การติด GPS ไว้ที่คอเสือ อาจช่วยลดอุบัติเหตุรถชนเสือใกล้สูญพันธุ์บนท้องถนนในเนปาล

เนปาลประเทศที่มีบทบาทนำด้านการวิจัยและอนุรักษ์เสืออย่างจริงจังมาอย่างยาวนาน ที่ความมุ่งมั่นทำให้ประชากรเสือในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจาก 121 ตัวในปี 2552 เป็น 235 ตัวในปี 2561 แต่ด้วยความที่เป็นหนึ่งในบรรดาประเทศพัฒนาน้อยที่สุดที่พยายามขจัดปัญหาความยากจนด้วยการขยายเศรษฐกิจให้เติบโตซึ่งมาพร้อมกับการขยายถนนหนทาง ทางหลวง และทางรถไฟ ทำให้ในทางหนึ่ง ผลจากการพัฒนาได้ส่งผลกระทบกับแหล่งที่อยู่อาศัยและการมีอยู่ของเสือ

โดยข้อมูลของอุทยานแห่งชาติ Banke National Park ในช่วง ก.ค. 2561 และ ก.ค. 2562 พบว่ามีสัตว์ป่าซึ่งรวมถึงเสือ ตายไปแล้ว 45 ตัวจาก 67 ตัวเพราะถูกรถชนบนท้องถนน และยังมีอุบัติเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นทั้งในบริเวณและภายในอุทยานแห่งชาติ Bardia National Park และ Parsa National Park รวมถึงตามถนนเส้นหลักด้วย เรื่องนี้จึงเป็นหนึ่งประเด็นความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า ไม่ว่าเสือเข้ามาทำร้ายผู้คนหรือคนเป็นภัยคุกคามทำให้เสือเสี่ยงสูญพันธุ์

Neil Carter ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติและการอนุรักษ์สัตว์ป่าของเนปาล, องค์การอนุรักษ์แห่งชาติ และองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติประจำเนปาล (IUCN in Napal) ได้ทดลองติด GPS ไว้ที่คอของเสือที่อาศัยอยู่ใกล้กับทางเดินรถ เพื่อให้เข้าใจปฏิสัมพันธ์และผลกระทบของโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมกับตัวเสือเองและระบบนิเวศที่เสืออยู่อาศัย ในบริเวณ 2 อุทยานแห่งชาติ Bardia และ Parsa

ห่วงห้อยคอที่ติดกับ GPS จะรายงานอย่างสม่ำเสมอทุกวันว่าเสือตัวนั้นเดินทางไปที่ไหนบ้าง เคลื่อนไหวไปตามทางถนนหรือข้ามถนนตรงช่วงไหน ใช้พลังงานบริเวณถนนไปเท่าไร มีการล่าสัตว์บริเวณนั้นหรือไม่ ตอบสนองต่อการจราจรบนท้องถนนอย่างไรในแต่ละช่วงเวลาของวัน มีแบบแผนพฤติกรรมอย่างไรระหว่างตอนอยู่ใกล้ถนนและอยู่ไกลจากถนน รวมถึงว่าทางทีมผู้ทดลองได้วิเคราะห์ฮอร์โมนจากอุจจาระของเสือตัวนั้นด้วย เพื่อทำความเข้าใจระดับความเครียดที่เสือเผชิญกับท้องถนนมากขึ้น

โดยผลจากการติดตามพบว่า ในช่วงทางหลวงจากตะวันออกไปตะวันตกที่ตัดผ่านอุทยานแห่งชาติ Parsa เส้นทางดังกล่าวได้ปิดกั้นการเดินทางตามปกติของเสือและยังจำกัดเขตแดนของมันด้วย นั่นจึงเป็นสัญญาณว่า โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการคมนาคมจำต้องปรับให้เป็นมิตรกับเสือด้วย ทั้งนี้ ทาง Hari Bhadra Acharya อดีตหัวหน้าผู้ดูแลอุทยานแห่งชาติ Parsa ซึ่งปัจจุบันเป็นนักนิเวศวิทยาให้กับรัฐบาลเนปาลก็ได้เล็งเห็นความสำคัญข้อนี้เช่นกัน

ตัวอย่างการทำทางเดินเฉพาะให้สัตว์ป่าเดินข้ามถนน

ซึ่งทางทีมผู้ศึกษามองว่า ทางออกอาจทำได้ด้วยการตั้งเป้าหมายไปที่พื้นที่ที่เสือสัญจร ที่มีกิจกรรมล่าสัตว์หรือผสมพันธุ์เป็นประจำ ให้นักวางแผนออกแบบ ‘ทางเดินเฉพาะให้สัตว์ป่าเดินข้ามถนน’ เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ หรือระบุบริเวณที่จะต้องปิดถนนในช่วงกลางคืน หรือให้มีข้อบังคับลดความเร็วในการขับขี่เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุลง

นอกจากนี้ ข้อมูลที่เก็บได้จากตัว GPS เมื่อนำมาประมวลเพื่อปรับปรุงการพัฒนา การบังคับใช้กฎหมาย จนถึงการผลักดันนโยบายตามตัวอย่างข้างต้น ก็จะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างคนและสัตว์ป่าลงได้ ทั้งยังให้สามารถเข้าช่วยเหลือเสือที่ป่วยหรือบาดเจ็บ หรือที่กำลังรุกล้ำเข้ามายังที่อยู่อาศัยของคนได้

Fun Fact
เสือในโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจะสูญพันธุ์ และมีการประมาณว่าปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 4,000 ตัวเท่านั้น ขณะที่มีการศึกษาชี้ว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมกระทบกับความเป็นอยู่ของเสือด้วยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น ระหว่างปี 2535 ถึง 2548 การตายของเสือในรัสเซีย 1 ใน 12 กรณีมาจากเหตุรถชน ส่วนที่อินเดีย การขยายทางหลวงอาจทำให้เสือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ทั้งที่อยู่ในพื้นที่คุ้มครอง ที่ 56% ภายใน 100 ปี

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง > ‘ความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า’ (human-wildlife conflict) หนึ่งตัวการชะลอความก้าวหน้าของ SDGs

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
– (11.2) ระบบคมนาคมขนส่งและความปลอดภัยทางถนน
– (11.a) เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทางบวกระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก ป่าไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพ
– (15.5) ลดความเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ปกป้องและป้องกันการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม

แหล่งที่มา:
https://theconversation.com/gps-tracking-could-help-tigers-and-traffic-coexist-in-asia-158751
https://kathmandupost.com/climate-environment/2021/02/21/tiger-s-behaviour-movement-and-response-to-disturbances-being-studied-through-satellite-technology

Last Updated on พฤษภาคม 7, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น