เปิดตัว “แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Finance Initiatives for Thailand) โดย 5 หน่วยกำกับดูแลภาคการเงินไทย

Working Group on Sustainable Finance หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน 5 หน่วยงานของไทยเปิดตัว “แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน” ความร่วมมือสำคัญในการกำหนดทิศทางและกรอบการดำเนินงานด้าน ‘Sustainable Finance’ หรือ ‘การเงินเพื่อความยั่งยืน‘ ในภาคการเงินไทยเพื่อการขับเคลื่อนการการเติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 คณะทำงานด้านความยั่งยืนในภาคการเงิน (Working Group on Sustainable Finance) ซึ่งประกอบด้วย 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่เอกสาร “แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Finance Initiatives for Thailand) ที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางและกรอบการดำเนินงานของภาคการเงินไทยในฐานะที่เป็นตัวกลางในการระดมทุนและการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ให้ตระหนักถึงบทบาทในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และคำนึงถึงผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรวมของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ได้แก่

  1. สร้างความก้าวหน้าให้บทบาทภาคการเงินทั้งในปัจจุบันและอนาคตเพื่อสนับสนุนการบรรลุโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศไทยและอาเซียนผ่านการให้ความสำคัญกับ SDGs อย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำตามที่กำหนดไว้ในเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contributions: NDCs)
  2. อำนวยความสะดวกการพัฒนา การบังคับใช้การตัดสินใจและนโยบายที่เกี่ยวของกับการเงินที่ยั่งยืนในภาคการเงิน
  3. สร้างแรงบันดาลใจให้หน่วยงานภาคการเงิน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสังคมโดยรวม ในการให้คุณค่า ส่งเสริม และกำหนดให้รวมประเด็นและข้อพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ สังคม และธรรมาภิบาล เข้าไปในกระบวนการตัดสินใจทางการเงินเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้วย
  4. กำหนดการดำเนินการตามข้อเสนอแนะและเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนของภาคการเงินของประเทศไทยภายใน ธันวาคม 2568

และมีแนวทางขับเคลื่อนสำคัญ (Key Strategic Initiatives :KSI) 5 ข้อ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  1. Developing a Practical Taxonomy : การกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน (Taxonomy) เพื่อให้ผู้กำกับดูแลใช้อ้างอิงในการออกนโยบายสนับสนุนการเงินที่ยั่งยืนให้สอดคล้องกัน และให้ผู้ประกอบธุรกิจการเงินนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนเป้าหมายด้านความยั่งยืน
  2. Improving the Data Environment : การเปิดเผยข้อมูล ESG ที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการติดตาม วิเคราะห์ และตัดสินใจทางการเงิน รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์และนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ อีกทั้ง สามารถจำแนกประเภทการลงทุนและวัดความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่เกิดจากประเด็นด้าน ESG ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพิ่มความโปร่งใสในการกำกับและตรวจสอบการดำเนินธุรกิจ  
  3. Implementing Effective Incentives : การสร้างมาตรการจูงใจ (Incentives) เพื่อกระตุ้นให้เกิดตลาดและการลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน โดยส่งเสริมให้ทั้งฝั่งผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนเห็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีด้วยความเสี่ยงที่ต่ำลง 
  4. Creating Demand-led Products and Services : การสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้ผู้เล่นในภาคการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ในขณะที่ปรับลดกฎเกณฑ์เพื่อลดภาระสำหรับการออกผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ 
  5. Building Human Capital : การสร้างทรัพยากรบุคคลในภาคการเงินที่มีคุณภาพและมีองค์ความรู้ในการผลักดันงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

การขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นสำคัญ ทั้งป่าไม้ แหล่งน้ำ สิ่งแวดล้อมทางทะเล และทรัพยากรแร่ ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต การส่งออก และการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้สำคัญของประเทศ ดังนั้น เพื่อจำกัดความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านภาคธุรกิจและการลงทุนจำเป็นจะต้องอยู่บนฐานคิดที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance : ESG) ในทุกกระบวนการอย่างจริงจัง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับ
#SDG17 ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเงินยังเป็นหนึ่งในแนวทางในการบรรลุ SDGs ทุกเป้าหมาย (Means of Implementation) อีกด้วย

ที่มา : Sustainable Finance Initiatives for Thailand – การพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น