SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 2 ประจำเดือนพฤษภาคม 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  7 พฤษภาคม – 12 พฤษภาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

เลือกตั้งล่วงหน้า กกต. ส่อพิรุธหลายจุด ‘เครือข่ายคนรุ่นใหม่ฯ ’ ร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบการทำงาน

‘ตัวแทนเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม’ ร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบการทำงานของ กกต. หลัง เลือกตั้งล่วงหน้า พบพิรุธหลายจุด เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ตัวแทนเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ยื่นหนังสือร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่สำนักงาน ป.ป.ช. หลังพบการเลือกตั้งล่วงหน้าส่อแววทุจริต ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า และการเลือกตั้งนอกเขตขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยตัวแทนกลุ่มดังกล่าวเล็งเห็นว่าการดำเนินการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 224 (2) จึงขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 234(1) โดยพบความผิดปกติดังนี้

1.การปฏิบัติหน้าที่โดยความบกพร่องในการเปิดให้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ในช่วงวันสุดท้ายเว็บไซต์ของการลงทะเบียนล่ม ส่งผลให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนไม่สามารถลงทะเบียนการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตตามกฎหมายได้

2.การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ในวันเลือกตั้งล่วงหน้ากระทบสิทธิทางการเมืองของประชาชนอย่างร้ายแรงได้เเก่/เช่น ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตแล้วแต่เสียสิทธิในการเลือกตั้งเนื่องจากไม่ปรากฏชื่อในบัญชี, กรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเขียน เขต และรหัสหน้าซองเลือกตั้งผิด ซึ่งอาจทำให้ผลคะแนนไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ใช้สิทธิอย่างแท้จริงและเกิด “บัตรเขย่ง”, ข้อมูลผู้สมัครและพรรคไม่ครบ, กรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยขัดขวางการสังเกตการณ์ของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน และการปิดผนึกซองบรรจุบัตรออกเสียงลงคะแนนไม่ถูกต้อง

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องในหน้าที่ของ กกต. หลายประการ ทำให้ประชาชนกว่า 4 แสนคนร่วมลงชื่อถอดถอน กกต. ในเว็บไซต์ change.org สะท้อนถึงความคับข้องใจของประชาชนและตื่นตัวต่อการเลือกตั้งในครั้งนี้ และแม้จะมีการแจ้งเตือนถึงการส่อพิรุธของ กกต. ตั้งแต่เลือกตั้งล่วงหน้า แต่ในวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ยังคงพบข้อผิดพลาดในหลายเขตพื้นที่ ทำให้ประชาชนยังคงต้องจับตาผลการเลือกตั้งครั้งนี้ต่อไป

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.5 ลดการทุจริตและการรับสินบนทุกรูปแบบอย่างมีนัยสำคัญ 16.6 พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสและ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

เข้าถึงได้ที่ : เครือข่ายคนรุ่นใหม่ฯ ร้อง ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการทำงานของ กกต. – The Reporters 

กป.อพช.อีสาน ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวทีวิพากษ์ “แก้รัฐธรรมนูญ-ไม่เอา BCG ฟอกเขียว”

คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.ภาคอีสาน) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวทีสาธารณะก่อนการเลือกตั้ง “วิพากษ์แผนพัฒนาอีสานผ่านนโยบาย BCG และผลกระทบจากรัฐธรรมนูญ 2560” พร้อมจัดทำข้อเสนอพรรคการเมือง “เชิงนโยบาย–รายประเด็น” โดยมี 3 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล สามัญชน และเสรีรวมไทย ส่งตัวแทนร่วม รับข้อเสนอ และรับปากเร่งดำเนินการซึ่งสาระสำคัญของเวทีนักวิชาการได้วิพากษ์ เห็นไปในทางเดียวกันว่า ทั้งแผนพัฒนาภาคอีสาน นโยบาย BCG และและผลกระทบจากรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ก่อปัญหาให้คนอีสานหนัก เช่นเดียวกับทั้งประเทศ จึงจำเป็นต้องปลดล็อกด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ โดยพรรคก้าวไกล เสนอภายใน 100 วันแรก ต้องตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่นเดียวกับ พรรคสามัญชน ที่เสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และพรรคเสรีรวมไทย ที่เสนอแก้กฎหมายที่ล้าหลัง

นโยบาย BCG คือแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน สีเขียว เกิดขึ้นในรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นวาระหลักในการประชุมเอเปค 2565 โดยระบุว่าจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเเละความยากจน ซึ่งเน้นในเรื่องการผลิตไบโอดีเซลที่ใช้มันสำปะหลังในการผลิตเน้นเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยใช้ชานอ้อยมาเป็นพลังงานไฟฟ้า เน้นเรื่องการปลูกป่าเพื่อหาคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นหลุมดำสำคัญ เพราะการปลูกป่าที่ว่าคือการเอาพื้นที่ป่าที่เกิดกรณีพิพาทกับประชาชนมาปลูก สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างมาก โดยคณะกรรมการของ BCG ประกอบด้วยข้าราชการและฝ่ายทุน รวมทั้งมีคณะกรรมการอาหารและยา ล้วนไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.4 ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.1 ดำเนินการให้เป็นผลตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนทุกประเทศนำไปปฏิบัติ และ12.2 บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573 และ SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ

เข้าถึงได้ที่ : “จะแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อแก้วิกฤตป่าไม้-ที่ดิน” คำสัญญา 7 พรรค ก่อนเลือกตั้ง 66 – Greennews 

ประชุม ‘COP28’ ปีนี้ เจ้าภาพอย่าง UAE ชี้โลกยังไม่พร้อมที่จะยุติการใช้พลังงานฟอสซิล

มาเรียม อัลเมห์รี รัฐมนตรีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ‘UAE’ เจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่าง COP28 ในช่วงปลายปี 2023 นี้ชี้ว่า โลกอาจยังไม่พร้อมที่จะยุติการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งความคิดเห็นดังกล่าวสะท้อนจุดยืนที่แตกต่างกันเกี่ยวกับแนวทางในการรับมือและต่อสู้กับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกก่อนที่การประชุม COP28 จะเปิดฉากขึ้น ขณะที่ บรรดารัฐบาลจากประเทศตะวันตกที่มั่งคั่ง รวมถึงประเทศหมู่เกาะที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสิ่งแวดล้อมได้เดินหน้าผลักดันให้ยุติการใช้พลังงานฟอสซิล ส่วนประเทศที่ร่ำรวยและอุดมไปด้วยทรัพยากรด้านพลังงาน โดยเฉพาะในแถบตะวันออกกลาง ได้สนับสนุนให้มีการขุดเจาะและใช้ประโยชน์จากพลังงานฟอสซิลต่อไป

โดยอัลเมห์รี ให้เหตุผลว่า การยุติการใช้พลังงานฟอสซิล จะส่งผลเสียต่อบรรดาประเทศที่พึ่งพาเชื้อเพลิงเหล่านี้ในการเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ อีกทั้งประเทศเหล่านั้นอาจไม่สามารถทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิลด้วยแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้โดยง่าย จึงเสนอให้มีการใช้เทคโนโลยีดักจับและจัดเก็บก๊าซเรือนกระจกที่ได้จากการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อลดความเข้มของก๊าซก่อนที่จะปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ควบคู่ไปกับการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน พร้อมทั้งชี้ว่ากลยุทธ์นี้จะมีส่วนช่วยทำให้ประเทศต่างๆ สามารถรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG7 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.2 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก และ 7.a ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573 SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.c ทำให้การอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไร้ประสิทธิภาพและนำไปสู่การบริโภคที่สิ้นเปลืองมีความสมเหตุสมผล โดยกำจัดการบิดเบือนทางการตลาดโดยให้สอดคล้องสภาวะแวดล้อมของประเทศ รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีและเลิกการอุดหนุนที่เป็นภัยเหล่านั้นในที่ที่ยังมีการใช้อยู่

เข้าถึงได้ที่ : ยูเออี เจ้าภาพ COP28 ปลายปี 2023 ชี้ โลกอาจยังไม่พร้อมที่จะยุติการใช้พลังงานฟอสซิล – the standard

มาสเตอร์การ์ด ประกาศผลิตใช้บัตร ‘พลาสติกรีไซเคิล-ย่อยสลายได้’ ภายในปี 2571

มาสเตอร์การ์ด ประกาศเป้าหมายในการใช้พลาสติกรีไซเคิลหรือวัสดุทางเลือก หรือ พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (bioplastics) แทนการใช้พลาสติกพีวีซีผลิตบัตรทั้งหมดในเครือข่ายภายในปี 2571 โดยบริษัทมุ่งเน้นสร้างความยั่งยืนและส่งเสริมให้ผู้บริโภคที่มองหาแนวทางในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้จ่ายของตนให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์บัตรที่มีความยั่งยืนได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยบัตรที่ผลิตขึ้นใหม่ทั้งหมดของมาสเตอร์การ์ดจะผลิตจากวัสดุที่มีความยั่งยืนยิ่งขึ้น เช่น พีวีซีรีไซเคิล (rPVC), พีอีทีรีไซเคิล (rPET) หรือพลาสติกชีวภาพชนิด PLA ภายใต้กลยุทธ์ด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ของธนาคารเอสเอชบีซี (HSBC) ที่เริ่มใช้พลาสติกรีไซเคิลในการผลิตบัตรใน 28 ตลาดทั่วโลกแล้ว อีกทั้งยังได้เพิ่มข้อกำหนดด้านธรรมาภิบาลของผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมถึงการใช้วัสดุที่มีความยั่งยืนในการผลิตบัตรเดบิต บัตรเครดิต และบัตรชำระเงินธุรกิจทั้งหมด ซึ่งช่วยลดขยะพลาสติกได้มากถึง 85 ตัน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  12.4 บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563 12.5 ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำและ 12.6 สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนลงวงจรการรายงานของบริษัทเหล่านั้น

เข้าถึงได้ที่ : มาสเตอร์การ์ด ประกาศใช้ พลาสติกรีไซเคิล-ย่อยสลายได้ ผลิตบัตรทั้งหมดในปี 2571- workpointtoday

สธ. ขยายบริการ ‘ผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด’ ใน รพศ./ รพท.ครบทุกจังหวัด

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย กระทรวงสาธารณสุข ขยายบริการดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปครบทุกจังหวัด และโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ รวม 131 แห่ง และ 1,348 เตียง จัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด ในโรงพยาบาลชุมชนอีก 494 แห่ง และจัดบริการศูนย์ธัญญารักษ์จังหวัด ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดระยะกลาง (intermediate care)  นำร่องเขตสุขภาพละ 1 แห่ง วางแผน 4 ปีข้างหน้า ผลิตจิตแพทย์เพิ่มอีกปีละ 30 คน ดูแลปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

โดยในส่วนของบุคลากรที่จะให้การดูแลผู้ป่วย สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัด และฟื้นฟูยาเสพติด ได้ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต และกรมการแพทย์ จัดการอบรมระยะสั้น 3 หลักสูตร ได้แก่ 1.การอบรมแพทย์ของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ ที่ดูแลหอผู้ป่วยจิตเวช โดยเน้นโรงพยาบาล ที่ยังขาดแคลนจิตแพทย์ จำนวน 4 รุ่น รวม 200 คน เริ่มเดือนมิถุนายน 2.การอบรมพยาบาลสุขภาพจิต และจิตเวชประจำหอผู้ป่วย จำนวน 250 คน และ 3.การอบรมพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชฉุกเฉิน สำหรับโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 650 คน ในศูนย์ฝึกอบรม 5 แห่ง ได้แก่ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา,โรงพยาบาลสวนปรุง,โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์,โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ และโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573 และ 3.5 เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิดรวมถึงการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิด

เข้าถึงได้ที่ :  สธ.เร่งขยายบริการผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดใน รพศ./ รพท.ครบทุกจังหวัด – The reporters

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น