การขาดแคลน ‘พยาบาลผดุงครรภ์’ ทำให้สูญเสียชีวิตมารดาและทารกแรกเกิด

Life-promoting, life-saving

พยาบาลผดุงครรภ์’ มีบทบาทสำคัญมากสำหรับ #SDG3 (3.1) การลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลกให้ต่ำกว่า 70 ต่อการเกิดมีชีพ 1 แสนคนภายในปี 2573 เพราะสามารถช่วยป้องกันการตายของมารดาระหว่างและหลังจากที่ให้กำเนิดบุตรได้ และยังเป็นวิธีการที่คุ้มทุนในการลดอัตราการตายตามข้อมูลของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) องค์การอนามัยโลก และสหพันธ์ผดุงครรภ์นานาชาติ (International Confederation of Midwives – ICM) เพียงเพิ่มจำนวนพยาบาลผดุงครรภ์ 10% ในทุก 5 ปี ก็สามารถรักษาชีวิตได้ 1.3 ล้านคนต่อปี ถ้าเพิ่มขึ้นเป็น 25% ในทุก 5 ปี จะสามารถรักษาชีวิตไว้ได้ 2.2 ล้านคนต่อปี และหากเพิ่มขึ้นเป็น 100% ก็จะสามารถป้องกันการตายของมารดาได้ 67% การตายของทารกแรกเกิด 64% การตายของทารกในครรภ์ 65% และสามารถรักษาชีวิตไว้ได้ถึง 4.3 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2578

แต่ว่าโลกกำลังเดินหน้าไปทางนั้นหรือไม่ ตาม ‘รายงานสถานการณ์การพยาบาลผดุงครรภ์โลก ปี 2564’ (State of the World’s Midwifery Report 2021) โดย UNFPA, WHO และ ICM ชี้ว่าโลกกำลังสูญเสียชีวิตของผู้เป็นมารดาและทารกเกิดใหม่หลักล้านคน และอีกจำนวนหลักล้านคนที่มีอาการเจ็บป่วย เพียงเพราะบรรดารัฐต่าง ๆ ยังขาดแคลนและไม่ให้ความสำคัญกับ ‘พยาบาลผดุงครรภ์’ มากพอ

รายงานดังกล่าวเป็นการศึกษาประเมินสถานการณ์พยาบาลผดุงครรภ์ในภาคสาธารณสุขจาก194 ประเทศ พบว่าโดยรวมแล้ว ปัจจุบันโลกกำลังขาดแคลนเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ 900,000 คน ที่ส่วนหนึ่งอาจถูกเคลื่อนย้ายมาเป็นบุคลากรทางการแพทย์ตอบสนองต่อโควิด-9 แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อการป้องกันการตายของมารดาและทารกแรกเกิด หากยังเป็นเช่นนี้จะทำให้ #SDG3 (3.1) พัฒนาดีขึ้นแต่เป็นไปอย่างช้าและกระทบกับสังคมโดยรวมด้วย

ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาความขาดแคลนคือ ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ที่ระบบสาธารณสุขอาจให้ความสำคัญกับประเด็น ‘สุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์’ สำหรับผู้หญิงและเด็กหญิงน้อยเกินไป รวมถึงไม่ตระหนักถึงบทบาทของพยาบาลผดุงครรภ์ซึ่งส่วนใหญ่ 93% เป็นเพศหญิง ทั้งที่พยาบาลผดุงครรภ์จะช่วยดูแลสุขภาพครรภ์ตั้งแต่การฝากครรภ์ (เริ่มตั้งครรภ์จนถึงก่อนคลอด) ไปจนถึงการดูแลหลังคลอด และช่วยดูแลสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ อันหมายรวมถึงการวางแผนครอบครัว การตรวจจับหรือรักษาการติดเชื้อทางเพศ ที่สำคัญยังให้การดูแลอย่างเข้าใจและเคารพผู้หญิงด้วยกัน

นอกจากนี้ ในรายงานได้มีข้อเสนอแนะเพื่อให้มีการปรับปรุงบริการสาธารณสุขสำหรับสุขภาพวัยรุ่น มารดาและทารกแรกเกิด โดยเน้นย้ำบทบาทนำของพยาบาลผดุงครรภ์ ที่รัฐบาลต้องสนับสนุน ‘การมีชีวิตรอด’ (life-promoting, life-saving) จัดให้มีงบประมาณ มีการศึกษาและอบรมการดูแลสุขภาพมารดาและทารกแรกเกิด ตลอดจนให้พยาบาลผดุงครรภ์เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสุขภาพ ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้จะนำไปหารือกันต่อไปในที่ประชุมระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจากประเทศสมาชิกของ WHO ในวันที่ 18 พ.ค. 2564 และการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly – WHA) ครั้งที่ 74 ในวันที่ 24 พ.ค. 2564 เพื่อผลักดันแผนขับเคลื่อนการพยาบาลและการพยาบาลผดุงครรภ์ 2564 – 2568 (Global Strategic Directions for Nursing and Midwifery 2021-2025) และมติที่เกี่ยวข้องต่อไป

เข้าถึงรายงานที่: State of the World’s Midwifery Report 2021
เข้าถึงการศึกษาใน Lancet ว่าด้วยความสำคัญของพยาบาลผดุงครรภ์กับการรักษาชีวิตมารดาและทารกที่:
Potential impact of midwives in preventing and reducing maternal and neonatal mortality and stillbirths: a Lives Saved Tool modelling study

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
– (3.1) การลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลกให้ต่ำกว่า 70 ต่อการเกิดมีชีพ 1 แสนคนภายในปี 2573
– (3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทุกประเทศมุ่งลดอัตราการตายของทารกลงให้ต่ำถึง 12 ต่อการเกิด 1 พันคน และลดอัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลงให้ต่ำถึง 25 ต่อการเกิด 1 พันคน ภายในปี 2573
#SDG5 ความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจเสริมพลังแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน
– (5.6) หลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ และสิทธิการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า

แหล่งที่มา:
https://reliefweb.int/report/world/state-world-s-midwifery-2021
https://www.internationalmidwives.org/icm-news/new-report-sounds-the-alarm-on-global-shortage-of-900,000-midwives.html
https://timor-leste.unfpa.org/en/news/international-day-midwife-2021-investing-midwives-could-save-43-million-lives-every-year

Last Updated on สิงหาคม 23, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น