การใช้จ่ายเพื่องานวิจัยเพิ่มขึ้นในรอบ 5 ปี แต่หัวข้องานวิจัยเพื่อความยั่งยืนไม่ได้เป็นกระแสหลักระดับโลก

รายงาน Science Report ปี 2021 โดย UNESCO พบว่า แม้ว่าการใช้จ่ายเพื่องานวิจัยทั่วโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น แต่มีเพียงประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้นที่มีความพยายามทำงานวิจัยเพื่อความยั่งยืนเป็นสัดส่วนมากกว่าประเทศที่รำ่รวย

รายงานของ UNESCO จัดทำขึ้นทุก ๆ ห้าปี เพื่อติดตามผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของแต่ละประเทศบนโลก โดยในปีนี้ใช้ชื่อหัวข้อ ‘The Race Against Time for Smarter Development’ เพื่อชี้ให้เห็นว่าประเทศทุกระดับรายได้ให้ความสำคัญกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อการเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล (digitization) ที่กำลังขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (green transition) เนื่องจากต้นทุนจากการการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนที่ผ่านมาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รายงานได้สำรวจการใช้จ่ายด้านการวิจัย ระหว่างปี 2014-2018 พบว่าเพิ่มขึ้นเกือบ 20% แต่เมื่อพิจารณาลงลึกในข้อมูลจะพบความเหลื่อมล้ำอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะ 2 ใน 3 ของการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากเพียงสองประเทศ คือ สหรัฐอเมริกาและจีนเท่านั้น และยังมีอีกถึง 80% ของประเทศที่ทำการสำรวจ ใช้จ่ายเงินน้อยกว่า 1% ของ GDP เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์

จำนวนงานวิจัยในประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับล่างเพิ่มขึ้นจาก 13% ในปี 2015 เป็นมากกว่า 25% ในปี 2018 นอกจากนั้น จำนวนนักวิจัยทั่วโลกยังเพิ่มขึ้นถึง 13.7% ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการที่มากขึ้นเพราะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แต่จำนวนนักวิจัยหญิงก็ยังมีเพียง 33% เท่านั้นจากจำนวนนักวิจัยทั้งหมดในปี 2018

เมื่อพิจารณาหัวข้อที่ทำงานวิจัย สาขา AI และ robotic เป็นสาขาที่มีจำนวนงานวิจัยมากที่สุด โดยมีมากกว่า 150,000 บทความในหัวข้อนี้ที่ตีพิมพ์เฉพาะในปี 2019 ในขณะที่หัวข้อวิจัยที่ถูกจัดประเภทว่าเป็น “การวิจัยความยั่งยืน” เช่น ทางเลือกเชิงนิเวศแทนพลาสติก การพัฒนาพืชผลเพื่อให้ทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง น้ำสะอาด และเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ยังไม่เป็นกระแสหลักในการตีพิมพ์งานวิชาการในระดับโลก โดยพบว่า ประเทศกำลังพัฒนามีสัดส่วนเผยแพร่งานวิจัยในหัวข้อเหล่านี้มากที่สุด

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นเรื่องการเข้าถึงงานวิจัย ที่แม้ว่ามีความร่วมมือระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่การเข้าถึงงานวิจัยก็ยังเป็นความท้าทายในหลายประเทศ เพราะงานวิจัยมากกว่า 70% ไม่ได้อยู่ในรูปแบบ open-access ที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ศึกษาข้อค้นพบด้านงานวิจัย จากรายงานฉบับเต็ม ‘Science Report 2021 – The Race Against Time for Smarter Development’ ที่ UNESCO

การพัฒนางานวิจัย เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย 
- #SDG4 มีการศึกษาที่มีคุณภาพ ในประเด็น ให้ทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน (4.7)
- #SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง ในประเด็น การเข้าถึงข้อมูลและการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (16.10)
- #SDG17 หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในประเด็น ส่งเสริมความร่วมมือในการเข้าถึง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และ ยกระดับการแบ่งปันความรู้ (17.6)

ที่มา : UN News , BBC

Last Updated on กรกฎาคม 3, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น