SDG Vocab | 21 – Decent Work – งานที่มีคุณค่า

Decent work หรือ ‘งานที่มีคุณค่า’ เป็นอีกคำยอดฮิตที่ชวนตั้งคำถามว่าแล้วงานแบบใดที่ตรงตามนิยามของคำว่า ‘ดีและมีคุณค่า’

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อธิบายคำนี้เอาไว้ว่าเป็น งานที่สามารถตอบสนองความต้องการ (aspirations) เกี่ยวกับชีวิตการทำงานของคนได้ บนหลักการเหล่านี้

  1. งานที่นำมาซึ่งโอกาสในการทำงานและรายได้ที่เป็นธรรม
  2. งานที่ทำให้รู้สึกมั่นคงและปลอดภัยเมื่ออยู่ที่ทำงาน
  3. งานที่สามารถสร้างความมั่นคง-ความคุ้มครองทางสังคมให้กับครอบครัว
  4. งานที่ช่วยให้ได้พัฒนาตนเอง
  5. งานที่ช่วยให้ได้รับการยอมรับจากสังคม หรือเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (social integration)  
  6. งานที่สนับสนุนการมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถึงความห่วงกังวลต่าง ๆ
  7. งานที่สนับสนุนการเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องใด ๆ ที่อาจจะกระทบกับชีวิตของผู้ที่ทำงาน
  8. งานที่ให้โอกาสและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมสำหรับหญิงและชายทุกคน (ความเท่าเทียมทางเพศ)

ผลลัพธ์ที่ประชุม Rio +20 (เอกสารที่นำมาซึ่งการผลักดัน SDGs ในเวลาต่อมา) แสดงความกังวลเรื่องสภาพตลาดแรงงานและการที่คนไม่สามารถเข้าถึงโอกาสงานที่มีคุณค่าได้ โดยตระหนักถึงความเชื่อมโยงของการจ้างงานเต็มและมีผลิตภาพ (full and productive employment) และงานที่มีคุณค่า (decent work) กับการขจัดความยากจน (#SDG1) ซึ่งความเป็นมาของ #SDG8 ส่วนหนึ่ง UN ได้อธิบายว่า เพราะปัจจุบันยังมีประชากรโลกเกือบครึ่งหนึ่งที่ใช้ชีวิตต่ำกว่าเส้นความยากจนสากล หรือเป็นคนที่อยู่ในความยากจนขั้นรุนแรงที่มีรายได้หรือระดับรายจ่ายเพื่อการบริโภคต่อวันต่ำกว่า 60 บาทโดยประมาณ ขณะที่การมีงานทำไม่ได้เป็น ‘หลักประกัน’ ว่าพวกเขาจะสามารถหลุดออกจากวงจรความยากจนได้เลย จึงเป็นที่มาของการคิดทบทวนนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวพันกับ ‘งาน’ เสียใหม่ ให้เป็นงานที่จะช่วยยกระดับผู้คนออกจากความยากจนได้ กล่าวคือ ในอันดับแรกจะต้องเป็น ‘งานที่มั่นคงและให้รายได้ที่ดี’

‘ไม่ใช่แค่งาน แต่ต้องเป็นงานที่มีคุณค่า’

ในทางหนึ่ง การไม่มีงานที่มีคุณค่าให้ได้ทำหรือไม่สามารถเข้าถึงโอกาสงานที่มีคุณค่า เป็นหนึ่งปัจจัยที่สามารถนำไปสู่ ‘ความเสื่อมสลายของสังคม’ ได้ด้วยเช่นกัน นอกจากปัญหาความยากจนแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดแรงงานบังคับ ทาสสมัยใหม่ และการค้ามนุษย์ (#SDG8 – 8.7) ไปจนถึงว่าการไม่มีงานทำนั้นยังเป็น ‘ปัญหาใต้พรม’ ที่นำไปสู่ความไม่สงบหรือไม่มีสันติภาพและสันติสุขที่แท้จริงในสังคม (#SDG16) – จะเห็นได้ว่า ‘งานที่มีคุณค่า’ ถือเป็นรากฐานสำคัญและเชื่อมโยงข้ามเป้าหมายอื่นอีก 16 เป้าหมาย SDGs ในมิติต่าง ๆ ด้วย อาทิ การยุติความยากจน การศึกษาที่มีคุณภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ การลดความเหลื่อมล้ำ และสังคมที่สันติสุข

ดังนั้น สังคมจะต้องตระหนักก่อนว่า เพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคมในภาพรวมและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ย่อมขับเคลื่อนไปได้ด้วยคน (หรือผู้ที่อยู่อาศัยในสังคมนั้น) ที่มีผลิตภาพ (จากหลักการของงานที่มีคุณค่า) นั่นเอง

โดยสามารถลงมือทำได้ โดย

  • รัฐบาลลงทุนในการศึกษาและการอบรมที่มีคุณภาพ สนับสนุนให้เยาวชนมีทักษะพร้อมสำหรับความต้องการตลาดงาน และโอกาสเข้าถึงงานที่มีคุณค่า การคุ้มครองทางสังคม และบริการขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานในลักษณะใดก็ตาม
  • รัฐบาลสร้างสภาพเศรษฐกิจที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีนวัตกรรมและความยั่งยืน พร้อมกับสนับสนุนการจ้างงานเยาวชนและงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน
  • หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนวางแผนเมืองและการตั้งถิ่นฐานของคนเสียใหม่ เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกันของชุมชนและความมั่นคงของบุคคล รวมถึงกระตุ้นให้มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ และส่งเสริมการสร้าง-จ้างงาน

ทั้งนี้ คำว่า ‘งานที่มีคุณค่า’ ปรากฏอยู่ใน ‘#SDG8 การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน’

Promote sustained, inclusive and sustainable economic growth, full and productive employment and decent work for all

และ ‘#SDG8 – (8.5) ต้องบรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และมีงานทำที่มีคุณค่าสำหรับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย, รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปีพ.ศ. 2573′

Target 8.5: By 2030, achieve full and productive employment and decent work for all women and men, including for young people and persons with disabilities, and equal pay for work of equal value


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา :
รายงาน สกว. สำรวจสถานะ SDGs เป้าหมายที่ 8 (2560)
(UN) Employment, decent work for all and social protection
(UN) Decent work and economic growth: why it matters
(ILO) Decent work

Last Updated on มกราคม 3, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น