อาเซียนออกพิมพ์เขียวส่งเสริมเศรษฐกิจใส่ใจ ไขปัญหางานดูแลและงานในบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้างด้วย 4 เสาหลัก

ความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศในการแบ่งภาระหน้าที่และการกระจายงานดูแล (care work) และงานภายในบ้าน (domestic work) ยังคงเป็นความท้าทายสำหรับภูมิภาคอาเซียน โดยในช่วงการระบาดของโรค ยิ่งเผยให้เห็นความเปราะบางของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงกับการดูแลและทำงานในบ้านโดย ‘ไม่ได้รับค่าจ้าง’ เป็นอุปสรรคขวางการเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงเอง

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Economic And Social Commission For Asia And The Pacific – ESCAP) ร่วมกับสมาคมอาเซียน จึงออกรายงาน “Addressing Unpaid Care Work in ASEAN” นำเสนอสถานการณ์ปัจจุบันของงานดูแลและงานภายในบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้างกับประเด็นเพศสภาวะในอาเซียน พร้อมเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาด้วยนโยบายผสมผสานที่คำนึงถึงงานดูแล (care-sensitive policy) โดยมี 4 เสาหลักของการพัฒนาในการส่งเสริมเศรษฐกิจใส่ใจ (care economy)

รายงานนี้เผยแพร่คู่ขนานไปกับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสตรีครั้งที่ 4 (Fourth ASEAN Ministerial Meeting on Women) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยถือเป็นพิมพ์เขียว (Blueprint) ของการส่งเสริม “เศรษฐกิจใส่ใจ” ในประเทศอาเซียน และเป็นการกำหนดนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมใน 4 เสาหลัก ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานของการดูแล (care infrastructure) การคุ้มครองสังคมที่เกี่ยวกับการดูแล (care-related social protection) การให้บริการการดูแล (care services) และนโยบายที่เกี่ยวกับการจ้างงาน (employment-related policies)

โดยรายงานได้สำรวจเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคม การเมือง กฎหมาย และสถาบันของแต่ละประเทศในอาเซียน เพื่อหาช่องทางจัดการกับปัจจัยที่ทำให้งานดูแลและงานภายในบ้านของผู้หญิงเป็นงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง โดยมีข้อมูลที่พบว่ามีความแตกต่างของผู้หญิงในแต่ละพื้นที่ด้วย กล่าวคือ เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ผู้หญิงที่อยู่ในพื้นที่ชนบทและผู้หญิงที่เป็นแรงงานข้ามชาติเผชิญกับความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงที่อยู่ในพื้นที่เมือง เพราะไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของการใส่ใจและการให้บริการการใส่ใจได้อย่างเท่าเทียม การได้ค่าจ้างต่ำ และการไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม

ทั้งนี้ การแบ่งภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในงานดูแลมีสัดส่วนที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ และจำเป็นจะต้องจัดการในเชิงนโยบาย

“อาเซียนจะยังคงใช้ประโยชน์จากความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพื่อจัดการกับต้นเหตุของการกระจายภาระงานดูแลและการทํางานภายในบ้านที่ไม่เท่าเทียมกัน (ระหว่างเพศ)… ซึ่งเป็นบรรทัดฐานทางเพศที่ฝังรากในอาเซียน…” – Ekkaphab Phanthavong รองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เข้ารับตำแหน่งล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564

รายงานเสนอว่า นโยบายด้านเพศสภาวะทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาค ควรจะมีมิติของ “การคำนึงถึงงานดูแล” (care-sensitive) เพื่อส่งเสริมให้การ build back better เป็นไปอย่างเท่าเทียมระหว่างเพศด้วย โดยลดหรือกระจายงานดูแลและงานภายในบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้างของแต่ละครัวเรือน ด้วยการพัฒนา 4 เสาหลักดังกล่าว เพื่อช่วยลด ‘เวลา’ การทำงานดูแลและงานภายในบ้านในแต่ละวัน

ตัวอย่างมีอาทิ

  • โครงสร้างพื้นฐานของการดูแล – การปรับปรุงด้านน้ำ สุขอนามัย และสุขาภิบาล ด้านพลังงาน ด้านการขนส่ง ด้านอาหาร ด้านการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วย ผู้พิการ และหญิงตั้งครรภ์
  • การคุ้มครองสังคมที่เกี่ยวกับการดูแล – การโอนเงิน เงินสำหรับงานดูแล บัตรกำนัล ผลประโยชน์ทางภาษี แผนเงินบำนาญ
  • การให้บริการการดูแล – การดูแลเด็ก การดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้พิการ การดูแลผู้ป่วย
  • นโยบายที่เกี่ยวกับการจ้างงาน – การลา การพัก การทำงานแบบมีเวลายืดหยุ่น สิทธิประโยชน์สำหรับมารดา

Armida Salsiah Alisjahbana รองเลขาธิการสหประชาชาติ และเลขาธิการบริหาร ESCAP ระบุว่า การจัดทำนโยบายที่ผสมผสานจะช่วยให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายสามารถหาจุดร่วมของการใช้เวลาในที่ทำงานและเวลาทำงานบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้าง รวมถึงเวลาของการที่ผู้ปกครองสามารถลาเพื่อดูแลบุตร (parental leave) การลาเพื่อทำงานดูแล (care leave) นโยบายการประกันการดูแล และการวางแผนการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อช่วยเสริมพลังอำนาจ – เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้หญิง และช่วยให้ผู้หญิงมีโอกาสที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับเศรษฐกิจอย่างแข็งขันมากขึ้น

● อ่าน SDG Vocab ที่เกี่ยวข้อง
SDG Vocab | 14 – Unpaid Care Work – งานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้าง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศและการเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิงและเด็ก
-(5.4) ยอมรับและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดเตรียมบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคมให้และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัว ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
-(8.5) ส่งเสริมการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับหญิงและชายทุกคน และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน
-(8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคง
#SDG10 การลดความเหลื่อมล้ำ
-(10.3) สร้างหลักประกันว่าทุกคนจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาค รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และการเลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการกระทำที่เหมาะสมในเรื่องนี้
-(10.4) เลือกใช้นโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคม และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แหล่งที่มา:
ASEAN reaffirms commitment to address women’s unpaid care and domestic work during launch of new UN-ASEAN report (UN ESCAP)
Addressing Unpaid Care Work In ASEAN (UN ESCAP)

Last Updated on ตุลาคม 22, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น