SDG Vocab | 50 – Invasive Alien Species (IAS) – ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือ alien species คือ ชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต (สัตว์ พืช จุลินทรีย์ เชื้อรา) ที่ไม่ได้มีอยู่เดิมในสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ ได้เข้ามาในพื้นที่โดยทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ และเมื่อสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ต่างถิ่นดังกล่าวสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่และเริ่มแพร่ขยายพันธุ์ได้มากขึ้นจนสร้างผลกระทบทางลบต่อความหลากหลายทางชีวภาพท้องถิ่น จึงจะถูกจัดเป็น ‘ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน‘ หรือ invasive alien species (IAS)

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (IAS) สามารถสร้างผลกระทบทางนิเวศวิทยาต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อสิ่งมีชีวิตนั้นไม่มีกลไกทางธรรมชาติ เช่น ผู้ล่า (predator) ในสิ่งแวดล้อมใหม่เพื่อควบคุมปริมาณ ก็จะทำให้เกิดการแพร่พันธุ์อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว หรือในบางกรณี IAS อาจเป็นพาหะนำโรคใหม่ที่ทำลายสายพันธุ์พื้นเมืองจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อาหาร ไปจนถึงระดับระบบนิเวศ เช่น การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของดิน หรือ การสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่กระตุ้นให้เกิดไฟป่ามากขึ้น ผลกระทบเหล่านี้สามารถนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตพื้นเมือง ไม่เฉพาะแค่ในท้องถิ่นหรือแต่ถึงระดับโลกและนำไปสู่วิกฤตด้านระบบนิเวศในที่สุด

อ้างอิงจาก Red List of Threatened Species ขององค์กรเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ได้ระบุว่า การเข้ามาของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นสาเหตุอันดับสองของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต (รองจากการทำลายจากกิจกรรมของมนุษย์)

ที่สำคัญ IAS ไม่ใช่แค่ปัญหาด้านมิติสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาเชิงสังคมและเศรษฐกิจอีกด้วย เพราะการรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นยังสามารถสร้างผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์ด้วยการเป็นพาหะนำโรคต่างถิ่น และเป็นการคุกคามความมั่นคงทางอาหารและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์เพราะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย อีกทั้งยังก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจด้วยการทำลายแหล่งธรรมชาติที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย

ผลกระทบของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน
ที่มา : IUCN

การเดินทางเข้ามาของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานส่วนใหญ่ เป็นผลมาจากโลกาภิวัตน์ของเศรษฐกิจที่ทำให้มีการเคลื่อนย้ายของคนและสินค้าที่มากขึ้น เข้ามาทั้งโดยตั้งใจ เช่น ผักตบชวา ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้และถูกส่งออกไปทั่วโลกเพื่อประโยชน์ในการเป็นพืชประดับ แต่กลายแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วตามทางน้ำทำให้ขัดขวางการระบายน้ำ รบกวนระบบนิเวศทางน้ำท้องถิ่น และโดยไม่ตั้งใจ เช่น ยุงลายเสือเอเชีย (Aedes albopictus) ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพาหะนำโรคชิคุนกุนยาได้แพร่ระบาดไปหลายประเทศทั่วโลกผ่านการติดไปกับเรือขนส่งสินค้า นอกจากนั้น IAS ยังสามารถถูกชักนำผ่านปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น มากับน้ำท่วม ซึ่งผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็อาจทำให้เกิดน้ำท่วมมากขึ้น และมีชนิดพันธุ์เดินทางไปต่างถิ่นมากขึ้น

IUCN ระบุว่า วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการหยุดยั้งผลกระทบด้านลบของ IAS คือ การป้องกันการแพร่กระจาย โดยต้องควบคุมการค้าหรือการเคลื่อนย้ายของสิ่งมีชีวิต และหากเมื่อมี IAS ในพื้นที่แล้ว การดำเนินการตรวจหา เฝ้าติดตาม และกำจัดชนิดพันธุ์ดังกล่าวแต่เนิ่น ๆ จะสามารถหยุดการแพร่กระจายในวงกว้างได้

#SDG15 – (15.8)  นำมาตรการเพื่อป้องกันการนำเข้าและลดผลกระทบจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในระบบนิเวศบกและน้ำและควบคุมหรือขจัดชนิดพันธ์พืชตามลำดับความสำคัญมาใช้ ภายในปี 2563′

Target 15.8 : By 2020 introduce measures to prevent the introduction and significantly reduce the impact of invasive alien species on land and water ecosystems, and control or eradicate the priority species


SDG Vocab รู้จักคำศัพท์ รู้จัก SDGs

หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้น
ไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ

แหล่งที่มา :
Invasive alien species (IUCN)

Invasive alien species and sustainable development (IUCN)
รายงานสำรวจสถานะของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทประเทศไทยและทางเลือกมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ สังคม และกฎหมาย เป้าหมายที่ 15 (SDG Move)

Last Updated on มกราคม 3, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น