‘Towards a dementia-inclusive society’ คู่มือใหม่ของ WHO ที่จะช่วยให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม นอกจากจะเผชิญกับปัญหาด้านจิตใจ สังคม อารมณ์ และการเงินแล้ว ยังประสบกับความรู้สึกถูกตีตราและการเลือกปฏิบัติ องค์การอนามัยโลก (WHO) ตระหนักดีในข้อนี้ จึงได้มีแผนปฏิบัติการระดับโลกว่าด้วยเรื่องการตอบสนองด้านสาธารณสุขต่อภาวะสมองเสื่อม 2560-2568 (Global action plan on the public health response to dementia 2017-2025)

และเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา WHO จึงได้ออกคู่มือ ‘Towards a dementia-inclusive society ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการฯ ข้างต้น เพื่อสนับสนุนให้บุคคล ชุมชน และประเทศต่าง ๆ นำไปริเริ่มโครงการที่เป็นมิตรต่อผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม สร้างการตระหนักรู้และความเข้าใจ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่กีดกันผู้ที่อยู่ในภาวะดังกล่าว โดยที่ผู้ที่มีภาวะนี้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความหมาย มีตัวตน มีศักดิ์ศรี และมีความปลอดภัย โดยไม่มีถูกตีตราหรือถูกเลือกปฏิบัติ

โดยในรายละเอียดโดยคร่าว คู่มือแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการให้ข้อมูลเบื้องต้นและกรอบแนวคิดในการสร้างสังคมที่ไม่ทิ้งผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมไว้ข้างหลัง (dementia-inclusive societies) และที่ส่วนที่สองประกอบไปด้วย 4 บทเรียนที่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง อาทิ การบูรณาการประเด็นภาวะสมองเสื่อมเข้ากับข้อริเริ่มที่มีอยู่ โดยในแต่ละบทเรียนนั้นจะมีขั้นตอนการลงมือทำและแบบฝึกหัดเอาไว้ และผู้ใช้งานสามารถนำแต่ละบทเรียนมาประกอบรวมกันได้ หรือเลือกไปปรับใช้โดยแยกส่วนกันให้เหมาะสมกับบริบทและความต้องการของพื้นที่

ทั้งนี้ คู่มือดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถวางแผน ลงมือปฏิบัติ และประเมินโครงการ/ข้อริเริ่ม หรือนำประเด็นภาวะสมองเสื่อมเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุได้อย่างเข้าใจภาวะสมองเสื่อมมากขึ้น โดยที่สอดคล้องกับ ‘ทศวรรษของการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะที่ดี’ (UN Decade of Healthy Aging) ด้วย

● เข้าถึงคู่มือ ที่นี่
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่:
SDG 101 | SDGs วาระ 2030 พยายามคำนึงถึงคนทุกกลุ่มแต่ยังไม่ครอบคลุมถึง “ผู้สูงอายุ”
ก่อนไปสู่ ‘Healthy Ageing’ ต้องเข้าใจ 10 ความจริงของ ‘การสูงวัย และ สุขภาพ’

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
New WHO toolkit promotes inclusion of people with dementia in society (WHO)
Towards a dementia inclusive society (WHO)

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น