Director’s Note: 08: ว่าด้วย High-Level Political Forum on Sustainable Development

สวัสดีวันจันทร์ครับ

สองสัปดาห์นี้เป็นช่วงเวลาสำคัญประจำปีของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในระดับโลก เพราะเป็นสองสัปดาห์ของการประชุม High-Level Political Forum on Sustainable Development (HLPF) ซึ่งเจ้าภาพหลักคือ คณะมนตรีด้านเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติ (ECOSOC) และ UN Department for Economic and Social Affairs (UNDESA) ทาง SDG Move โดยโครงการ SDG Watch ได้ทำการ Cover ประเด็นนี้อย่างครอบคลุมและแข็งขันมาตลอดสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ผ่านทางคอลัมน์พิเศษ “นับถอยหลัง HLPF 2021” 

ท่านสามารถติดตามอัปเดตที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่ https://www.sdgmove.com/?s=HLPF

นอกจากนั้น ปีนี้ยังเป็นปีที่ประเทศไทยนำเสนอรายงานการทบทวนระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 6 ปีอีกด้วย และในครั้งนี้ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และเครือข่าย SDSN ประเทศไทย (เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย) ได้ถูกบรรจุเข้าไปในรายงาน VNR ปีนี้ด้วยในฐานะที่เป็นกลไกการสร้างความร่วมมือในภาคส่วนวิชาการเพื่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ในส่วนนี้ต้องขอบพระคุณ กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ที่เล็งเห็นความพยายามของพวกเรา

หลายคนอาจเข้าใจว่า HLPF เป็นเวทีการประชุมที่ให้ประเทศต่าง ๆ มาโฆษณาสิ่งที่ตนได้ทำไปเพื่อขับเคลื่อน SDGs แต่แท้จริงแล้ว HLPF มีบทบาทอย่างสำคัญในการกำกับและกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ในประเทศต่าง ๆ ด้วย แม้ว่าตัว SDGs และวาระการพัฒนา2030 จะไม่ได้มีสภาพบังคับก็ตาม 

เวที HLPF นั้น มีหน้าที่เป็นเวที ‘ทบทวน’ (Review) มากกว่าจะเป็นเวที ‘ติดตาม’ (Monitor) หรือ ‘ประเมินผล’ (Evaluate) การใช้คำว่าทบทวน เป็นการสะท้อนว่า SDGs ไม่ได้มีสภาพบังคับ และทุกประเทศไม่ได้มีหน้าที่และอยู่ภายใต้การควบคุมขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) (คำว่า ‘ติดตาม’ และ ‘ประเมินผล’ จะใช้กับกรณีที่ประเทศต่าง ๆ มีพันธกรณีกับความตกลงนั้น ๆ มีระดับความเข้มข้นมากกว่า) ทาง UN ต้องจัดเวทีให้มีการ ‘ทบทวน’ แทนเพื่อเป็นการติดตามโดยอ้อม โดยเชิญชวนให้ประเทศต่าง ๆ มานำเสนอรายงาน VNR ตามความสมัครใจของประเทศนั้น ๆ 

อย่างไรก็ดี แม้จะสมัครใจก็ตาม แต่การอยู่ในเวทีโลกโดยไม่เคยมีการนำเสนอรายงาน VNR เลย ทั้ง ๆ ที่ประเทศได้ลงนามรับรองวาระการพัฒนา 2030 ในขณะที่เพื่อน ๆ ประเทศอื่น ๆ นำเสนอและแสดงความก้าวหน้ามาตลอด ก็เป็นการสร้างแรงกดดันโดยเพื่อนร่วมงาน (peer pressure) ไปโดยปริยาย 

ดังนั้น กลไก HLPF จึงเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการผลักดันการขับเคลื่อนของ SDGs หากไม่มีกลไก HLPF นี้อาจทำให้ SDGs ไม่ขับเคลื่อนก็เป็นได้ วาระการพัฒนา 2030 อาศัยวิธีการกำหนดเป้าหมายระดับโลกที่ประเทศสมาชิกยอมรับร่วมกัน โดยไม่ได้มีองค์กรหรือกลไกเฉพาะถูกตั้งขึ้นมาเพื่อการนี้ ดังนั้นในการจะผลักดันให้แต่ละประเทศขับเคลื่อนไปตามที่ให้คำมั่นกันไว้ การมีพื้นที่ให้นำเสนอสิ่งที่ทำได้ดีไปพร้อม ๆ กับการกดดันประเทศอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ทำนั้น เป็นกลไกเดียวภายใต้ความตกลงที่ไม่มีพันธะ ที่จะทำให้ประเทศต่าง ๆ เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนนี้ไปได้ หากไม่มี HLPF วาระการพัฒนา 2030 ก็อาจจะเป็นอีกความตกลงหนึ่งที่ประเทศให้การรับรองแล้วไม่ปฏิบัติตามก็เป็นได้

ลักษณะที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ HLPF คือการเป็นเวทีที่มาชื่นชมความสำเร็จของกันและกันมากกว่าการเป็นเวทีที่มาติดตามและจับผิดการดำเนินการของกันและกัน นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ประเทศต่าง ๆ ตอบรับกับการนำเสนอในเวที HLPF เพราะไม่รู้สึกกดดันมากเกินไปเมื่อเทียบกับการถูกติดตามตรวจสอบในพันธะสัญญาอื่น ๆ 

ถึงกระนั้น HLPF ก็ไม่ใช่ที่ที่รัฐบาลจะมาโฆษณาตนเองหรือกระทั่งฟอกตนเองด้วย SDGs (SDG washing) ได้ง่ายเสมอไป เพราะทุกครั้งที่มีการนำเสนอรายงาน VNR ประเทศอื่น ๆ สามารถตั้งคำถามกับการนำเสนอของเราได้ และที่สำคัญไปกว่านั้น UN ยังเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมจากประเทศที่นำเสนอ สามารถตั้งคำถามกับการนำเสนอของประเทศของตนได้ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มหลัก (Major Groups of Stakeholders) ก็สามารถตั้งคำถามกับการนำเสนอของประเทศต่าง ๆ ได้เช่นกัน 

นอกเหนือจากบทบาทในการกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการขับเคลื่อน SDGs ตามศักยภาพของตนโดยใช้เวที HLPF เป็นเวทีสร้างแรงกดดันและเปิดให้ภาคประชาสังคมมีเวทีที่เท่าเทียมกับภาครัฐในการตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาแล้ว เวที HLPF ยังเป็นเวทีที่ภูมิภาคต่าง ๆ รายงานความก้าวหน้าของการขับเคลื่อน SDGs รวมถึงมีการทบทวนเป้าหมาย SDGs บางเป้าหมายในแต่ละปี (ปีนี้มีการทบทวน 9 เป้าหมาย ประกอบด้วย SDG 1, 2, 3, 8, 10, 12, 13, 16 และ 17) และในทุก ๆ 4 ปีจะมีการทบทวนอย่างครอบคลุม (Comprehensive Review) ของเป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมายและเป็นการประชุมระดับผู้นำประเทศในการประชุม HLPF อีกด้วย (ปกติการประชุม HLPF จะเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี)

ถึงกระนั้น อาจจะไม่เพียงพอหากเวทีอย่าง HLPF จะมีเฉพาะในระดับโลกเท่านั้น  การมีเวทีลักษณะเดียวกันในระดับชาติอาจมีความจำเป็นเช่นกัน เพราะรัฐบาลทุกรัฐบาลมีความรับผิดรับชอบต่อประชาชนในประเทศ การขับเคลื่อน SDGs ก็เช่นกัน รัฐบาลมีความรับผิดรับชอบต่อประชาชนที่จะต้องรายงานให้ทราบว่า มีการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้างเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ดี ในประเทศไทยนั้น เหมือนว่าการขับเคลื่อน SDGs จะมีความรับผิดรับชอบต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่อย่างเดียว และอาจจะไปไม่ถึงการรายงานความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนเป้าหมายเหล่านี้ต่อรัฐสภาด้วยซ้ำ

เวทีลักษณะเดียวกันนี้ในระดับประเทศจะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อน SDGs และสร้างความรับผิดรับชอบระหว่างรัฐกับประชาชนในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย

Last Updated on มกราคม 4, 2022

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น