‘เงินผิดกฎหมาย’ พรากความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เงินจำนวนมากในโลกตอนนี้เป็นเงินผิดกฎหมาย มากถึง 2.7% ของ GDP โลกเป็นเงินที่ผ่านการฟอกมาแล้ว ช่องโหว่หรือข้อบกพร่องของกฎระเบียบการเงินในโลกและการบังคับใช้ ทำให้การฟอกเงิน การคอร์รัปชันข้ามชาติ การเลี่ยง/หนีภาษี อาชญากรรมการเงิน/เศรษฐกิจข้ามชาติมีเพิ่มขึ้น เหล่านี้ซึ่งเป็น ‘การเคลื่อนย้ายเงินผิดกฎหมาย’ (Illicit Financial Flows – IFFs) ได้ทำลายทรัพยากรและพรากอนาคตความเป็นอยู่ที่ดีผู้คนตามสิทธิมนุษยชนและวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ผลกระทบของ ‘การเคลื่อนย้ายเงินผิดกฎหมาย’ ได้ทำให้ความยากจนและความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้นมาก่อนที่โควิด-19 จะทำให้ทวีคูณ เป็นบ่อนทำลายเสถียรภาพ และทำลายความเชื่อมั่นต่อรัฐ

เข้าถึงรายงานที่ : FACTI Panel Report

รายงานจริยธรรมทางการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Financial Integrity for Sustainable Development) ของการประชุมระดับสูงว่าด้วยเรื่องความรับผิดชอบทางการเงินระหว่างประเทศ ความโปร่งใส และจริยธรรมเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (High Level Panel on International Financial Accountability, Transparency and Integrity for Achieving the 2030 Agenda – FACTI Panel) ชี้ความสำคัญของการมี ‘จริยธรรมทางการเงิน’ พร้อมให้คำแนะนำสำหรับรัฐบาลในการจัดการ ควบคุม และสกัดเงินผิดกฎหมาย เพราะ ‘เงินถูกกฎหมาย’ จะเป็นงบประมาณและเงินลงทุนที่สามารถนำไปเติมเต็มช่องว่างของการพัฒนาได้อีกมาก อาทิ การมีวงเงินบำนาญที่ครอบคลุมจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น สามารถสร้างห้องเรียนได้มากขึ้น ไปจนถึงสร้างกังหันลมเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดได้

ในรายงานได้ฉายภาพให้เห็นอย่างรวดเร็วว่าการที่บรรดาบริษัทต่าง ๆ ใช้บริการ ‘ดินแดนปลอดภาษี’ (tax havens) ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้มหาศาลเป็นหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในกรณีของเยอรมัน ‘การเลี่ยงภาษี’ (tax avoidance) เป็นประเด็นทำให้รัฐบาลสูญเสียเงินถึง 35 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำไปติดตั้งกังหันลมบนบกได้อีก 19 กิกะวัตต์ หรือเกือบ 8,000 ชิ้น เงินจากการเลี่ยงภาษีต่อปีในบังคลาเทศยังสามารถนำไปขยายสวัสดิการสังคมหรือวงเงินบำนาญให้ผู้สูงอายุได้อีก 9 ล้านคน ขณะที่ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของไทย สามารถนำมาสนับสนุนเงินสวัสดิการสังคมเพิ่มเติมให้กับประชาชน 12 ล้านคนได้อีกคนละ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3,000 กว่าบาท) ต่อปี เงินภาษีที่เสียไปกว่า 343 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในประเทศชาด สามารถนำมาสร้างห้องเรียนได้ 38,000 ห้อง และเงินภาษีที่เสียไป 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในแอฟริกาใต้ สามารถนำมาสร้างโรงเรียนได้ถึง 3,500 แห่ง และรักษาการติดเชื้อ HIV ด้วยยาต้านเชื้อได้มากกว่า 6 ล้านคน เป็นต้น

ขณะที่การคอร์รัปชันและประเด็นการประพฤติผิดในหน้าที่ใน 17 ประเทศ ได้ส่งผลต่องบประมาณสาธารณะมากถึง 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เฉพาะการติดสินบนเพียงอย่างเดียวคาดว่าทำให้สูญเสียเงินไปมากถึง 1.5 ถึง 2 ล้านล้านสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การจะประมาณมูลค่าเม็ดเงินที่สูญหายไปในการพัฒนาเพราะการคอร์รัปชันและการติดสินบน ยังคงมีข้อมูลในระดับประเทศที่จำกัด

การเคลื่อนย้ายเงินผิดกฎหมายในช่วงโควิด-19 เข้าถึงรายงานที่ : FACTI Panel Report

ทั้งนี้ การจะติดตามและประเมินการเคลื่อนย้ายเงินผิดกฎหมายนั้นก็ยังเป็นความท้าทาย ทั้งเรื่องความโปร่งใสและ ‘ระบบ’ ปัจจุบันที่ไม่มีเครื่องมือหรือกระบวนการใดสามารถใช้ประเมินการเคลื่อนย้ายเงินผิดกฎหมายได้อย่างรอบด้าน (comprehensive) ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศหรือระดับโลก แต่ก็มีความพยายามผลักดันมาตรการหรือวิธีการหลาย ๆ อาทิ การใช้วิธีประเมิน/ติดตาม ‘การแจ้งหนี้ทางการค้าที่ไม่ตรงกับความจริง’ (trade mis-invoicing) ซึ่งมักมีการเก็บข้อมูลอยู่เดิมแล้ว ในรายงานได้ย้ำว่าปัญหาที่เป็นเรื่องระบบ จะต้องใช้ ‘โซลูชั่น’ แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบด้วย กล่าวคือ ทั้งระบบนิเวศซึ่งประกอบไปด้วยกฎหมาย ค่านิยม มาตรฐาน และสถาบัน ที่จะต้องมี ‘จริยธรรมทางการเงิน’ – มีความรับผิดรับชอบ มีความชอบธรรม มีความโปร่งใส และความเป็นธรรม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับ FACTI ในการสนับสนุน SDGs กับประเด็นเหล่านี้ อาทิ

  • ความเป็นเจ้าของบริษัท (company ownership) และความโปร่งใส
  • การใช้จ่ายภาครัฐ (public spending)
  • การดำเนินคดีกับการติดสินบน (prosecution of bribery)
  • การเก็บภาษีบริษัทรายใหญ่ที่ครองอินเตอร์เน็ต (taxing the digital giants that dominate the internet)
  • การจัดการกับการฟอกเงิน (fighting money laundering)
  • การสกัด ‘การหนีภาษีโดยใช้วิธีการที่ผิด’ (stemming tax evasion and abuse)
  • การส่งเสริมความแข็งแกร่งของกรอบความร่วมมือภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อจัดการกับปัญหาการเคลื่อนย้ายเงินตราผิดกฎหมาย

เข้าถึงรายงานที่ : FACTI Panel Report

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 สังคมที่สงบสุข ครอบคลุม ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม สถาบันที่มีประสิทธิผลและรับผิดรับชอบ
– (16.4) ลดการลักลอบเคลื่อนย้ายอาวุธและเคลื่อนย้ายเงิน เสริมความแข็งแกร่งของกระบวนการติดตามและการส่งคืนสินทรัพย์ที่ถูกขโมยไป และต่อสู้กับอาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรทุกรูปแบบ ภายในปี 2573
– (16.5) ลดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และการรับสินบนทุกรูปแบบ

แหล่งที่มา:
https://www.dandc.eu/en/article/high-level-panel-makes-proposals-curbing-illicit-financial-flows-internationally

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น