ILO และ IUCN ลงนาม MOU เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญและการพึ่งพากันระหว่างงานและธรรมชาติ

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ฉบับใหม่ เพื่อสร้างความตระหนักถึงการพึ่งพาอาศัยกันระหว่าง ‘งาน’ และ ‘ธรรมชาติ’ เมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา

MOU ระหว่างสองหน่วยงานนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุน “Green Works” อย่างเป็นทางการ ซึ่งแนวทางการสร้างงานที่มีคุณค่าเพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น งานด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การชลประทาน เป็นต้น

นอกจากนี้ MOU ฉบับนี้ยังเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของ “Nature-based Solutions” (NbS) หรือการแก้ปัญหาที่ใช้ธรรมชาติเป็นฐานเพื่อจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน เช่น การเปลี่ยนมาทำการเกษตรรูปแบบยั่งยืนมากขึ้น เช่น การทำวนเกษตร ที่จะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ หรือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองเพื่อลดอุณหภูมิร้อนจัด

ILO ระบุว่า งานบนโลกมากถึง 1.2 พันล้านตำแหน่ง พึ่งพาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและบริการทางระบบนิเวศ ทั้งการผลิตอาหารและน้ำ หรือการควบคุมระบบภูมิอากาศให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ และเมื่อระบบนิเวศทางธรรมชาติเสื่อมโทรมลงจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่องานบางาส่วน แต่ก็ทำให้มีงานด้านการฟื้นฟูเพิ่มขึ้นมากมายในเวลาเดียวกัน

แนวโน้มตัวเลือกการทำงานจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐานและมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะสามารถช่วยพัฒนาทั้งมิติด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วยการสร้างงานสร้างรายได้ ลดความยากจน และพัฒนามิติด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการฟื้นฟูธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพไปพร้อมกัน

Green Work หมายถึง การพัฒนาที่เน้นการจ้างงานด้านการฟื้นฟูและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ สินทรัพย์ชุมชน พื้นที่และภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ธรรมชาติ
ตัวอย่าง Green Work ได้แก่ การอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกป่าและการปลูกป่า การชลประทาน และการป้องกันน้ำท่วม

ในขณะที่ Green Job หมายถึง งานที่มีคุณค่าซึ่งมีส่วนในการรักษาหรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม งานเหล่านี้อาจอยู่ในภาคเศรษฐกิจเดิม เช่น การผลิตและการก่อสร้าง หรือในภาคส่วนเศรษฐกิจสีเขียวที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น งานด้านพลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มาของนิยาม – เอกสาร Creating decent jobs through investments: Promoting forest restoration, irrigation, soil and water conservation, and flood protection โดย ILO

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
- (2.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดาเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาคุณภาพของดินและที่ดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี 2573
#SDG6 น้ำสะอาดและสุขาภิบาล
- (6.4) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และลดจำนวนประชากรที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ภายในปี 2573
- (6.6) ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ รวมถึงภูเขา ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ชั้นหินอุ้มน้ำ และทะเลสาบ ภายในปี 2563
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
- (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะแยกการเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงาน 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
- (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขาและพื้นที่แห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
- (15.3) ต่อต้านการกลายสภาพเป็นทะเลทราย ฟื้นฟูที่ดินและดินที่เสื่อมโทรม รวมถึงที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากการกลายสภาพเป็นทะเลทราย ภัยแล้ง และอุทกภัย และพยายามที่จะบรรลุถึงความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดิน ภายในปี 2573
- (15.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศเหล่านั้น เพื่อเพิ่มพูนขีดความสามารถของระบบนิเวศในการสร้างผลประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573

ที่มา : ILO and IUCN sign an agreement to harness the interdependence between jobs and nature (ILO)

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น