โคคา-โคล่า ร่วมมือกับ The Ocean Cleanup เดินหน้าใช้นวัตกรรมดักจับขยะพลาสติกในแม่น้ำ 15 แห่งทั่วโลกก่อนไหลลงสู่มหาสมุทร

‘ขยะพลาสติก’ จากแม่น้ำกว่า 1,000 แห่งทั่วโลกไหลลงสู่มหาสมุทรคิดเป็นปริมาณสูงถึงร้อยละ 80 ของขยะทั้งหมดในมหาสมุทร และปัญหาขยะพลาสติกก็มีความรุนแรงขึ้นในทุกวัน

เร็ว ๆ นี้ บริษัทโคคา-โคล่า จึงได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรรายแรกกับ The Ocean Cleanup องค์กรไม่แสวงหากำไรที่คิดค้นโซลูชันจัดการขยะทางทะเลโดยใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี โดยทั้งสองผนึกกำลังใช้องค์ความรู้ ประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติก และนวัตกรรมของ The Ocean Cleanup ‘เครื่องยนต์กึ่งอัตโนมัติ Interceptor’ ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 100% ทำความสะอาดแม่น้ำ ดักจับขยะหรือเก็บพลาสติกและสกัดกั้น (intercept) การรั่วไหลของขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทร ร่วมกับความแข็งแกร่งของบริษัทโคคา-โคล่าซึ่งมีเครือข่ายมากกว่า 200 ประเทศและเขตแดนทั่วโลกในการลงพื้นที่ – ทำความเข้าใจกับชุมชนเป้าหมายที่จะมีการติดตั้งเครื่องยนต์ดังกล่าว ตลอดจนสนับสนุนระบบการจัดการขยะบนฐานของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

โดยปัจจุบัน มีการติดตั้งเครื่อง Interceptor จำนวน 2 เครื่อง – 1 เครื่องในแม่น้ำที่กรุงซันโตโดมิงโก สาธารณรัฐโดมินิกัน และอีก 1 เครื่องในนครเกิ่นเทอ ประเทศเวียดนาม โดยจะเดินหน้าติดตั้งในแม่น้ำอีก 13 แห่งทั่วโลก รวมทั้งสิ้น 15 แห่งภายในปี 2565 นี้

เครื่อง Interceptor ภาพจาก : thereporter.asia

เพราะบริษัทโคคา-โคล่าตระหนักดีว่าขวดบรรจุภัณฑ์สินค้าของบริษัทก็เป็นขยะพลาสติกด้วย ดังนั้น จึงตั้งเป้าหมายหลักในเรื่องการเก็บรวบรวมและนำกลับมาใช้ใหม่ ไม่ให้ขยะเหล่านี้ต้องปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยมีรายละเอียด คือ

  • ลดการใช้พลาสติกบริสุทธิ์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลลง 20% จากปัจจุบันให้ได้ภายในปี 2568
  • ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ 100% ก่อนปี 2568
  • ใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลไม่น้อยกว่า 50% ก่อนปี 2573
  • จัดเก็บบรรจุภัณฑ์แล้วนำมารีไซเคิลในปริมาณเทียบเท่ากับบรรจุภัณฑ์ที่จำหน่ายออกสู่ตลาดให้ได้ก่อนปี 2573
  • ประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ – ส่งเสริมการจัดการขยะบนพื้นดินและมหาสมุทร ส่งเสริมการรีไซเคิลและนำขยะกลับมาใช้ใหม่/กลับเข้าสู่กระบวนการผลิต และผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ ลงทุนในเศรษฐกิจหมุนเวียน

ขณะที่เครื่องยนต์กึ่งอัตโนมัติ Interceptor เปิดตัวไปครั้งแรกเมื่อปี 2562 และเป็นโซลูชั่นที่เหมาะสมกับการใช้ในแม่น้ำที่มีปัญหามลพิษรุนแรงจากขยะพลาสติก การเป็นหุ้นส่วนกันของทั้งสององค์กรครั้งนี้ จึงเป็นการเดินหน้าตอบเป้าหมายสำคัญเดียวกันในการดักจับขยะพลาสติกในแม่น้ำไม่ให้รั่วไหล – ปนเปื้อนในมหาสมุทร

และต่อจากนี้ ทั้งสององค์กรจะทำงานร่วมกันหาหุ้นส่วนการพัฒนาใหม่ ๆ และเงินทุนเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการติดตั้งเครื่องยนต์กึ่งอัตโนมัติ Interceptor และการติดตั้งกล้อง River Monitoring System (RMS) สำหรับการวิเคราะห์มลพิษในแม่น้ำต่อไป

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG6 น้ำดื่มสะอาดและสุขาภิบาลที่ดี
– (6.6) ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำรวมถึงภูเขาป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ชั้นหินอุ้มน้ำ และทะเลสาบ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.4) ในแง่การจัดการกับวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์พลาสติกและลดการปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม
– (12.5) การใช้ซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ และ
– (12.6) แนวปฏิบัติที่ยั่งยืนในภาคเอกชน
#SDG14 ทะเลและทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ภายในปี พ.ศ. 2568 ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภท รวมถึงขยะทะเล โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือ
– (17.16) ในระดับโลก โดยมีการแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรทางการเงิน

แหล่งที่มา:
https://www.greennetworkthailand.com/interceptor-%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%82%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5/
https://www.circularonline.co.uk/news/coca-cola-becomes-first-global-partner-for-river-clean-up-project/
https://www.finchannel.com/world/80842-the-ocean-cleanup-and-the-coca-cola-company-announce-new-partnership

Last Updated on พฤศจิกายน 8, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น