SDG Updates | สำรวจความท้าทายและนโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมของจีน (EP.9)

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แม้จะเศรษฐกิจของประเทศจีนจะชะลอตัวจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ก็ตาม แต่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของจีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 1.5% ในปี ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในด้านของการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน จะเห็นว่าจีนมีแนวโน้มในการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ดีขึ้น แต่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดของจีนยังคงมีสัดส่วนที่ต่ำกว่า 10% ต่อการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงาน และการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของจีน จึงยังคงเผชิญความท้าทายอีกมาก

ฟังในรูปแบบบทความเสียง

แนวโน้มของการใช้ถ่านหินในจีน 

ปริมาณการใช้ถ่านหินของจีนในปี ค.ศ. 2020 ทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ โดยมีการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินทั้งสิ้น 2,829 ล้านตัน[1] ซึ่งเกิดจากการใช้ถ่านหินที่เพิ่มขึ้นในภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรมในประเทศจีน ผู้นำจีนมีกลยุทธ์หลัก 2 ประการ ในการลดการปล่อยพลังงานจากถ่านหิน ได้แก่ (1) การออกกฎระเบียบเพื่อบังคับให้โรงงานถ่านหินที่มีอยู่ลดการใช้ถ่านหินและเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงานที่ได้จากการใช้ถ่านหิน และ (2) การออกข้อจำกัดเกี่ยวกับกำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน

จีนได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของการผลิตพลังงานจากถ่านหิน เช่น การกำหนดให้โรงงานไฟฟ้าถ่านหินที่มีการผลิตพลังงานอันไม่ได้ตามมาตรฐาน กล่าวคือ มีการใช้ถ่านหินสูงกว่า 310 กรัม ต่อการผลิตพลังงานต่อกิโลวัตต์/ชั่วโมง จะถูกปิดตัวลงภายในปี ค.ศ. 2020[2] ส่งผลให้โรงงานไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานจะทยอยหายไป ด้วยนโยบายเช่นนี้ ในระยะยาวจะทำให้ประสิทธิภาพของการผลิตพลังงานจากถ่านหินดีขึ้น 


แนวโน้มของการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมในจีน 

พลังงานในการผลิตภาคอุตสาหกรรมคิดเป็น 66% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของจีน และคิดเป็น 50% ของการปล่อยมลพิษทั้งหมด[3] การปล่อยมลพิษทางอุตสาหกรรมในปัจจุบันของจีนมีแนวโน้มที่สูงขึ้น เนื่องด้วยการใช้เหล็กและซีเมนต์ การลดกำลังการผลิตเหล็กและคอนกรีตจึงเป็นกุญแจสำคัญในการลดการก่อมลพิษในประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม หลังจากวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ภายในสิ้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 รัฐบาลกลางได้เพิ่มเงินทุนสำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานถึง 12.6% (ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าในปี ค.ศ. 2019 ในช่วงเวลาเดียวกัน)[4] การสนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างทางหลวง ท่าเรือ และสนามบิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะส่งผลเสียต่อการลดมลพิษทางอุตสาหกรรมของจีนในช่วง 1 – 2 ปีนี้


แนวโน้มของการใช้พลังงานหมุนเวียนในจีน (Renewable Energy Trends)

การเติบโตของพลังงานหมุนเวียนได้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการก่อสร้างโครงการพลังงานลมบนฝั่งและนอกชายฝั่งในประเทศจีนได้เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าในปี ค.ศ. 2020 (หากเทียบกับปีก่อนหน้า) ซึ่งถือเป็นการทำสถิติใหม่ในการติดตั้งกำลังการผลิตได้ถึง 71.67 กิกะวัตต์[5] เช่นเดียวกับพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเช่นกัน ด้วยการติดตั้ง 48.2 กิกะวัตต์ในปี ค.ศ. 2020[6] ในสิ้นปี ค.ศ. 2020 ประเทศจีนมีการติดตั้งกำลังการผลิตพลังงานลมทั้งหมด 281.5 กิโลวัตต์ และติดตั้งกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด 253.4 กิกะวัตต์[7]

ภาพรวมในแนวโน้มการเติบโตของพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลในจีนเป็นไปในเชิงบวก ในปี ค.ศ. 2020 พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์รวมกันในจีนคิดเป็น 9.5% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้น 8.6% ในปี ค.ศ. 2019[8] อย่างไรก็ตาม จีนจะต้องเพิ่มตัวเลขเหล่านี้อย่างมากเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางของคาร์บอน


เป้าหมายด้านพลังงานในระยะสั้นและระยะยาวของจีน

จีนสามารถบรรลุเป้าหมายส่วนใหญ่ที่กำหนดไว้ในแผนห้าปี (Five Year Plan หรือ FYP 2016 – 2020) ฉบับที่ 13 ได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด โดยจีนสามารถเพิ่มส่วนแบ่งของเชื้อเพลิงที่ไม่ใช่ฟอสซิล (พลังงานหมุนเวียนและพลังงานนิวเคลียร์) ได้ 15.9% ภายในปี 2020[9] การผลิตพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังน้ำทั้งหมดถูกผลิตเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในขณะที่กำลังการผลิตพลังงานนิวเคลียร์มีสัดส่วนที่ลดลง 

สำหรับ FYP ฉบับที่ 14 (ค.ศ. 2021-2025) ของรัฐบาลจีนนั้น ได้มีการระบุว่า จีนจะเริ่มปรับตัวเองอย่างช้า ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนในปี ค.ศ. 2060 ในขณะที่ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นรากฐานของความมั่นคงด้านพลังงานในระยะสั้นและกลาง นอกจากนั้น แผนฉบับใหม่ยังไม่มีการประกาศเป้าหมายการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในระยะ 5 ปี และไม่มีการกำหนดเป้​​าหมายเพื่อจำกัดการใช้พลังงานทั้งหมด (ซึ่งต่างกับแผนพัฒนาในปีก่อน ๆ) ซึ่งหากไม่มีเป้าหมาย GDP ห้าปีหรือขีดจำกัดการปล่อยมลพิษทั้งหมด ก็เป็นการยากที่จะกำหนดว่าจีนจะสามารถปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้นมากเพียงใดในช่วงห้าปีข้างหน้า

เนื่องจากเหตุผลเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้ากว่าที่คาดไว้ ใน FYP ฉบับใหม่จึงไม่ได้แสดงถึงความทะเยอทะยานในการลดระดับความเข้มข้นของคาร์บอนและความเข้มข้นของพลังงานอย่างชัดเจน โดยเป้าหมายในการลดระดับความเข้มข้นของคาร์บอนอยู่ที่ 18% (เช่นเดียวกับเป้าหมายสำหรับปีก่อนหน้า) และเป้าหมายในการลดระดับความเข้มข้นของพลังงานอยู่ที่ 13.5% (น้อยกว่าเป้าหมายในปีก่อนหน้า ซึ่งตั้งไว้ 15%) ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับการวิเคราะห์แบบจำลองล่าสุดซึ่งแนะนำว่าสำหรับสถานการณ์สภาพภูมิอากาศที่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส กล่าวคือ ความเข้มของพลังงานจะต้องลดลง 14% หรือ 15% และความเข้มของคาร์บอนจะต้องลดลง 19% หรือ 20% ในช่วงของ FYP ฉบับที่ 14 ภายใต้สถานการณ์สภาพภูมิอากาศ 1.5 องศาเซลเซียส[10] (แบบวิเคราะห์จากสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืนของมหาวิทยาลัย Tsinghua) 

สำหรับเป้าหมายในการใช้พลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลถูกกำหนดอยู่ที่ 20% ภายในปี 2025 (ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มก่อนหน้า) และสำหรับเป้าหมายด้านการใช้พลังงานจากถ่านหิน แม้จะไม่ได้มีการกำหนดในเป้าหมาย FYP ฉบับที่ 14 อย่างชัดเจน แต่สมาคมถ่านหินแห่งชาติจีนได้ประกาศเป้าหมายการใช้ถ่านหินในปี ค.ศ. 2025 อยู่ที่ 4.2 พันล้านตัน

นอกจากนั้น FYP ฉบับที่ 14 นี้ ได้มีการกำหนดทั้งการควบคุมการใช้พลังงานทั้งหมด การควบคุมการปล่อยมลพิษ โครงการที่ใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก การส่งเสริมพลังน้ำและพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนพลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะ และการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมแห่งชาติในสาขายุทธศาสตร์ รวมทั้งพลังงานใหม่

เมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 2020 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่าจีนตั้งเป้าที่จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้สูงสุด (peak emission) ก่อนปี ค.ศ. 2030 และบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอน (carbon neutrality) ก่อนปี ค.ศ. 2060 การประกาศดังกล่าวทำให้จีนเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (low-carbon economy) อย่างไรก็ตาม มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเป้าหมายด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนของจีนจากการยังคงลงทุนในถ่านหิน ดังนี้

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังได้กล่าวในการประชุม UN Climate Ambition Summit เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 2020  สำหรับเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศภายในปี ค.ศ. 2030 อันประกอบไปด้วยเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่ (1) การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของจีนต่อหน่วยของ GDP จะลดลงมากกว่า 65 % เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2005 (2) พลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลจะมีสัดส่วนประมาณ 25 % ของการใช้พลังงานขั้นต้น และ (3) กำลังการผลิตติดตั้งรวมของพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์จะสูงถึง 1,200 กิกะวัตต์[11]


ความท้าทายของจีนในเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

จีนมีความท้าทายสำคัญใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น 2) การลดการลงทุนสำหรับโครงการถ่านหินในต่างประเทศ และ 3) การเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นกลางของคาร์บอนในระยะยาว

สำหรับในระยะสั้นนั้น การใช้ถ่านหินที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายในประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจของจีนจะส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับเป้าหมายความเป็นกลางของคาร์บอนที่รัฐบาลจีนระบุไว้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องตั้งเป้าหมายในระยะสั้นที่เด็ดขาดและชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าจีนจะเข้าสู่เส้นทางคาร์บอนต่ำก่อนช่วงกลางศตวรรษได้จริง

การพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินถือเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดของการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของจีน ที่ผ่านมา เพื่อให้มีพลังงานเพียงพอ รัฐบาลจีนมีการผ่อนคลายข้อจำกัดของการสร้างพลังงานจากถ่านหิน และยังสร้างข้อยกเว้นต่อการปิดโรงงานถ่านหิน ทำให้โรงงานดังกล่าวยังสามารถดำเนินการได้ต่อไป เช่น ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2017 จีนมีนโยบายในการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่าและแทนที่ถ่านหินด้วยก๊าซสำหรับครัวเรือนมากกว่า 3 ล้านครัวเรือน นโยบายดังกล่าวส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติครั้งใหญ่ และทำให้ประชาชนขาดแคลนเครื่องทำความร้อนในฤดูหนาว ส่งผลให้ห้รัฐบาลหันกลับไปใช้วิธีการให้ความร้อนแบบใช้ถ่านหินดังเดิม

ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2020 คณะกรรมการกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้สรุป “หลักประกัน 6 ประการ” สำหรับการบรรลุเสถียรภาพทางเศรษฐกิจพร้อมความมั่นคงด้านพลังงาน แผนดังกล่าวยกระดับความมั่นคงในการจัดหาพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ได้คำนึงถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือการเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งส่วนหนึ่งในการดำเนินการตามแผนหลักประกัน 6 ประการได้รวมไปถึงการจัดหาถ่านหินเพื่อสร้างพลังงานด้วย

ความท้าทายอีกประการหนึ่งสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดในระยะสั้นของจีน ได้แก่ ปัญหาเรื่องต้นทุนของการผลิตพลังงานสะอาดที่ยังอยู่ในระดับสูง ตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมผลิตซีเมนต์ของจีน เคยมีการคำนวณว่าหากเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดในการผลิตจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นถึง 130% ในประเด็นนี้ รัฐบาลจีนมองว่าการขยายตลาดจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานสะอาด และส่งผลกดให้ต้นทุนพลังงานสะอาดต่ำลงด้วยการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ตัวอย่างเช่น การขยายตลาดรถยนต์พลังงานสะอาดจะมีผลให้ต้องเพิ่มกำลังการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งจะช่วยกดราคาต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ให้ต่ำลง มีการคำนวณว่าหากปริมาณการผลิตแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบันจะสามารถกดให้ต้นทุนลดลงได้ 28% และทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะเท่ากับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในปัจจุบันภายในเวลา 7 ปี[12]

ด้านโครงการการลงทุนในอุตสาหกรรมถ่านหินในต่างประเทศ จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาจีนได้มีโครงการการลงทุนต่างๆ ที่สร้างแรงจูงใจในการพัฒนาพลังงานจากถ่านหินทั่วโลก โดยจีนได้ให้แรงจูงใจทางการเมืองและทางการเงินสำหรับบริษัทและธนาคารของรัฐในจีนเพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานถ่านหินในต่างประเทศ หรือได้ทำการลงทุนโดยการให้เงินทุนแก่โรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพต่ำ ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นนโยบายต่างประเทศสำคัญที่จีนควรดำเนินการแก้ไขและปรับมาแสวงการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์พลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น

สำหรับการเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นกลางของคาร์บอนในระยะยาวนั้น ในปี ค.ศ. 2018 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้ออกรายงานระบุชัดเจนว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจะต้องถึงศูนย์สุทธิภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศและรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้คำมั่นว่าจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก จะยังคงไม่บรรลุความเป็นกลางของคาร์บอนจนกว่าจะครบทศวรรษต่อมาในปี ค.ศ. 2060 ดังนั้น หากเป็นไปได้ จีนอาจต้องหาทางเร่งเป้าหมายให้เร็วขึ้น 10 ปี ไปถึงปี ค.ศ. 2050 ให้ได้ นอกจากนั้น ควรมีการกำหนดกลไกใหม่ในการสร้างพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านนโยบายพลังงานหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพระหว่างผู้นำด้านสภาพอากาศทั้งในจีนและในต่างประเทศ เพื่อประสานงานทางนโยบายและขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้สำเร็จ


โลกกำลังเข้าสู่ทศวรรษที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายด้านสภาพอากาศและพลังงานเป็นสิ่งสำคัญซึ่งจะนำไปสู่วิถีใหม่ที่มีคาร์บอนต่ำ จนสามารถหลีกเลี่ยงมหันตภัยจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าประเทศจีนจะมีความก้าวหน้าอย่างมากในการขจัดคาร์บอน แต่แนวโน้มด้านพลังงานและการปล่อยมลพิษล่าสุดของจีน รวมทั้งเป้าหมายในระยะสั้นที่ยังน่ากังวล แสดงให้เห็นว่าจีนยังคงต้องเผชิญหนทางอีกยาวไกลในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์

SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่ 9 ในชุดข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) สนับสนุนโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย เป็นชุดความรู้ที่มิเพียงแค่นำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนการใช้พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาดในมิติเชิงการลดผลกระทบต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่เน้นไปที่มิติความยั่งยืนอันรวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศสังคม (socio-ecological transition) ที่คำนึงถึงการได้รับความเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และกระทั่งสิทธิของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอื่นที่จะได้รับผลกระทบทั้งระหว่างและหลังการเปลี่ยนแปลงด้วย นอกจากนี้ จะมีการยกบทสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นบริบทปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีลักษณะปัญหาแตกต่างกันอยู่มาก และระหว่างกรณีในประเทศและกรณีระดับภูมิภาคที่มีระดับความซับซ้อนขึ้นไป ตลอดจนบทสัมภาษณ์จากหลากมุมมองผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564

ประเด็น Just Energy Transition ในบทความชิ้นนี้เกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสมัยใหม่ ในด้านการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน (7.2) และการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573 (7.a)
.
ในขณะเดียวกันยังสัมพันธ์กับ #SDG13 การรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในด้านการบูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ (13.2) และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า (13.3)

เอกสารอ้างอิง

[1] People’s Republic of China National Bureau of Statistics, “Zhonghua renmin gongheguo 2020 nian guomin jingji he shehui fazhan tongji gongbao” (“Statistical Communiqué of the People’s Republic of China on the 2020 National Economic and Social Development”), February 28, 2021, available in Chinese at http://www.stats.gov.cn/tjsj/zxfb/202102/t20210227_1814154.html.

[2] People’s Republic of China Ministry of Ecology and Environment, “Mei dian jieneng jian pai shengji yu gaizao xingdong jihua (2014–2020 nian)” (“Coal Power Energy Saving and Emission Reduction Upgrade and Renovation Action Plan (2014-2020)”) (Beijing: 2014), available in Chinese at https://www.mee.gov.cn/gkml/hbb/gwy/201409/W020140925407622627853.pdf.

[3] China National Bureau of Statistics, “2020 China Statistical Yearbook” (Beijing: 2021), available at http://www.stats.gov.cn/tjsj/ndsj/2020/indexch.htm.

[4] China Government Network, “Guowuyuan lianfang lian kong jizhi xinwen fabu hui: Jieshao zhongda touzi xiangmu kaigong fugong youguan qingkuang” (“State Council Joint Prevention and Control Mechanism Press Conference: Introduction to the resumption of work on major investment projects”), March 22, 2020, available in Chinese at http://www.mof.gov.cn/zhuantihuigu/yqfk/xwfbh/202003/t20200322_3486456.htm.

[5] People’s Republic of China National Energy Administration, “Guojia nengyuan ju fabu 2020 nian quanguo dianli gongye tongji shuju” (“National Energy Administration releases 2020 national power industry statistics”).

[6] People’s Republic of China National Energy Administration, “Guojia nengyuan ju fabu 2020 nian quanguo dianli gongye tongji shuju” (“National Energy Administration releases 2020 national power industry statistics”).

[7] People’s Republic of China National Energy Administration, “Guojia nengyuan ju fabu 2020 nian quanguo dianli gongye tongji shuju” (“National Energy Administration releases 2020 national power industry statistics”).

[8] China Electricity Council, “2020 Nian quanguo dianli gongye tongji kuaibao yilanbiao” (“2020 National Electric Power Industry Statistics Express List.”)

[9] People’s Republic of China National People’s Congress, “Guanyu 2020 nian guomin jingji he shehui fazhan jihua zhi hang qingkuang yu 2021 nian guomin jingji he shehui fazhan jihua cao’an de baogao” (“Report on the implementation of the national economic and social development plan in 2020 and the draft national economic and social development plan in 2021”), March 14, 2021, available in Chinese at http://www.npc.gov.cn/npc/kgfb/202103/67763ecd3b3c405bbcd802621b2b6e57.shtml.

[10] HE Jiankun, “PPT fenxiang: Zhongguo di tan fazhan yu zhuanxing lujing yanjiu chengguo jieshao” (“PPT Sharing: Introduction to the Research Results of China’s Low-Carbon Development and Transformation Path”), Tsinghua University Institute of Climate Change and Sustainable Development, October 13, 2020, available in Chinese at https://mp.weixin.qq.com/s/-pCdHrObCBwTrSlzCJsxgQ and in English at https://mp.weixin.qq.com/s/S_8ajdq963YL7X3sRJSWGg.

[11] People’s Republic of China Ministry of Foreign Affairs, “Statement by H.E. Xi Jinping President of the People’s Republic of China At the Climate Ambition Summit Xi CAC Speech,” December 12, 2020, available at https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/t1839779.shtml.

[12] อาร์ม ตั้งนิรันดร. จีน-เมริกา 3D: สำนักพิมพ์ Bookscape, หน้า 153-157.

Last Updated on มีนาคม 10, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น