ข้อกำหนดใหม่ พรก. ฉุกเฉิน อาจกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเพจ iLaw ได้เสนอข่าว ข้อกำหนดใหม่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่ขยายองค์ประกอบความผิดให้กว้างออกไปจนถึงห้ามการโพสต์ข้อความให้ประชาชนหวาดกลัวแม้จะเป็นความจริง ซึ่งการทำผิดพรก. มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท โดยเริ่มบังคับใช้ในวันดังกล่าวเป็นวันแรก

โดยข้อกำหนดใหม่ ตาพรก. ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 ซึ่งเป็นมาตรการในการควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของรัฐบาล มีใจความว่า

“ข้อ 11 มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548”

โดยข่าวดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลของสาธารณชนในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นี้ รวมไปถึงอาจกระทบเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และปิดกั้นการทำหน้าที่เสนอข้อมูลข่าวสารตามความเป็นจริง ดังที่ได้มี แถลงการณ์ร่วม 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ต่อการออกข้อกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินกระทบต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน เมื่อข้อกำหนดใหม่นี้ได้ขยายฐานความผิดให้กว้างออก โดยตัดข้อความ “ไม่เป็นความจริง” ออกไป ทำให้แม้ว่าข้อมูลดังกล่าว ‘เป็นความจริง’ แต่หาก ‘อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว’ ก็ถูกเอาผิดตามกฎหมายได้

การได้รับข้อมูลข่าวสารเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน หรือที่เรียกว่า ‘Right to Know‘ โดยเฉพาะข้อมูลที่รัฐเป็นเจ้าของ และรัฐเองก็มีหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและมีผลต่อสาธารณชน เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลครบถ้วนประกอบการตัดสินใจ และได้มีส่วนร่วมในการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นอย่างมีเสรีภาพ (Freedom of Speech / Freedom of Expression) ต่อการดำเนินการของรัฐในทุกระดับ

ศึกษาเพิ่มเติม : SDG Updates | Right to know สิทธิได้รู้ : การเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างไรต่อการบรรลุ SDGs

สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วน เกี่ยวข้องกับ SDGs ในเป้าหมาย ..
- #SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง ในประเด็น สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูล และมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตาม กฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่าง ประเทศ

ที่มา : iLaw , สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

Last Updated on กรกฎาคม 16, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น