ธรรมาภิบาลโลก (global governance) หลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร ‘ความร่วมมือพหุภาคี’ ยังคงเป็นหัวใจสำคัญ

เข้าถึงรายงานการสำรวจ ที่ : Global governance after Covid-19

โครงการ Global Economy and Development Program จากสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะ Brookings จัดทำรายงานการสำรวจ ‘Global governance after Covid-19’ มุมมองของประเทศซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ และมองไปข้างหน้าว่าการเสริมสร้างธรรมาภิบาลระดับโลก (global governance) หรือจะ ‘build back better’ จากโรคระบาดโควิด-19 ได้ ต้องปรับจากการเน้นที่ความร่วมมือทวิภาคี (bilateralism) ในปัจจุบัน หันกลับมาเสริมสร้างความร่วมมือพหุภาคี (multilateralism) ให้เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม

รายงานฉบับนี้ เป็นการสรุปและวิเคราะห์ผลจากการสำรวจ โดยเริ่มตั้งแต่ที่นายโจ ไบเดน เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน และนำพาสหรัฐฯ หวนคืนสู่ความร่วมมือและข้อริเริ่มพหุภาคีต่าง ๆ ในโลก สถานการณ์การแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจจีนและสหรัฐฯ ขณะที่โลกกำลังรุดหน้าไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่คาดหวังให้ช่วยเข้ามาส่งเสริมสวัสดิภาพที่ดีของมนุษย์ในขณะที่มีความกังวลเรื่องการใช้งานไปในทางที่ผิด ตลอดจนเรื่องสำคัญอย่างการระบาดของโควิด-19 ที่ประเทศกำลังพัฒนาประสบกับปัญหาในการควบคุมสถานการณ์ อัตราการฉีดวัคซีนต่ำ และเศรษฐกิจในโลกที่ฟื้นฟูกลับมาได้ไม่เท่ากัน ยิ่งตอกย้ำปัญหาเดิมอย่าง ‘ความร่วมมือในระดับพหุภาคี’ ระหว่างบรรดาประเทศต่าง ๆ ที่ส่อเค้าปัญหามายาวนานก่อนโรคระบาดจะปะทุ แต่โลกไม่อาจจะใช้ความร่วมมือระดับทวิภาคี หรือเพียงระหว่าง 2 ประเทศ เท่านั้นที่จะฝ่าฝันวิกฤติต่าง ๆ ไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปัจจุบัน ปัญหาต่าง ๆ ข้ามพรมแดนระหว่างกันทั้งสิ้น

ประเด็นตัวอย่างของวิกฤติความร่วมมือระดับพหุภาคี มีอาทิ ความไม่พอใจต่อกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำที่มีสูงขึ้น การแตกแยกในสังคมเป็นกลุ่มก้อน ความไม่มั่นคงในอาชีพ นอกจากนั้น ก็ได้มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปธรรมาภิบาลโลก เพื่อให้สะท้อนและสอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ ประชากรศาสตร์ และการชั่งน้ำหนักเรื่องการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะที่จะต้องมาจากการให้ความร่วมมืออย่างเต็มกำลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก สหประชาชาติ (UN) และองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นต้น ทั้งนี้ โดยทำการปรับปรุงและสนับสนุนโดยเฉพาะในด้านการค้า สาธารณสุข ธรรมาภิบาลของการทำให้เป็นดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รายงานยังชี้ต่อไปถึงความสำคัญของความร่วมมือระดับพหุภาคีที่จะต้อง ‘ทำงานและตอบสนองต่อวิกฤติไปอย่างสอดประสานกัน’ (globally concerted actions and responses) ยกตัวอย่างประเทศซีกโลกใต้ที่เมื่อความร่วมมือระดับพหุภาคีอ่อนแอลง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาการค้า ปัญหาที่ไม่อาจป้องกันความขัดแย้งได้ เหล่านี้กลับจะเด่นชัดขึ้นมา

โดยเฉพาะว่าการจะ ‘build back better’ ฟื้นกลับจากโลกระบาดได้ต้องมาจากการสร้างระบบความร่วมมือพหุภาคีเพื่อธรรมาภิบาลระดับโลกที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขณะเดียวกันกับที่เคารพการเรียกร้องของประเทศต่าง ๆ ที่จะคงไว้ซึ่งการตัดสินใจใด ๆ ด้วยตัวเอง (autonomy)

โดยที่ระบบโลกจะต้องสนับสนุนผลประโยชน์ที่มีร่วมกันของทั้งโลก (global commons) ไม่ว่าจะเป็นสินค้าสาธารณะ ทักษะ ทรัพยากร และการเปิดพื้นที่สนับสนุนให้มีการบูรณาการระหว่างผู้เล่นจากหลากหลายวงการที่นอกเหนือไปจากระดับรัฐ อาทิ เมืองต่าง ๆ นักวิทยาศาสตร์ องค์การภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาคแรงงาน และผู้เล่นอื่น ๆ ที่มีบทบาทต่อการระดมสมองเพื่อจัดการปัญหาในระดับโลกและตามประเด็นปัญหาเฉพาะทาง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.15) เคารพพื้นที่ทางนโยบายและความเป็นผู้นำของแต่ละประเทศที่จะสร้างและดำเนินงานตามนโยบาย
-(17.16) ยกระดับความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
-(17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม โดยสร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา:
Global governance after COVID-19: Survey report (brookings.edu)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น