั่วโมงทำงานของพนักงานลงชั่วคราว รัฐสามารถเข้าไปสนับสนุนค่าจ้างบางส่วน จะทำให้นายจ้างที่ขาดสภาพคล่องยังสามารถรักษาแรงงานไว้ได้ และไม่ต้องจัดหาแรงงานใหม่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว โดยแรงงานจะยังคงอยู่ในตลาดแรงงาน แม้จะทำงานน้อยชั่วโมงลงและค่าจ้างลดลงก็ตาม

อย่างไรก็ดี แม้โควิด-19 จะสงบลงและเศรษฐกิจจะฟื้นตัว การเลิกจ้างย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการที่องค์กรธุรกิจต่าง ๆ จะเร่งปรับตัวและปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีกันมากขึ้น ซึ่งภาครัฐต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นจากการที่นายจ้างบังคับให้ลูกจ้างเขียนใบลาออก ค้างจ่ายค่าจ้าง ไม่จ่าย ผ่อนจ่าย หรือจ่ายเงินชดเชยต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงยุติสัญญาจ้างก่อนวันสิ้นสุดที่กำหนดไว้ในสัญญา เป็นต้น เจ้าหน้าที่รัฐจึงพึงให้การคุ้มครองพิทักษ์สิทธิกับแรงงานตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย มีความเป็นกลาง มิควรชี้นำแรงงานหรือนายจ้างไปในทางที่ขัดกับกฎหมายกำหนดหรือเกินบทบาทที่เจ้าหน้าที่พึงจะกระทำ ควรเร่งรัดกระบวนการยุติธรรมให้รวดเร็ว ปรับปรุงขั้นตอนเพื่อให้การใช้เงินเป็นไปเพื่อเยียวยาแรงงานให้เร็วที่สุด โดยใช้ประโยชน์จาก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างให้มากที่สุด

ความปกติใหม่ (new normal) หนึ่งที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานคือ การเปลี่ยนอาชีพ ในช่วงชีวิตหนึ่งของแรงงานจะเปลี่ยนอาชีพบ่อยครั้งขึ้นเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นอย่างเร่งรีบ แรงงานจึงต้องปรับตัวตลอดช่วงชีวิต ต้องการการพัฒนาทักษะฝีมือตลอดช่วงอายุ และการชี้นำสู่อาชีพใหม่ สถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐด้านการจัดหางาน และภาคเอกชน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผนึกกำลังกันในการชี้นำอาชีพใหม่ที่มีอนาคตให้กับแรงงาน และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อาชีพใหม่ เพื่อสร้างความสอดคล้องของอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงาน แก้ไขปัญหาแรงงานที่มีทักษะไม่ตรงตามความต้องการของตลาด ตัวอย่างเช่น งานแคชเชียร์ที่มีความต้องการน้อยลงเมื่อมีการซื้อขายผ่านช่องทางอีคอมเมอร์ซ แคชเชียร์สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่อาชีพใหม่ โดยมีเส้นทางอาชีพในธุรกิจที่มีอนาคต เช่น โลจิสติกส์ ที่เริ่มต้นจากการเป็นพนักงานขับรถส่งอาหาร พัฒนาไปสู่พนักงานขับรถบรรทุกสินค้าน้ำหนักเบา และพนักงานขับรถบรรทุกขนาดใหญ่ในที่สุด ด้านการขาย เริ่มต้นจากการเป็นพนักงานสาธิตสินค้า พัฒนาไปสู่ตัวแทนขาย และผู้จัดการด้านการขายในที่สุด ด้านเทคโนโลยี เริ่มต้นจากการเป็นตัวแทนฝ่ายบริการตอบคำถามลูกค้าทางโทรศัพท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้ความช่วยเหลือลูกค้าด้านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และผู้จัดการด้านคอมพิวเตอร์และสารสนเทศในที่สุด และด้านสุขภาพ เริ่มต้นจากการเป็นผู้ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในโรงพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล และพยาบาลวิชาชีพหรือนักรังสีเทคนิคในที่สุด เป็นต้น

โดยภาครัฐควรทำหน้าที่ให้ข้อมูลตำแหน่งงาน ทักษะที่ต้องการ และการเข้าถึงการพัฒนาทักษะ ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มที่ให้ข้อมูลครบวงจรเหล่านี้ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าถึงได้โดยสะดวก โดยการเปลี่ยนอาชีพนี้ควรได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายไปทำงานในพื้นที่อื่น (relocation financial support) ความช่วยเหลือด้านค่าครองชีพ ความช่วยเหลือด้านที่พักและค่าเดินทาง เป็นต้น นอกจากนี้ ความปกติใหม่ที่สอง คือ อาชีพจะมีความสำคัญลดลง ทักษะจะมีความสำคัญมากขึ้น และแรงงานจะทำงานข้ามอาชีพได้ ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญกับการจำแนกประเภททักษะให้ชัดเจน และจัดให้มีการฝึกอบรมและรับรองมาตรฐานทักษะเหล่านั้น เพื่อให้แรงงานหางานทำได้ง่าย

อาชีพจะมีความสำคัญลดลง ทักษะจะมีความสำคัญมากขึ้น และแรงงานจะทำงานข้ามอาชีพได้ ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญกับการจำแนกประเภททักษะให้ชัดเจน และจัดให้มีการฝึกอบรมและรับรองมาตรฐานทักษะเหล่านั้น เพื่อให้แรงงานหางานทำได้ง่าย

ความเป็นปกติใหม่ที่สามคือ แรงงานหนึ่งคนจะทำงานหลายอาชีพ พึ่งพิงแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น และรูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนจากการทำงานเต็มเวลาในระบบที่มีนายจ้างคนเดียว เป็นการทำงานอิสระนอกระบบที่มีนายจ้างหลายคน ภายใต้ระบบคุ้มครองทางสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แรงงานจะมีความมั่นคงน้อยลง เพราะไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ระบบคุ้มครองทางสังคมจึงควรได้รับการพัฒนาให้เท่าทันกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ เพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภาครัฐต้องส่งเสริมการจ้างงานให้กับกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ ผู้พ้นโทษ ผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเมือง รวมทั้งมีการออกแบบนวัตกรรมการจ้างงาน อย่างการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการจ้างงานเพื่อสังคม เช่น งานโรงพยาบาล โรงเรียน ศาสนสถาน เป็นต้น และประสานการทำงานร่วมกันระหว่างคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้านการออกแบบและการตลาดดิจิทัลกับชุมชนต่าง ๆ ที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อผลิตสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์กับโลกสมัยใหม่

ปัจฉิมบท:
การมีส่วนร่วมของแรงงานในการกำหนดนโยบาย
เป็นหนทางของการพัฒนาชาติอย่างยั่งยืน

การร่วมเจรจาต่อรองทางสังคมเป็นช่องทางที่จะนำมาซึ่งการกำหนดนโยบายที่จะสร้างความยุติธรรมในสังคมภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ภาครัฐควรนับรวมแรงงานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบเศรษฐกิจ และพึงตระหนักว่าแรงงานมีส่วนได้เสียแตกต่างไปจากภาคเอกชนส่วนอื่น ในขณะเดียวกัน แรงงานควรสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อให้มีตัวแทนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ผู้นำแรงงานพึงยึดประโยชน์ของแรงงานเป็นที่ตั้ง และรักษาระยะห่างทางความสัมพันธ์กับนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐไว้ให้มั่น ติดตาม ประเมิน และตรวจสอบสถานการณ์ด้านแรงงานและการทำงานของภาครัฐ อีกทั้งเตรียมแรงงานให้มีความพร้อมเรื่องสิทธิหน้าที่ทางกฎหมายคุ้มครองแรงงานและแรงงานสัมพันธ์ ส่งเสริมโครงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และผนึกกำลังกับนักวิชาการและภาครัฐเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ให้ทันสมัยและเพื่อทำความเข้าใจกฎหมายและขั้นตอนการดำเนินงานที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ

ประเด็นแรงงานในประเทศไทยตาม SDG Insights ฉบับนี้ เกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ – (1.3) ดำเนินการให้เป็นผลตามระบบและมาตรการคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมของแต่ละประเทศ และให้ครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG8  ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ และมีผลิตภาพ และการมีงานที่ดีสำหรับทุกคน
– (8.1) ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
– (8.2) บรรลุการมีผลิตภาพทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นผ่านการทำให้หลากหลาย การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการมุ่งเน้นในภาคส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้แรงงานเข้มข้น
– (8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่สมควรความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัตกรรม ส่งเสริมการเกิดและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อยขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งรวมถึงผ่านทางการเข้าถึงบริการทางการเงิน
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่ดีสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึง เยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน
– (8.6) ลดสัดส่วนของเยาวชนที่ไม่มีงานทำ ที่ไม่มีการศึกษา และที่ไม่ได้รับการฝึกอบรม ภายในปี 2563 (2020)
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าวและผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย

ถิรพร สิงห์ลอ – พิสูจน์อักษร

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น