SDG Updates | ใครบ้างที่มีบทบาทในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน? : สำรวจข้อมูลการใช้พลังงานและผู้มีอำนาจในการเลือกใช้พลังงานของไทย (EP.7)

วิชญ์พาส พิมพ์อักษร

จากบทความ ไทยอยู่จุดไหนในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน? : สำรวจข้อมูลการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทย ที่ได้สำรวจภาพรวมพัฒนาการและสถานการณ์ของการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทยในหลายๆ ด้าน โดยบทความฉบับนี้ จะช่วยฉายภาพเพิ่มเติมของผู้เล่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตและใช้พลังงาน รวมถึงบทบาทของตัวแสดงสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทย

ฟังในรูปแบบบทความเสียง

การใช้พลังงานในประเทศไทยทั้งหมดโดยแยกตามประเภทของพลังงาน

จากข้อมูลของ IEA หรือองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) พบว่าในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยใช้พลังงานจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมากที่สุด เป็นสัดส่วน 53.04% รองลงมาเป็นพลังงานไฟฟ้า 16.22% พลังงานชีวมวล 15.56% พลังงานถ่านหิน 7.64% พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ 6.91% พลังงานจากน้ำมันดิบ 0.63% พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ 0.01%[1] ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 นั้น ประเทศไทยนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศในอัตราส่วนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์อยู่ที่ 68.51% และผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง) 19.31% โรงไฟฟ้าพลังความร้อน (ใช้น้ำมันเตา ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิง) 8.97% โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3.18% โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 0.04% โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ 0.0002% และโรงไฟฟ้าดีเซล 0.0001% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตและนำเข้า[2] ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยจึงใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมากถึง 72.80% พลังงานคาร์บอนต่ำ 16.09% และพลังงานนำเข้าอีก 11.11%


การใช้พลังงานในประเทศไทยทั้งหมดโดยแยกตามกลุ่มทางเศรษฐกิจ

จากแหล่งข้อมูลเดียวกัน พบว่าในปี พ.ศ. 2562 กลุ่มผู้ใช้พลังงานมากที่สุดในประเทศไทยคือภาคอุตสาหกรรมซึ่งใช้พลังงานคิดเป็น 32.81% รองลงมาคือภาคการคมนาคมและการขนส่งซึ่งใช้ 26.35% ภาคที่อยู่อาศัย 9.29% ภาคการค้าและการบริการสาธารณะอยู่ที่ 4.94% ภาคการเกษตรและการป่าไม้ใช้เพียง 2.90% และมีการใช้พลังงานเพื่อประโยชน์อื่นนอกเหนือจากพลังงาน 23.05% และการใช้พลังงานในภาคอื่น ๆ อีก 0.66%[3]

เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่า กลุ่มต่าง ๆ ใช้พลังงานประเภทใดมากที่สุด และการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอนาคตจะทำได้โดยหน่วยงานหรือบุคคลใด จึงต้องศึกษาอัตราส่วนการใช้พลังงานประเภทต่าง ๆ ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้ ..

01 – การใช้ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมในประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2562 มีการใช้พลังงานจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในภาคการคมนาคมและการขนส่งมากที่สุดอยู่ที่ 42.78% รองลงมาคือการใช้เพื่อประโยชน์อื่นอย่างในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เช่น ใช้เป็นวัสดุหล่อลื่น กันซึม ขัดมัน หรือใช้สังเคราะห์ พลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ ยางสังเคราะห์ และใช้ในการก่อสร้าง[4] คิดเป็น 38.65% ส่วนภาคอุตสาหกรรมใช้พลังงานผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเพียง 8.58% ตามด้วยภาคการเกษตรและการป่าไม้ที่ 5.39% ภาคที่อยู่อาศัย 3.12% และภาคการค้าและการบริการสาธารณะที่ 1.49%[5]

02 – การใช้ถ่านหินในประเทศไทย

พลังงานถ่านหินเป็นพลังงานฟอสซิลอีกชนิดหนึ่งซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ทั้งหมด 100% โดยมีการใช้ถ่านหินเพื่อประโยชน์อื่นที่ไม่ใช่พลังงานเพียงเล็กน้อย[6] เช่น นำมาทำเป็นถ่านกัมมันต์ (activated carbon) ซึ่งใช้เป็นสารดูดซับกลิ่นและดักจับสารเคมีในเครื่องกรองน้ำ เครื่องกรองอากาศ เครื่องใช้ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หรือนำมาทำคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบาแต่แรงเหมาะสำหรับการผลิตอุปกรณ์กีฬา เช่น ด้ามไม้กอล์ฟ ไม้แบดมินตัน และไม้เทนนิส[7]

03 – การใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย

พลังงานฟอสซิลประเภทสุดท้าย คือ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 ภาคอุตสาหกรรมใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติมากที่สุดอยู่ที่ 49.97% รองลงมาคือ การใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อประโยชน์อื่นนอกจากพลังงาน เพราะก๊าซธรรมชาติประกอบด้วยก๊าซหลายชนิด เช่น ก๊าซโซลีนธรรมชาติ (Natural Gasoline (NGL), C5H12) ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมสีแลกเกอร์ ทินเนอร์ และอุตสาหกรรมยาง ก๊าซโพรเพน (Propane, C3H8) ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในการผลิตเม็ดพลาสติก และใช้เป็นวัตถุดิบผลิตยางสังเคราะห์ แผ่นฟิล์ม ถุงร้อนใส่อาหาร กระสอบ ฯลฯ ก๊าซอีเทน (Ethane, C2H6) ใช้ผลิตเอทิลีน (Ethylene) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติก และใช้ผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอทานอล ซึ่งใช้ในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมเคมีอื่น ๆ และก๊าซมีเทน (Methane, CH4) ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของก๊าซธรรมชาติที่นอกจากจะใช้เป็นเชื้อเพลิงยังใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยเคมี เมทิลแอลกอฮอล์ หรือแอมโมเนียมด้วย[8] ซึ่งทั้งหมดนี้คิดเป็น 27.89% ของการใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งหมดในประเทศไทย ตามด้วยการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคการคมนาคมและการขนส่งที่ 22.13% และการใช้ในภาคการค้าและการบริการสาธารณะเล็กน้อยเพียง 0.02% และจากสถิติการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยที่จัดทำโดย IEA นี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจ คือ เพิ่งเริ่มมีการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคการค้าและการบริการสาธารณะในช่วงประมาณ 10 ปีที่แล้วนี้เอง ส่วนการใช้เพื่อประโยชน์อื่นที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงก็เพิ่งมีในปี พ.ศ. 2546 และขึ้นไปสูงสุดที่ พ.ศ. 2557 อย่างรวดเร็วในระดับเดียวกับการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรมและภาคการคมนาคมและการขนส่งที่ 32.20 – 34.43% ในทำนองเดียวกับการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคการคมนาคมและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี พ.ศ. 2549-2557 แล้วจึงลดลงอย่างต่อเนื่อง[9] ความเปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องกับการใช้พลังงานจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในภาคการคมนาคมและการขนส่งอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2547-2557 การใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในภาคการคมนาคมและการขนส่งแทบจะอยู่ในระดับคงที่ ต่างจากช่วงเวลาก่อน พ.ศ. 2547 และหลัง พ.ศ. 2557 ที่การใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในภาคการคมนาคมและการขนส่งเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างเห็นได้ชัดและต่อเนื่อง[10] ข้อมูลนี้ทำให้เห็นว่า นโยบายภาครัฐเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานทำให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมได้

04 – การใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย

พลังงานไฟฟ้าถือเป็นพลังงานสำเร็จรูปที่มีการใช้เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2562 มีการใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุดในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 44.57% รองลงมาคือภาคการค้าและการบริการสาธารณะที่ 25.54% พอ ๆ กับภาคที่อยู่อาศัยที่ 25.47% และมีการใช้พลังงานไฟฟ้าในภาคการเกษตรและการป่าไม้เพียง 0.24% และในภาคการคมนาคมและการขนส่งอีก 0.11% ซึ่งน้อยกว่าการใช้ไฟฟ้าในภาคอื่น ๆ ที่ 4.06%[11] จากข้อมูลนี้ทำให้เห็นว่าความพยายามในการเปลี่ยนผ่านพลังงานในภาคการคมนาคมและการขนส่งจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาสู่พลังงานไฟฟ้ายังเป็นเส้นทางที่ยาวไกล และต้องไม่ลืมว่าพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ใช้ในประเทศไทยเป็นพลังงานไฟฟ้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตเองในประเทศก็มาจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลคิดเป็น 12 เท่าของพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียน[12]

05 – การใช้พลังงานชีวมวลในประเทศไทย

ประเทศไทยมีความพยายามที่จะเพิ่มอัตราส่วนการใช้พลังงานชีวมวลมาเป็นเวลานาน อย่างน้อยตั้งแต่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539)[13] แต่การใช้พลังงานชีวมวลในปัจจุบันมีเพียงการใช้ในการผลิตไฟฟ้าและในภาคการคมนาคมและการขนส่งเพียงเล็กน้อย โดยจากข้อมูลของ IEA พบว่า ภาคการคมนาคมและการขนส่งมีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน แต่อัตราส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพิ่งขึ้นเป็น 0.1% ในปี พ.ศ. 2556 และยังคงเป็น 0.1% อยู่[14]


กลุ่มเศรษฐกิจที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า กลุ่มเศรษฐกิจที่ใช้พลังงานมากที่สุด คือ ภาคอุตสาหกรรม และเป็นการใช้พลังงานมากที่สุดในประเภทพลังงานเกือบทุกชนิด เช่น พลังงานถ่านหิน พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ และพลังงานไฟฟ้า โดยมีการใช้พลังงานจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอีกจำนวนหนึ่ง ในขณะที่ภาคการคมนาคมและการขนส่งใช้พลังงานจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมากที่สุด รองลงมาคือพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ และมีการใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพร่วมด้วยเล็กน้อย ส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติเพื่อประโยชน์อื่นนอกจากพลังงาน แม้จะเป็นการใช้ในปริมาณที่สูงมากในระดับเดียวกันกับที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคการคมนาคมและการขนส่งแต่การใช้ประโยชน์ดังกล่าวอยู่นอกขอบเขตของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน กลุ่มที่สามที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน คือ ภาคที่อยู่อาศัยและภาคการค้าและการบริการสาธารณะซึ่งพลังงานหลักที่สองกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้ คือ พลังงานไฟฟ้า


ผู้เล่นที่จะมีบทบาทในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

จากข้อมูลข้างต้นที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีการใช้พลังงานมากที่สุดในประเทศ และพลังงานที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ในการกำกับและดูแลโรงงาน มาตรา 32 (2) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ได้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดชนิด คุณภาพ อัตราส่วนของวัตถุดิบ แหล่งกำเนิดของวัตถุดิบและหรือปัจจัยหรือชนิดของพลังงานที่จะนำมาใช้หรือผลิตในโรงงาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศหรือของสาธารณชน[15]

  • คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

นอกจากการกำหนดปัจจัยหรือชนิดของพลังงานซึ่งเป็นมาตรการบังคับ อีกหนทางหนึ่งที่จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานในภาคอุตสาหกรรมคือมาตรการส่งเสริมการลงทุน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 กำหนดเพียงว่า “โครงการลงทุนที่คณะกรรมการจะให้การส่งเสริมได้ต้องเป็นโครงการลงทุนที่มีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี” ส่วนเรื่องของสิ่งแวดล้อมมีการบัญญัติไว้ในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ว่า “โครงการลงทุนที่คณะกรรมการจะให้การส่งเสริมได้ต้องเป็นโครงการลงทุนที่มีมาตรการอันสมควรที่จะป้องกันและควบคุมมิให้เกิดผลเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม  ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพของประชาชนและความสมบูรณ์สืบไปของมนุษย์และธรรมชาติ” ซึ่งมีความหมายแค่เพียงว่า โครงการที่จะได้รับการส่งเสริมต้องมีมาตรการป้องกันและควบคุมมิให้เกิดผลเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุกในอันที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น และไม่บัญญัติถึงผลเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมอันอาจเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจากการดำเนินโครงการตามปกติ เช่น การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือการปล่อนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และแม้ว่ามาตรา 20 (7) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน จะให้อำนาจคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนดเงื่อนไขการป้องกันและควบคุมมิให้เกิดผลเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมไว้ในบัตรส่งเสริม แต่การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวก็ยังไม่อาจรวมถึงมาตรการที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานได้[16]

  • องค์กรนิติบัญญัติ

เมื่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการมีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่สามารถส่งเสริมการลงทุนโดยใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับพลังงานได้โดยตรง จึงเห็นได้ว่ากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติจำนวนหนึ่งยังไม่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานเท่าที่ควร

กฎหมายฉบับหนึ่งที่น่าสนใจ คือ พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งได้กำหนดคำนิยามของ “พลังงาน” “พลังงานหมุนเวียน” และ “พลังงานสิ้นเปลือง” ไว้อย่างชัดเจน แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีเพียงบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานในมุมมองอย่างแคบ คือการใช้พลังงานให้น้อยลง[17] โดยไม่มีบทบัญญัติใดที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกใช้พลังงานหรือการเปลี่ยนผ่านพลังงานเลย และคำว่า “พลังงานหมุนเวียน” ก็ปรากฏเพียงแค่ในบทนิยาม 2 ครั้ง เท่านั้น

  • คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่เสนอนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี และกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงานให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ ตามมาตรา 6 (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่กำหนดคำนิยามของ “พลังงาน” “พลังงานหมุนเวียน” และ “พลังงานสิ้นเปลือง” ไว้อย่างชัดเจนตรงกันและเช่นเดียวกันกับ พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535[18] แต่ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับพลังงาน มีเพียงบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเท่านั้น

  • คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน หรือก็คือกำกับดูแลการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ พลังงานหมุนเวียนและพลังงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพในการประกอบกิจการไฟฟ้าและความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ” ตามมาตรา 11 (16) ประกอบกับ (1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติที่ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านพลังงานหลายประการและเป็นกฎหมายตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งแม้แต่คำนิยามของ “พลังงานหมุนเวียน” ก็ยังใช้คำนิยามตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535)[19] แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นการใช้พลังงานเพียงประมาณ 20% ของประเทศไทยเท่านั้น

  • ประชาชน

เมื่อกลไกภาครัฐยังมีข้อจำกัดในการเปลี่ยนผ่านพลังงานอยู่มาก ประชาชนในฐานะผู้บริโภคจึงจำเป้นต้องเปลี่ยนผ่านพลังงานกันเองเท่าที่ทำได้และไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน เช่น การติดแผงโซลาร์เซลล์ การเลือกใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดหรือบางส่วน และการเติมน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ  อย่างไรก็ตาม ความพยายามของประชาชนเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อให้เกิดการเริ่มต้นและการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนบรรลุเป้าหมาย หากรัฐบาลทำได้เพียงขอความร่วมมือแต่กลับสร้างหรือรักษาอุปสรรคและเงื่อนไขที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานทำได้ยากขึ้น การเปลี่ยนผ่านพลังงานก็ไม่มีทางสำเร็จ

SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่ 7 ในชุดข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) สนับสนุนโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย เป็นชุดความรู้ที่มิเพียงแค่นำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนการใช้พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาดในมิติเชิงการลดผลกระทบต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่เน้นไปที่มิติความยั่งยืนอันรวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศสังคม (socio-ecological transition) ที่คำนึงถึงการได้รับความเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และกระทั่งสิทธิของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอื่นที่จะได้รับผลกระทบทั้งระหว่างและหลังการเปลี่ยนแปลงด้วย นอกจากนี้ จะมีการยกบทสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นบริบทปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีลักษณะปัญหาแตกต่างกันอยู่มาก และระหว่างกรณีในประเทศและกรณีระดับภูมิภาคที่มีระดับความซับซ้อนขึ้นไป ตลอดจนบทสัมภาษณ์จากหลากมุมมองผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564

ประเด็น Just Energy Transition ในบทความชิ้นนี้เกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสมัยใหม่ ในด้านหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ และเชื่อถือได้ ภายในปี 2573 (7.1) และการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน (7.2)

เอกสารอ้างอิง

[1] International Energy Agency, “Thailand Energy consumption: Total final consumption (TFC) by source,” URL: https://www.iea.org/countries/thailand.

[2] การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, “การผลิตพลังงานไฟฟ้า,” URL: https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&layout=edit&id=78&Itemid=200 [accessed on 20 October 2021].

[3] International Energy Agency, “Thailand Energy consumption: Total final consumption (TFC) by sector,” URL: https://www.iea.org/countries/thailand.

[4] พรวิวาห์ กึกก้อง, “ผลิตภัณฑ์จาการกลั่นปิโตรเลียม,” URL: https://sites.google.com/site/resourcemanagemen00/phlitphanth-ca-kark-lan-pitorleiym.

[5] International Energy Agency, “Thailand Energy consumption: Oil products final consumption by sector,” URL: https://www.iea.org/countries/thailand.

[6] International Energy Agency, “Thailand Energy consumption: Coal final consumption by sector,” URL: https://www.iea.org/countries/thailand.

[7] กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน, “ถ่านหิน,” URL: https://dmf.go.th/public/list/data/index/menu/630/mainmenu/630/.

[8] https://datacenter.deqp.go.th/knowledgeพล-งงาน/มาร-จ-กประโยชน-ของก-าซธรรมชาต-natural-gas-ก-นเถอะ/

[9] International Energy Agency, “Thailand Energy consumption: Natural gas final consumption by sector,” URL: https://www.iea.org/countries/thailand.

[10] อ้างแล้ว [5]

[11] International Energy Agency, “Thailand Energy consumption: Electricity consumption by sector,” URL: https://www.iea.org/countries/thailand.

[12] อ้างแล้ว [2]

[13] Seksan Papong, Chantana Yuvaniyama, Pongvipa Lohsomboon, and Pomthong Malakul, “Overview of Biomass Utilization in Thailand,” p.9, URL: https://www.aist-riss.jp/old/lca/ci/activity/project/biomass/report/041028_paper/thailand_paper.pdf.

[14] International Energy Agency, “Thailand Energy consumption: Share of biofuels in transport energy consumption,” URL: https://www.iea.org/countries/thailand.

[15] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109/ตอนที่ 44/หน้า 62/9 เมษายน 2535

[16] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 94/ตอนที่ 38/ฉบับพิเศษ หน้า 1/4 พฤษภาคม 2520

[17] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109/ตอนที่ 33/หน้า 1/2 เมษายน 2535

[18] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109/ตอนที่ 9/หน้า 1/12 กุมภาพันธ์ 2535

[19] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124/ตอนที่ 89 ก/หน้า 12/10 ธันวาคม 2550

Last Updated on มีนาคม 10, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น