SDG Vocab | 03 – Basic Services – บริการขั้นพื้นฐาน

คำที่เรียบง่ายที่สุดอย่างบริการขั้นพื้นฐาน อาจจะไม่พื้นฐานเสมอไปเมื่อต้องมาพินิจดูว่า บริการเพื่อประชาชนแบบไหนกันที่เรียกว่า ‘ขั้นพื้นฐาน’ ในปัจจุบันนี้

Basic Services (คำนาม) หรือ ‘บริการขั้นพื้นฐาน‘ หมายถึง การบริการสังคม/การให้บริการสาธารณะ ซึ่งเป็น ‘หน้าที่ของรัฐ’ ที่พึงจัดให้แก่และตอบโจทย์ความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน ‘ทุกคน’ โดยครอบคลุมด้านโภชนาการ สุขภาพ น้ำ-สุขอนามัย-และสุขาภิบาล การศึกษา พลังงาน ที่อยู่อาศัย รวมไปถึงเรื่องของการจัดเก็บขยะ เทคโนโลยี-อินเตอร์เน็ต และการเคลื่อนที่โดยระบบคมนาคมและการขนส่ง

ที่สรุปเช่นนั้น เนื่องจากว่าหากยึดตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ (UN) เป็นหลัก เดิมทีนิยามการบริการขั้นพื้นฐานตามเอกสาร ‘การบริการสังคมขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน ปี 2540’ (Basic Social Services for All 1997) นั้น ครอบคลุมบริการเพื่อประชาชนใน 6 ด้าน ได้แก่ 1) สุขภาพในวัยเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัว 2) สุขภาพขั้นพื้นฐาน 3) โภชนาการ 4) การศึกษาขั้นพื้นฐาน 5) น้ำดื่มและการสุขาภิบาล และ 6) ที่อยู่อาศัย

ทว่าต่อมาเมื่อเวลาผ่านไปที่สภาพสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง นิยามและแนวคิดของคำนี้ก็ได้ถูกอัพเดทไปด้วย โดยล่าสุดเมื่อมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา SDG Indicator Metadata (unstat.un.org) อธิบายการบริการขั้นพื้นฐานในบริบทของ ‘การขจัดความยากจน’ ตาม #SDG1 ว่าหมายถึง ‘ระบบ’ การให้บริการสาธารณะที่ตรงตามความต้องการ ‘ขั้นพื้นฐาน’ ของประชาชนใน 9 องค์ประกอบนี้ ได้แก่

  1. น้ำดื่มสะอาด (Basic Drinking Water Services) – อาทิ น้ำดื่มในขวดบรรจุภัณฑ์ น้ำประปา (ที่ดื่มได้) (เกี่ยวกับ #SDG6)
  2. การสุขาภิบาล (Basic Sanitation Services) – อาทิ ห้องน้ำที่มีฝาผนังปิดกั้น ห้องน้ำที่มีการระบายอากาศ (เกี่ยวกับ #SDG6)
  3. สุขอนามัย (Basic Hygiene Facilities) – อาทิ อ่างล้างมือและน้ำประปา สบู่และผงซักฟอก (เกี่ยวกับ #SDG6)
  4. พลังงาน (Clean fuels and technology) – เน้นพลังงานสะอาดและเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (เกี่ยวกับ #SDG7)
  5. การเคลื่อนย้าย (Basic Mobility) – เน้นความสะดวกสบายของการสัญจรไปยังชนบท (เกี่ยวกับ #SDG9) หรือการใช้ขนส่งสาธารณะในเมือง (เกี่ยวกับ #SDG11)
  6. การจัดเก็บขยะ (Basic Waste Collection Services) – บริการจัดเก็บขยะจากทางเทศบาลหรือส่วนอื่นที่ให้บริการ (เกี่ยวกับ #SDG11)
  7. การดูแลสุขภาพ (Basic Health Care Services) – บริการที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ บริการฉุกเฉิน โรงพยาบาลและคลินิก ห้องแลปและบริการฉายรังสี บริการป้องกันโรค ซึ่งครอบคลุมการรักษาสุขภาพจิตและการใช้สารเสพติด (เกี่ยวกับ #SDG3)
  8. การศึกษา (Basic Education) – การศึกษาที่ช่วยให้ผู้เรียนมีศักยภาพที่จะสร้างผลิตภาพต่อเศรษฐกิจ พัฒนาวัยเด็กอย่างยั่งยืน เติบโตไปเป็นพลเมืองของสังคมที่สนับสนุนสันติภาพและประชาธิปไตย และเป็นปัจเจกบุคคลที่มีสุขภาวะที่ดี (เกี่ยวกับ #SDG4)
  9. เทคโนโลยีสารสนเทศ (Basic Information Services) – อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ (เกี่ยวกับ #SDG9)

ขณะที่ฝากของนโยบายไทยเองก็มีการกำหนดการให้บริการประชาชนที่สอดคล้องกับบริการขั้นพื้นฐานที่ UN นิยามไว้ทั้งแบบฉบับเมื่อปี 2540 และที่ได้อัพเดท 2564 นี้ โดยระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 5 ‘หน้าที่ของรัฐ’ ในมาตราดังต่อไปนี้

  • มาตรา 54 การศึกษาฟรี 12 ปี
  • มาตรา 55 การบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง
  • มาตรา 56 การดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง

และหมวดที่ 6 ‘แนวนโยบายของรัฐ’ ในมาตราดังต่อไปนี้

  • มาตรา 71 การให้ความช่วยเหลือแก่เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส
  • มาตรา 72 การจัดการที่ดิน ทรัพยากรน้ำ และพลังงานเพื่อประชาชน

การบริการขั้นพื้นฐานเป็นหนึ่งคำสำคัญ โดยปรากฎอยู่ใน #SDG1 เป้าประสงค์ที่ 1.4 – ‘ภายในปี 2573 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะคนยากจนและกลุ่มผู้เปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐาน การถือกรรมสิทธิ์ และใช้ประโยชน์เหนือที่ดินและทรัพย์สิน’

By 2030, ensure that all men and women, in particular the poor and the vulnerable, have equal rights to economic resources, as well as access to basic services, ownership and control over land and other forms of property, inheritance, natural resources, appropriate new technology and financial services, including microfinance

นอกจากนี้ จะสังเกตได้ว่าการบริการขั้นพื้นฐานในเป้าหมายที่ 1.4 ยังเป็นแนวคิดที่พบได้ทั่วไปในเป้าหมายอื่นของ SDGs ด้วยในคีย์เวิร์ด ‘การเข้าถึงบริการ… ที่มีเพียงพอ น่าเชื่อถือ มีคุณภาพ และราคาที่หาซื้อได้’


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา:
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน (2560)
SDG Indicators (unstat metadata)

Last Updated on มกราคม 3, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น