climate change: 1 ใน 3 ปัจจัย ‘ตัวเร่ง’ หลักที่จะทำให้โลกสูญเสียลิงยักษ์แอฟริกาครั้งใหญ่ ภายใน 30 ปีนี้

สภาพอากาศส่งผลต่ออุณหภูมิ แหล่งที่อยู่อาศัย อาหาร และจำนวนประชากร

สปีชีส์ต่าง ๆ ของลิงยักษ์แอฟริกา (African great aps) ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ใกล้สูญพันธุ์ (endangered) และใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered) ตามรายการสปีชีส์ที่ถูกคุกคามขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List of Threatened Species – www.iucnredlist.org) ที่จะต้องได้รับการอนุรักษ์ ทว่ากลับเป็นกลุ่มที่เผชิญผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมมากว่า 20 ปี ที่ทำให้สูญเสียประชากรจำนวนมากและแหล่งที่อยู่อาศัย อันเป็นผลจากทั้งกิจกรรมของมนุษย์ (อาทิ การสัมปทานปาล์มน้ำมัน การทำเหมืองแร่) รวมถึงการแพร่ระบาดของโรค

การศึกษาชิ้นใหม่ Predicting range shifts of African apes under global change scenarios โดย Wildlife Conservation Society และผู้ร่วมเขียนอีกมากกว่า 60 ท่านที่เป็นตัวแทนจากภาครัฐ ภาควิชาการ และองค์กรอื่น คาดการณ์ว่าลิงยักษ์แอฟริกาอย่างกอริลลา ชิมแปนซี และชิมแปนซีแคระ หรือโบโนโบ จะมีจำนวนลดลงอย่างมากหรือในบางฉากทัศน์อาจสูญพันธ์ลงในห้วง 30 ปีหรือภายในปี 2593 นี้ เนื่องจากปัจจัยหลักซึ่งเป็น ‘ตัวเร่ง’ อย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และการเติบโตของประชากรโลก – และนี่เป็นการศึกษาอีกชิ้นที่ยืนยันผลของการศึกษาอื่น ๆ ที่ระบุว่า ประชากรลิงยักษ์แอฟริกาและแหล่งที่อยู่อาศัยกำลังลดลงอย่างมีนัยสำคัญ


โดยทีมผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลและเหตุการณ์ของลิงยักษ์แอฟริกาจากฐานข้อมูลของ IUCN (SSC A.P.E.S. database) ประกอบไปด้วยข้อมูลสถานะประชากร ภัยคุกคาม และพื้นที่การอนุรักษ์ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ร่วมกับการใช้โมเดลการคาดการณ์ที่เรียกว่า ‘การประเมินแบบจำลองการกระจายของสิ่งมีชีวิต’ (species distribution models – SDMs) ในการสำรวจแต่ละสปีชีส์ในแต่ละห้วงเวลาและพื้นที่ ที่จะสามารถนำไปสู่การระบุพื้นที่ยุทธศาสตร์หรือแหล่งอนุรักษ์ใหม่ เพื่อตัดสินใจและบริหารจัดการในการอนุรักษ์ต่อไป

และขณะที่ปัจจัยภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพมีด้วยกันหลากหลายปัจจัย งานศึกษาชิ้นนี้ ได้ศึกษาผลกระทบร่วมของปัจจัยหลักอย่าง ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงที่ดิน และการเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากร (ซึ่งเป็นค่าเริ่มต้นของผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิม) ที่จะมีต่อลิงยักษ์แอฟริกาภายในปี 2593 ทั้งในมุม ‘ฉากทัศน์ที่ดีที่สุด’ และ ‘ฉากทัศน์ที่แย่ที่สุด’ กล่าวคือ

  • ฉากทัศน์ที่ดีที่สุด เป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดน้อยลงและโลกมีมาตรการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม – ในกรณีนี้ ผู้เขียนคาดการณ์ว่าลิงยักษ์จะหายไป 85% ของประชากร และในจำนวนนี้มี 50% ที่อาศัยอยู่นอกอุทยานแห่งชาติและพื้นที่คุ้มครองอื่นภายใต้กฎหมาย
  • ฉากทัศน์ที่แย่ที่สุด ยังคงมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และไม่มีการตรวจสอบ – ในกรณีนี้ ผู้เขียนคาดการณ์ว่าลิงยักษ์จะหายไปถึง 94% และในจำนวนนี้มี 61% ที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่คุ้มครอง

เพื่อให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงได้ชัดขึ้น ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันนี้ แหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมที่สุดสำหรับลิงยักษ์บางสปีชีส์คือ ‘ที่ราบต่ำ’ มากกว่า ‘ภูเขา’ อย่างไรก็ดี ในห้วงต่อไป การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเข้ามาทำให้สภาพแวดล้อมพลิกผัน กล่าวคือ อาจทำให้ที่ราบต่ำร้อนกว่า แห้งแล้งกว่า กระทบกับพืชพันธุ์และอาจจะมีอาหารน้อยกว่า กลายเป็นมีความเหมาะสมที่จะอยู่อาศัยน้อยกว่า ขณะที่ภูเขาจะพลิกกลับมามีคุณลักษณะเฉกเช่นที่ราบต่ำในปัจจุบัน ในแง่นี้ จึงเป็นการบังคับไปโดยปริยายให้เกิด ‘การย้ายถิ่น’ และ ‘การกระจายตัว’ ของประชากรลิงยักษ์เหล่านี้ไปยังภูเขาสูงที่จะมีพืชพันธุ์ อาหาร และอุณหภูมิที่เหมาะสม ซึ่งก็อาจจะอยู่รอดและอาจจะขยายจำนวนต่อไปได้

ทั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับความสามารถ-ความต้องการของแต่ละสปีชีส์ ในการกระจายตัว – เดินทางออกจากที่ราบต่ำ และอีกประการหนึ่งคือ หากภูเขากลับกลายเป็นพื้นที่ราบในทางกายภาพ (และมีคุณลักษณะเหมือนพื้นที่ราบที่ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย) ก็จะทำให้สัตว์หลากสปีชีส์ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ไม่สามารถย้ายไปยังพื้นที่สูงกว่านั้นได้แล้ว และนั่นจะทำให้สัตว์และพืชจำนวนมหาศาลต้องสูญพันธุ์

นอกจากนี้ การศึกษาได้ชี้ว่า ไม่ว่าลิงยักษ์จะอาศัยอยู่ในแหล่งที่อยู่ใด (พื้นที่คุ้มครองหรือนอกพื้นที่คุ้มครอง) ต่างก็ย่อมได้รับผลกระทบทั้งสิ้น และแน่นอนว่าพื้นที่นอกการคุ้มครองและอนุรักษ์นั้นย่อมมีความเปราะบางมากกว่า ดังนั้น จึงจะต้องกระชับ/เสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายของพื้นที่คุ้มครองและการอนุรักษ์ในแอฟริกาที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่อาจมีการนำเสนอเป็นพื้นที่อนุรักษ์ใหม่ โดยอาศัยข้อมูลคาดการณ์ความเหมาะสมของแหล่งที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้ ผู้วางแผนด้านการอนุรักษ์จำเป็นต้องบูรณาการการวางแผนการใช้ที่ดินและมาตรการลดและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change mitigation and adaptation measures) ในนโยบายของรัฐที่เกี่ยวกับจำนวนประชากร/สปีชีส์ของลิงยักษ์ โดยเฉพาะรัฐบาลที่จะเข้าร่วมการประชุมความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity – CoP 15) ในเดือนกันยายน 2564 และ UN Climate Change Conference ในเดือนพฤศจิกายน2564 จะต้องมุ่งมั่นในการปกป้องและอนุรักษ์สปีชีส์ลิงยักย์และแหล่งที่อยู่อาศัย ทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ตอนนี้และที่ที่ลิงยักษ์อาจจะต้องย้ายถิ่นไปในอนาคต และเร่งต่อสู้กับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปพร้อมกัน

การศึกษานี้มีผู้เขียนมากกว่า 60 ท่านจากภาควิชาการและไม่ใช่วิชาการ ภาครัฐ ร่วมถึงองค์กรอื่น อาทิ Antwerp Zoo Society, Born Free Foundation, Chimbo Foundation, Conservation Society of Sierra Leone, Environment and Rural Development Foundation, Fauna & Flora International, Frankfurt Zoological Society, Jane Goodall Institute, Rio Tinto, Royal Society for the Protection of Birds, San Diego Zoo Wildlife Alliance, Sekakoh Organisation, Sierra Rutile Limited, Tacugama Chimpanzee Sanctuary, The Biodiversity Consultancy, West African Primate Conservation Action, Wild Chimpanzee Foundation, Wildlife Conservation Society (WCS), and World Wide Fund for Nature

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา ความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.5) ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี 2563 จะปกป้องและป้องกันการสูญพันธ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม

แหล่งที่มา:
https://newsroom.wcs.org/News-Releases/articleType/ArticleView/articleId/16235/STUDY-African-great-apes-predicted-to-suffer-massive-range-declines-in-the-next-30-years-with-the-greatest-loss-in-unprotected-areas.aspx

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น