Fed to Fail? เมื่อ 10 ที่ผ่านมาโลกยังทำให้ 2 ใน 3 ของเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีไม่พ้นไปจากภาวะทุพโภชนาการ

อาหารที่มีโภชนาการที่ดีเป็นปัจจัยหลักในการส่งเสริมพัฒนาการตั้งแต่เด็กยังเล็ก ทว่า 2 ใน 3 ของเด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปีใน 91 ประเทศ กลับไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโต กล่าวได้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ สถานการณ์อาหารและโภชนาการที่ดีสำหรับเด็กไม่ได้ดีขึ้น ทั้งความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้ง ภัยพิบัติที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ และภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ รวมถึงการระบาดของโควิด-19 ได้ประกอบกันเป็นตัวกระตุ้นให้วิกฤติอาหารและโภชนาการเกิดขึ้น มีอยู่ต่อไป และร้ายแรงขึ้น

รายงาน Fed to Fail? โดยกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ได้สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดในระดับภูมิภาคและครัวเรือนในแต่ละประเทศ อุปสรรคเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว ตลอดจนให้ 10 คำแนะนำที่ผู้กำหนดนโยบายสามารถนำไปปรับปรุงและลงมือทำได้

ทั้งที่มีข้อมูลชี้ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุดต่อภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบทั้งภาวะผอม ภาวะเตี้ยแคระแกร็น หรือภาวะน้ำหนักเกิน แต่จากการประเมินของ UNICEF ปัจจุบัน พบว่า เด็กทั่วโลกที่อายุน้อยกว่า 2 ปีกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในภาวะผอม (ภาวะผอมหรือ Wasting ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องไม่เกินร้อยละ 5) คิดเป็นราว 23 ล้านคน ส่วนภาวะเตี้ยแคระแกร็น (Stunting) ในเด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปีก็มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้รับสารอาหารไม่ตรงตามกับความต้องการของช่วงวัยการเจริญเติบโต

โดยส่วนใหญ่แล้ว เด็กที่ประสบกับปัญหาการได้รับโภชนาการอาหารที่ไม่ดี มักอาศัยอยู่ในชนบทหรือมาจากครัวเรือนที่ยากจนเมื่อเทียบกับครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในเมืองและมีฐานะทางการเงินดีกว่า

นอกจากนี้ รูปแบบที่ส่งต่อวิกฤติโภชนาการเช่นนี้ได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลาร่วมทศวรรษ โดยไม่สามารถเข้าถึงอาหารจำพวกผัก ผลไม้ ไข่ ปลา และเนื้อสัตว์ที่อุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญได้อย่างเพียงพอ และการที่ไม่ได้รับโภชนาการที่ดีตั้งแต่ในกรอบอายุที่ว่านี้ มีนัยสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กเล็กที่จะเป็นไปในทางที่แย่ลง ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางสมอง การเรียนรู้ ภูมิคุ้มกัน จะทำให้ติดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น ไปจนถึงการเสียชีวิต

ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากโควิด-19 ก็มีทั้งต่อระบบอาหารและการเข้าถึงโภชนาการที่ดีด้วย สาเหตุหนึ่งมาจากการต้องจำกัดการใช้จ่ายในช่วงวิกฤติ

ท้ายที่สุด Fed to Fail? ยังได้ให้คำแนะนำ 10 ข้อที่จะนำไปสู่การลงมือทำและปรับปรุงสถานการณ์เช่นที่เป็นอยู่ โดยครอบคลุมทั้งมิติระบบอาหาร ระบบสุขภาพ ระบบการให้ความคุ้มครองทางสังคม และธรรมาภิบาลที่ครอบคลุมหลายมิติ สรุปได้ ดังนี้

  • ระบบอาหาร –เน้นย้ำให้มีอาหารที่มีโภชนาการเพิ่มมากขึ้น และมีราคาที่หาซื้อได้ เช่น ผัก ผลไม้ ไข่ ปลา และเนื้อสัตว์ เป็นต้น ต้องมีการบังคับใช้กฎระเบียบระดับชาติที่ให้ความคุ้มครองเด็กเล็กจากอาหารที่ผ่านกระบวนการหรืออาหารที่แปรรูปมากเป็นพิเศษ (ultraprocessed foods) ที่การตลาดมักจะพุ่งเป้ามาที่เด็กเล็ก รวมถึงต้องมีการสื่อสารที่หลากหลายเพื่อสร้างการตระหนักรู้ เข้าใจ และต้องการบริโภคอาหารที่มีโภชนาการที่ดี
  • ระบบสุขภาพ ให้มีบริการในชุมชนว่าด้วยการให้คำปรึกษาและการสนับสนุนในการเลี้ยงดูเด็กเล็กด้วยอาหารที่มีโภชนาการที่ดี เพื่อให้ผู้ปกครอง/ผู้ดูแลเข้าถึงบริการดังกล่าวได้ และจะต้องมีบริการให้อาหารเสริมที่จำเป็นกับครัวเรือนที่เด็กเล็กเสี่ยงต่อภาวะการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ โลหิตจาง และภาวะการพัฒนาและเจริญเติบโตล้มเหลว
  • ระบบการให้ความคุ้มครองทางสังคม –ออกแบบระบบการส่งต่อในสังคมไม่ว่าจะเป็นเงินสด อาหาร และบัตรกำนัล เพื่อให้การสนับสนุนด้านอาหารและโภชนาการ ทั้งยามปกติและยามวิกฤติ โดยโครงการ/มาตรการให้ความคุ้มครองในสังคมจะต้องให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครอง/ผู้ดูแลรู้และสามารถเข้าถึงช่องทางการให้คำปรึกษาและบริการได้
  • ธรรมาภิบาลที่ครอบคลุมหลายมิติ –ตั้งประเด็นนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ คำนึงถึงความสอดคล้องเชิงนโยบายและกฎหมายครอบคลุมทุกภาคส่วน ตั้งเป้าหมายและกระบวนการติดตามความก้าวหน้าในระดับภาคส่วนและครัวเรือน ตลอดจนทำการศึกษาวิจัยในบริบทเฉพาะเพื่อให้ทราบปัญหาและอุปสรรค และแนวทางแก้ไข

● อ่าน SDG Vocab ที่เกี่ยวข้อง
SDG Vocab | 04 – Food Security – ความมั่นคงทางอาหาร
SDG Vocab | 05 – Malnutrition – ภาวะทุพโภชนาการ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ยุติความหิวโหย ความมั่นคงทางอาหาร โภชนาการที่ดี เกษตรกรรมที่ยั่งยืน
-(2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มที่ประสบปัญหาความยากจนและเปราะบาง ทั้งผู้ใหญ่และเด็กทารก เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย อุดมไปด้วยสารอาหาร และเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
-(2.2) ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบและแก้ไขปัญหาภาวะการขาดสารอาหารของหญิงวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ภายในปี 2573 รวมถึงบรรลุเป้าหมายที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะแคระแกร็นและผอมแห้งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ภายในปี 2568
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
-(3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลง 1 ใน 3 ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
Fed to Fail? The crisis of children’s diets in early life (UNICEF)
No improvement in young children’s diets over past decade: UNICEF (UN)

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น