SDG Vocab | 20 – Energy Efficiency – ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน, การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ, การเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน เป็นนัยสำคัญของคำว่า ‘energy efficiency’ ซึ่งแพร่หลายในปัจจุบัน หมายถึง ปริมาณผลผลิตของกิจกรรมที่ได้ต่อหนึ่งหน่วยพลังงานที่ใช้ กระทรวงพลังงานของไทย อธิบายคำนี้ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นเอาไว้ว่า คือ ‘การใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า ซึ่งจะต้องมีการวางแผนและควบคุมการใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด มีการลดการสูญเสียพลังงานทุกขั้นตอน มีการตรวจสอบและดูแลการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา เพื่อลดการรั่วไหลของพลังงาน เป็นต้น’

โดยแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ. 2554 – 2573) ของไทย ก็ได้ระบุถึงคำนี้ไว้ด้วยเช่นกัน – ‘การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หมายถึง การทํางานที่ได้ผลลัพธ์เท่าปกติ แต่ใช้พลังงานน้อยกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นการส่องสว่าง การทําน้ำร้อน การทําความเย็น การขนส่ง หรือการขับเคลื่อนเครื่องจักรกลในกระบวนการผลิต’

กล่าวคือ เราอาจจะตั้งเป้าหมายของผลผลิตไว้เท่าเดิม แต่หันมาดูว่าพลังงานที่ใช้นั้นมีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง ยกตัวอย่างเช่น เพื่อคงคุณภาพของปลายทาง ‘การมีแสงไฟให้ส่องสว่าง’ ด้วยแนวคิดการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อาจมีการเปลี่ยนจากหลอดไส้เป็นหลอดไฟแอลอีดี ที่ได้แสงสว่างตามต้องการ และยังได้ลดการใช้ไฟฟ้าลงครึ่งหนึ่ง ไปจนถึงในกรณีอื่นที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ ในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม และระบบการทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพสูง

นอกจากนี้ คำที่สอดคล้องและสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือเป็นหนึ่งในตัววัดว่าการใช้พลังงานมีประสิทธิภาพหรือไม่ ดูได้จาก ‘ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน’ (energy intensity) หรือพูดให้ง่ายที่สุดคือ ในผลผลิตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหนึ่ง ๆ ต้องใช้พลังงานไปในปริมาณมากน้อยเท่าใด ซึ่งเป็นคำที่ปรากฏใน #SDG7 (7.3) – ตัวชี้วัดที่ 7.3.1 ‘Energy intensity measured in terms of primary energy and GDP’ ความเข้มข้นของการใช้พลังงานที่วัดจากการใช้พลังงานขั้นต้น (primary energy use) และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยหากค่าความเข้มข้นของการใช้พลังงานมีค่าน้อย กล่าวคือ เป็นการใช้ปริมาณพลังงานในการผลิตที่น้อย นั่นหมายถึงว่า (อธิบายโดยหยาบที่สุด) การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพสูง

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้ว ประเทศไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานในรูปก่อนที่จะนำมาใช้ในขั้นสุดท้าย หรือ พลังงานขั้นต้น (primary energy) ซึ่งเป็นพลังงานที่ถูกวัดความเข้มข้น ทำให้หากประเทศไทยสามารถหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน ในแง่นี้ก็จะสามารถช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานขั้นต้นลงได้ และทำให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ เรายังต้องตระหนักถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความเข้มข้นของการใช้พลังงาน (‘ใช้พลังงานมากหรือน้อย’) และความเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของการใช้พลังงานด้วย อาทิ ปัจจัยด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ สภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม

สุดท้ายนี้ ประเด็น ‘การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน’ ยังเป็นความท้าทายและความสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ไทยมุ่งเน้นนอกเหนือจากเรื่อง ‘การใช้พลังงานหมุนเวียน’ เพื่อจะนำไปสู่การมีความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

#SDG7 – (7.3) ส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโลกให้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในปี 2573’

Target 7.3: By 2030, double the global rate of improvement in energy efficiency


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา :
Energy Efficiency หมายถึงอะไร? (กระทรวงพลังงาน)
แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ. 2554 – 2573) กระทรวงพลังงาน
ENERGY EFFICIENCY :เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (researchgate)
การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) (GCIP Thailand)
การใช้พลังงาน กับเศรษฐกิจไทยในช่วงสองทศวรรษ (ประชาชาติ, 2560)
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 7 (2560)
Unstat Metadata 7.3.1

Last Updated on มกราคม 3, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น