เปิดเพลงช้าในอุโมงค์ ช่วยให้ผู้ขับขี่ขับรถช้าลง มีสมาธิ และปลอดภัยมากขึ้น

นักวิทยาศาสตร์จากจีน แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาพฤติกรรมผู้ขับขี่ผ่านเทคโนโลยีจำลองโลกเสมือนจริง (Virtual Reality:VR) พบว่า การเล่นเพลงช้าภายในอุโมงค์ ช่วยลดความตึงเครียดและความเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่รถ และยังทำให้ใช้ความเร็วลดลงและแซงน้อยครั้งลง

การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การเกิดอุบัติเหตุบนถนนเปิดเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าในอุโมงค์ แต่หากเกิดขึ้น อุบัติเหตุในอุโมงค์มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงกว่ามาก โดยจุดที่มักจะเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ ช่วงก่อนหรือหลังทางเข้าอุโมงค์ เนื่องจากผู้ขับขี่ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางถนนกะทันหันจากแสงสว่างที่ลดลง เป็นต้น และอีกจุดที่เกิดอุบัติเหตุในอุโมงค์บ่อยครั้งคือ ช่วงกลางของความยาวอุโมงค์ โดยมีสาเหตุมาจากที่ผู้ขับขี่อาจผ่อนคลายความระแวดระวังมากเกินไปหลังปรับตัวให้ชินกับสภาพแวดล้อมภายในอุโมงค์มาสักระยะแล้วจนรู้สึกเบื่อหน่าย

นักวิจัยใช้ความรู้เชิงลึกทั้งทางวิศวกรรมศาสตร์ จิตวิทยา สรีรวิทยา และประสาทวิทยาศาสตร์ ในการทำการทดลองกับผู้ขับขี่หญิงและชายทั้งหมด 40 คน ผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริงสำหรับบุคคลที่สามารถสร้างความรู้สึกจมดิ่งจนคล้ายกับอยู่ในโลกความเป็นจริง  (Immersive VR) โดยจำลองการขับขี่ความเร็ว 80-100 กม./ชม. ในอุโมงค์ขนาดสี่เลนยาว 5,100 เมตร ที่มีการเดินรถสวนทั้งสองทิศทาง เพื่อเปรียบเทียบการตอบสนองทางสรีรวิทยาของผู้ขับขี่ที่ได้ยินเสียงพื้นหลังประกอบระหว่างการขับขี่ 5 รูปแบบ คือ เสียงที่บันทึกจากอุโมงค์จริง ดนตรีจังหวะช้า (72 BPM) ดนตรีจังหวะเร็ว (96 BPM) เสียงไซเรนรถตำรวจ และ เสียงผู้หญิงเตือน เช่น โปรดเปิดไฟ โปรดชะลอความเร็วและห้ามแซง

การทดลอง พบว่า ผู้ขับขี่จะขับรถเร็วที่สุดเมื่อเปิดเพลงเร็ว เช่นกันกับผู้ขับขี่จะขับรถช้าที่สุดเมื่อฟังเพลงช้า เนื่องจากคนขับรู้สึกผ่อนคลายมากที่สุด ในขณะที่เสียงเตือน เพลงเร็ว และเสียงไซเรนเพิ่มความประหม่าของผู้ขับขี่ขึ้น โดยวัดจากทั้งการนำไฟฟ้าของผิวหนังอัตราการเต้นของหัวใจ และการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองของผู้ทดลอง

ผู้วิจัยเสนอรูปแบบการใช้เสียงประกอบในอุโมงค์เพื่อเสริมความปลอดภัยทางการจราจรที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ การเล่นเพลงช้าเพื่อเป็นเสียงพื้นหลังในอุโมงค์ เพื่อให้ผู้ขับขี่ขับรถช้าลง แซงน้อยลง และควรเปิดเสียงไซเรนบริเวณทางเข้า ทางออก และในกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ขับขี่ตื่นตัวในจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

การขับขี่ปลอดภัย เกี่ยวข้องกับ SDGs ใน #SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในประเด็น  การตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน (3.6)

ที่มา : EurekAlert

Last Updated on กรกฎาคม 12, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น